ฉีดวัคซีนรักการอ่านให้เด็กเล็ก ชี้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ทำพัฒนาการล่าช้า

27
ภาพโดย StockSnap จาก Pixabay

เด็กไทยพัฒนาการล่าช้า ชูวันแม่ให้แม่ใช้หนังสือเป็นวัคซีนกระตุ้นทักษะ-สติปัญญาลูกรัก ชวน รพ.สต.-อนามัย บ่มเพาะนิสัยรักการอ่าน เตรียมเปิดธนาคารหนังสือเด็กปฐมวัยครั้งแรกในไทย  

นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  กล่าวว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดผลสำรวจการอ่านของประชากรปี 2561 พบคนไทยอ่านหนังสือนานสุด 80 นาทีต่อวัน เทียบกับปี 2556 อ่าน 37 นาที แม้การอ่านเพิ่มขึ้น แต่มีประเด็นที่ไม่ควรละเลย คือ กลุ่มเด็กเล็ก พบว่า พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจเรื่องการอ่านหนังสือของเด็กเล็ก น่าเป็นห่วงทำให้เด็กกลุ่มนี้ราว 1.1 ล้านคน เข้าไม่ถึงการอ่านหนังสือ และไม่ได้รับปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน เพราะความเข้าใจผิดของพ่อแม่ และเด็กเล็กกว่า 1 แสนคนถูกพ่อแม่เลี้ยงดูด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งส่งผลกระทบที่กรมอนามัยระบุว่า พัฒนาการของเด็กล่าช้าสูงขึ้น ร้อยละ 23 โดยเฉพาะกล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา จึงไม่สมควรให้เด็กแรกเกิด-2 ขวบ เข้าถึงสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือให้เด็กเล่นไม่เกิน 60 นาทีต่อวัน

“สมองเด็กเล็กเป็นเครื่องจักรแห่งการเรียนรู้ เด็กเรียนรู้ตั้งแต่ในท้องแม่ แม่ต้องเข้าใจและช่วยกระตุ้นพัฒนาการลูก จึงต้องสร้างแรงจูงใจให้แม่ช่วยเสริมพัฒนาการและสติปัญญา ด้านภาษามีเครื่องมือง่ายที่สุด คือ การอ่านนิทานให้ลูกฟังทุกวัน หนังสือภาพสำหรับเด็กหรือนิทานคุณภาพจะส่งพลังให้เด็กมีพัฒนาการสมวัยมากกว่าบทสนทนาตามธรรมชาติ สามารถเล่าภาพและชี้ตัวหนังสือ เด็กเกิดการจดจำ ถอดรหัสเป็นภาษาอ่านได้ ใกล้วันแม่อยากให้พ่อแม่ใส่ใจการอ่านหนังสือเล่มแรกของลูกรัก เพราะเป็นการวางรากฐานการเรียนรู้ทั้งหมด ระหว่างตั้งครรภ์คุณแม่ซื้อหนังสือภาพ 1 เล่ม ใช้อ่าน 2-3 เดือน อย่างน้อย 10-20 นาทีต่อวัน หลังคลอดนอกจากนมแม่เป็นวัคซีนเกราะป้องกันโรคให้ลูก ต้องฉีดวัคซีนหนังสือเล่มแรก อ่านหนังสือให้ลูกฟังจะช่วยพัฒนาทักษะและสร้างความสัมพันธ์ในสังคมการเรียนรู้ ปรับตัว รู้จักหน้าที่ตนเอง” นางสุดใจ กล่าว

นางสุดใจ กล่าวว่า การอ่านเป็นเครื่องมือและหัวใจของการปฏิรูปการเรียนรู้ การปฏิรูปคน ให้มีปัญญา หากไม่มีปัญญาจะไม่มีโอกาสเข้าถึงสุขภาวะที่ดี สสส. มีความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผลักดันเรื่องส่งเสริมการอ่านให้เข้าถึงในระดับตำบล ตลอดจนทำกิจกรรมรณรงค์กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและศูนย์อนามัยเพื่อสร้างเสริมศักยภาพและสมรรถนะเด็กปฐมวัยด้วยหนังสือภาพ นิทาน และกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน จัดอบรมครูผู้ดูแลเด็ก และบุคลากรสาธารณสุขในศูนย์อนามัย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ให้เข้าใจว่าการอ่านเป็นหน้าต่างแห่งโอกาสในการพัฒนาเด็กปฐมวัย รวมถึงเป็นพลังสำคัญจุดประกายให้แม่อ่านหนังสือให้ลูกฟัง ซื้อหนังสือให้ลูกอ่าน การอ่านหนังสือด้วยกันจะช่วยพัฒนาระบบวิธีคิดของเด็กเมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษา  เติบโต และมีความพร้อมสู่ศตวรรษที่ 21 ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือทุ่มเทให้เด็กได้พัฒนาอย่างเต็มตามศักยภาพ

แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. สนับสนุนการขับเคลื่อนธนาคารหนังสือสำหรับเด็กปฐมวัย แนวคิดหลัก หนังสือ คือ สวัสดิการสำหรับเด็กแรกเกิด เปิดธนาคารหนังสือครั้งแรกของประเทศไทยที่ จ.อุบลราชธานี ในวันที่ 11 สิงหาคมนี้ แต่ละปีมีเด็กเกิดใหม่ที่ จ.อุบลฯ กว่า 20,000 คน และร่วมจัดงานมหกรรมการอ่านแห่งชาติ ครั้งที่ 3 : มหัศจรรย์การอ่านสำหรับเด็กปฐมวัยในภูมิภาค เพื่อจุดประกายการพัฒนาเด็ก ระหว่างวันที่ 10-18 ส.ค. ที่ สุนีย์ทาวเวอร์ ภายในงานมีกิจกรรม อาทิ การจัดแสดงและจำหน่ายหนังสือ การแข่งขันทักษะวิชาการของนักเรียน ตั้งแต่ชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษาตอนปลาย นิทรรศการด้านการอ่าน และประสบการณ์จากคุณแม่ที่เลี้ยงลูกอย่างมีความสุขด้วยหนังสือจากทุกภูมิภาค