ผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดมีระยะเวลาในการใช้งานของมัน เครื่องสำอางก็เช่นกัน แต่หลายคนเปิดใช้เครื่องสำอางแล้วก็ทิ้งกล่องผลิตภัณฑ์ไปจนลืมวันหมดอายุ แต่นั่นหมายถึงกรณีที่ยังไม่เปิดใช้เท่านั้น หากเปิดใช้แล้ว เครื่องสำอางแต่ละชนิด ก็มีอายุต่างกัน
กลุ่มเครื่องสำอางที่เป็นของเหลว มักจะมีอายุน้อยกว่าใคร อย่าง อายไลน์เนอร์ หรือ มาสคาร่า นับว่ามีอายุสั้นมากที่สุด มีอายุหลังเปิดใช้ ราว 3-6 เดือน ดังนั้นหากเปิดใช้ไปสักระยะ ราว 3 เดือน ก็ให้พึงสงสัย และตัดใจได้ว่า ทิ้งเสียดีกว่า ซึ่งเครื่องสำอางประเภทนี้ มักไม่มีใครสนใจ บางคนก็พกไว้เป็นปี วันดีคืนนี้ก็หยิบมาใช้ แล้วบ่นว่าระคายเคืองตาเพราะอะไรกันหนอ
มาถึงกลุ่มเครื่องสำอางที่อยู่ได้ราว 1 ปี หลังการเปิดใช้ ประกอบด้วยเครื่องสำอางที่มีลักษณะเนื้อเหลวทั้งหลาย อย่างรองพื้นทุกชนิด โลชั่นบำรุงผิว รวมทั้งลิปกลอสคู่ใจ หากใช้จนลืม พกจนเป็นของคู่กาย (และอาจจะไม่ได้มีชิ้นเดียว) วันดีคืนดีหยิบมาใช้ ก็รู้สึกปากแห้ง คันยิบๆ ซึ่งอาจจะร้ายแรงไปจนถึงอาการปากเปื่อยได้
กลุ่มเครื่องสำอางใจดีอยู่กับเรานานๆ ถึง 2 ปี ก็จะเป็นพวกฝุ่นผงหรือกลุ่มที่มีเนื้อแข็ง เช่น ดินสอเขียนขอบตา , ดินสอเขียนคิ้ว , อายแชโดว์ , แป้งพัฟ , แป้งฝุ่น , บรัชออน แต่เรามักจะมองข้ามไป และมองว่ามันคือเครื่องสำอางที่อยู่ยงคงกระพันอยู่กันยันขูดก้นมาใช้ หากมองตามหลักความจริงแล้วคงเป็นไปไม่ได้ รวมถึง ลิปสติกทั้งแบบแท่งและแบบจุ่มด้วยนะ
ปกติแล้วเครื่องสำอางที่ได้มาตรฐานทั่วไป จะมีอายุ 3-5 ปี หากยังไม่เปิดใช้ แต่หลังจากเปิดใช้ จะสังเกตได้จากตัวย่อข้างกล่อง เช่น เช่น 12 M หมายถึง มีอายุการใช้งาน 12 เดือนหลังจากเปิดใช้ อย่างไรก็ตามยังมีหลายปัจจัยประกอบกัน ทั้งการเก็บรักษา อุณหภูมิ ความชื้น แสง และการสัมผัสโดยตรงกับตัวเนื้อ หากมีปัจจัยเข้าไปรบกวนมากๆ ก็ย่อมทำให้เสื่อมลงง่าย
คนเราไม่ได้มีเครื่องสำอางแค่เพียงชิ้นเดียว บางชิ้นยังใช้ไม่หมด ก็เปิดกล่องใหม่ใช้แล้ว นั่นอาจหมายถึงอันตรายต่อผิวหน้าของคุณ ไม่ใช่แค่ระคายผิวหรือสิวขึ้น แต่อาจหมายรวมถึง โรคผิวหนังเรื้อรัง เยื่อบุตาอักเสบ ปากเปื่อย ฯลฯ ดังนั้นแล้วหากไม่อยากหน้าพัง ก็ต้องหมั่นตรวจสอบ ทั้งการเลือกซื้อเครื่องสำอาง การดูแลรักษา และกะวันหมดอายุของมันด้วย รวมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้แต่งหน้า ก็ต้องเอาออกมาทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอกันด้วย
ทั้งนี้ คู่มือสุขภาพประชาชน โดย สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) ได้แนะนำข้อสังเกตเครื่องสำอางที่ได้มาตรฐาน ไว้ว่า
1.ต้องมีฉลากระบุข้อมูลครบถ้วน ซึ่งประกอบด้วย
ชื่อผลิตภัณฑ์ รูปแบบ ครีม / น้ำใส / โลชั่น
วันเดือนปีที่ผลิต
ส่วนประกอบสำคัญ
สถานที่ของผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายที่ระบุไว้ชัดเจน
- ควรวางจำหน่ายในสถานที่ที่เหมาะสม เพราะสภาพแวดล้อมมีผลต่อความคงตัวของผลิตภัณฑ์
- ควรบรรจุในภาชนะปิดเรียบร้อย อยู่ในสภาพที่เหมาะสม สะดวกต่อการนำมาใช้ ควรเก็บไว้ในที่แห้ง เย็น ไม่ถูกความร้อนหรือแสงแดด
- ควรมีความคงตัว มีคุณสมบัติคงเดิมระหว่างการนำไปใช้ ความข้น หนืด สี กลิ่น ไม่เปลี่ยนแปลงตลอดอายุการใช้งาน
- ควรทดสอบอาการแพ้ก่อนใช้เครื่องสำอางใหม่ทุกครั้ง โดยการทาผลิตภัณฑ์ปริมาณเล็กน้อยลงบนท้องแขน หรือบริเวณติ่งหูแล้วทิ้งไว้ 24-48 ชั่วโมง หากมมีอาการผื่นผิดปกติเกิดขึ้นแสดงว่าสามารถใช้ได้
- หากใช้เครื่องสำอางแล้วมีความผิดปกติเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ครั้งแรก หรือใช้มาแล้วระยะหนึ่งก็ตาม ต้องหยุดใช้ทันที และถ้าหยุดใช้แล้วอาการยังไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกร เพื่อค้นหาสาเหตุและรักษาให้ถูกต้องอย่างเหมาะสม
เครื่องสำอางเก่ามีค่า
ปัจจุบันเครื่องสำอางเก่า สามารถนำไปบริจาคให้กับการแต่งหน้าผู้เสียชีวิตตามโรงพยาบาลต่างๆ หรือใช้สำหรับการทำงานศิลปะของเด็กๆ ซึ่งสามารถค้นหาข้อมูลการรับบริจาคได้ทางเว็บไซต์