ด่านคุมโรคเข้ม ชูโปรแกรม V-SAN ตรวจสุขาภิบาลยานพาหนะ

45

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคไม่ให้เข้ามาในประเทศไทยอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง พร้อมพัฒนานวัตกรรมโปรแกรม V-SAN ใช้ตรวจสุขาภิบาลยานพาหนะที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ เพิ่มความสะดวกและเร็วขึ้นประมาณ 3 เท่า ทำให้ได้รับรางวัลผลงานคุณภาพ ประจำปี พ.ศ.2561

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้รับรางวัลจากสำนักงาน ก.พ.ร. ประจำปี พ.ศ. 2561 จำนวน 9 รางวัล ซึ่งเป็นรางวัลระดับประเทศ และเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่มอบให้ส่วนราชการ และหนึ่งในนั้นคือ รางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐแห่งชาติ ระดับดี ประเภทพัฒนาการบริการ ชื่อผลงาน “การพัฒนาระบบบันทึกการตรวจสุขาภิบาลยานพาหนะ เพื่อเฝ้าระวังควบคุมโรคติดต่อสำหรับด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ” โดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา ซึ่งโครงการนี้เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนางานเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้เดินทาง

จากสถิติข้อมูลจำนวนยานพาหนะที่ผ่านด่านฯ 4 แห่ง ในระหว่าง วันที่ 1-30 มิถุนายน 2560 ได้แก่ ด่านพรมแดนบ้านประกอบ ด่านพรมแดนสะเดา ด่านพรมแดนปาดังเบซาร์ และด่านพรมแดนสุไหงโกลก รวมจำนวนพาหนะ 48,709 คัน หรือ เฉลี่ยมียานพาหนะเข้าประเทศ 1,623 คันต่อวัน ซึ่งยานพาหนะจำนวนมากทำให้เกิดภาระงานที่มากขึ้น ประกอบกับมีเจ้าหน้าที่ประจำด่านเพียง 2 คนต่อ 1 ด่าน ทำให้ความครอบคลุมในการตรวจยานพาหนะทำได้น้อย อีกทั้งการสรุปรายงานต่างๆยังต้องประมวลผลด้วยมือ อาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดได้

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า เพื่อให้สอดคล้องนโยบายประเทศ 4.0 กรมควบคุมโรค โดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา  จึงหาแนวทางพัฒนานวัตกรรมมาช่วยในการปฎิบัติงาน โดยได้นำโปรแกรม V-SAN เข้ามาใช้เป็นเครื่องมือ   ซึ่งได้มาตรฐาน สะดวก รวดเร็ว รองรับปริมาณของผู้เดินทางและพาหนะที่ผ่านเข้าประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ การจัดการข้อมูล รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ เข้าด้วยกันผ่านระบบออนไลน์ โดยโปรแกรม V-SAN เกิดจากการพัฒนาระบบบันทึกการตรวจสุขาภิบาลยานพาหนะ เพื่อเฝ้าระวังควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ โดยโปรแกรมดังกล่าวสามารถเข้าใช้งานได้ใน 2 รูปแบบ คือ ผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ และผ่านระบบสมาร์ทโฟน หรือ Tablet  สามารถลดขั้นตอนในการกรอกแบบฟอร์มที่เป็นเอกสาร

ด้าน ดร.นพ.สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวเสริมว่า ผลที่ได้จากการนำโปรแกรม V-SAN มาใช้งาน คือ

  1. ระยะเวลาที่ลดลง จากเดิมใช้เวลาในการลงทะเบียนและตรวจสุขาภิบาลยานพาหนะรวมประมาณ 20 นาทีต่อคัน เมื่อนำโปรแกรมดังกล่าวมาใช้ ทำให้ช่วยลดระยะเวลาการดำเนินงานลง เหลือเพียง 5-8 นาทีต่อคันเท่านั้น หรือเร็วขึ้นประมาณ 3 เท่า
  2. ปริมาณยานพาหนะที่ได้รับการตรวจเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากข้อมูลของด่านพรมแดนบ้านประกอบ ระหว่างวันที่ 1-31 ตุลาคม2558 มีจำนวนพาหนะที่ตรวจสุขาภิบาล 113 คัน เฉลี่ยอยู่ที่ 3.65 คันต่อวัน เมื่อนำโปรแกรมดังกล่าวมาใช้ พบว่า เมื่อวันที่ 1-31 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา มีจำนวนพาหนะที่ตรวจสุขาภิบาล 238 คัน ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 7.68 คันต่อวัน หรือสามารถตรวจสุขาภิบาลยานพาหนะได้มากขึ้นถึง 2 เท่า
  3. ประสิทธิภาพของการดำเนินงานที่ดีขึ้น โดยโปรแกรมสามารถบันทึกรูปภาพ บันทึกข้อความ และบ่งชี้สิ่งผิดปกติที่ตรวจพบบนยานพาหนะนั้นได้

นอกจากนี้  ยังพบว่าประชาชนมีความพึงพอใจในการใช้บริการดังกล่าว  เห็นได้จากผลการสำรวจในเดือนมกราคม 2561   ที่ผ่านมา จำนวน 131 ตัวอย่าง จากคะแนนเต็ม 5 พบว่าผู้รับบริการมีความพึงพอใจในภาพรวมเฉลี่ยที่ 4.77 ซึ่งอยู่ในระดับพอใจมากที่สุด และมีความพึงพอใจด้านต่างๆ อยู่ในระดับมากที่สุดเช่นกัน ทั้งด้านบุคลากร ด้านเวลา ด้านสิ่งอำนวยความสะดวก และด้านขั้นตอน อยู่ที่ 4.84 / 4.72 / 4.62 / 4.59 ตามลำดับ ส่วนปัจจัยและองค์ประกอบสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จคือ การทบทวนกระบวนการทำงาน ให้ความสำคัญกับปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อนำปัญหาที่เกิดขึ้นมาวิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหานั้น จะทำให้สามารถแก้ไขได้ถูกจุดและตรงตามความต้องการได้