เลี่ยงลูกโป่งอัดไฮโดรเจน เตือน! ไวไฟมาก

59

ลูกโป่งเป็นสีสันแห่งความสุขสนุกสนานคู่กับทุกเทศกาล โดยเฉพาะในวันเด็ก ซึ่งจะมีลูกโป่งประดับประดาหรือแจกให้กับหนูๆ ภายในงาน ซึ่งทราบไหมว่า เจ้าตัวแทนความสุขที่ล่องลอยอยู่ในอากาศนี้ อาจสร้างอันตรายให้กับเด็กๆ ได้ นั่นคือ ลูกโป่งอัดไฮโดรเจนซึ่งเป็นแก๊สที่นิยมใช้ในการอัดลูกโป่งให้ลอยได้ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส แต่ไวไฟมาก  

นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวเหตุการณ์ลูกโป่งอัดแก๊สระเบิดในรถ ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการถูกไฟไหม้ตามร่างกายนั้น  จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่ามีการเสียบโทรศัพท์มือถือในรถ และมีลูกโป่งอยู่ภายในรถด้วย ซึ่งอาจเป็นลูกโป่งที่บรรจุด้วยแก๊สไฮโดรเจน (เป็นแก๊สที่ไวต่อประกายไฟ) โดยลูกโป่งอาจจะรั่ว ทำให้กลุ่มแก็สลอยอยู่ภายในห้องโดยสารของรถยนต์ เมื่อดึงสายชาร์จอาจทำให้สปาร์คและเกิดการระเบิดได้

ที่ผ่านมาก็มีเหตุระเบิดจากลูกโป่งอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากแก๊สที่บรรจุเข้าไปในลูกโป่งนั้นคือแก๊สไฮโดรเจน ที่มีความไวไฟสูง ติดไฟง่ายเมื่อกระทบกับความร้อนหรือประกายไฟ ทำให้เกิดการระเบิดได้  สำหรับลูกโป่งที่ขายในประเทศไทยโดยทั่วไป พบบรรจุแก๊สอยู่ 2 ชนิด คือ ไฮโดรเจน และฮีเลียม ความแตกต่างของแก๊ส 2 ชนิดนี้ คือ แก๊สไฮโดรเจนมีความไวไฟสูง ส่วนแก๊สฮีเลียมเป็นแก๊สเฉื่อย ไม่ติดไฟ  แต่หากจำเป็นต้องใช้แก๊สไฮโดรเจน   ควรเพิ่มความระมัดระวังในการบรรจุและมีการติดป้ายเตือนทุกครั้ง  ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ประกาศให้ลูกโป่งบรรจุแก๊สไฮโดรเจนเป็นสินค้าควบคุมฉลาก ผู้จำหน่ายต้องติดคำเตือน “ห้ามนำเข้าใกล้เปลวไฟหรือความร้อน”

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า หากประชาชนจะใช้งานลูกโป่งในสถานที่ซึ่งมีแสงไฟมาก เช่น การจัดตกแต่งงานเลี้ยง งานฉลองต่างๆ  กรมควบคุมโรค ขอแนะนำ 3 วิธีเพื่อลดความเสี่ยงได้รับอันตรายจากลูกโป่งแตก ดังนี้

1.ควรเลือกลูกโป่งที่บรรจุด้วยแก๊สฮีเลียม ถึงแม้จะมีราคาที่แพงกว่าแต่ปลอดภัยกว่าเช่นกัน เนื่องจากเป็นแก๊สเฉื่อย ไม่ติดไฟ และเกิดการรั่วซึมยาก

2.ไม่ควรเก็บลูกโป่งที่อัดแก๊สไว้ภายในรถ ในที่อุณหภูมิสูง กลางแดด  ใกล้หลอดไฟ ใกล้เปลวไฟ หรือความร้อน

3.ไม่ควรนำลูกโป่งมามัดรวมกันหลายลูก อาจทำให้เกิดการเสียดสีและทำให้ระเบิดได้

ในโอกาสนี้ ขอเตือนพ่อแม่ ผู้ปกครองให้ดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ส่วนผู้จัดงาน หากประดับตกแต่งลูกโป่งภายในงานต่างๆ จะต้องจัดวางไว้ให้พ้นจากมือเด็ก ถ้าลูกโป่งแตกควรเก็บเศษไปทิ้งถังขยะทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กหยิบเศษลูกโป่งมาอมหรือกัดเล่น เพราะอาจลื่นเข้าไปในลำคอจนอุดทางเดินหายใจได้  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422