ตระเวน 4 หมู่บ้าน อ.ตาลสุม ว้าว…จุดเช็คอินใหม่ ไปกันมาหรือยัง

2866

ชีวิตคนเราก็แปลก เพราะยิ่งรู้มาก ก็รู้สึกเหมือนรู้น้อยลงทุกที ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด กระทั่งเรื่องเที่ยว ที่ยังแอบซ่อนแง่มุมให้ค้นหากันอีกมาก แม้กระทั่งจังหวัดที่มีโอกาสเดินทางไปบ่อยๆ อย่างอุบลราชธานี เชื่อไหมว่า ยิ่งไปยิ่งได้รู้ได้เห็นความน่าสนใจมากขึ้นทุกที  และรู้สึกดีมากขึ้นทุกครั้ง

นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี
นายมงคล ปัตลา พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี

วันนี้เราเดินทางมายัง อ.ตาลสุม ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองอุบลราชธานีไปทางทิศตะวันออกราว 34 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ที่มีต้นตาลจำนวนมากอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูล จึงเรียกบริเวณนี้ว่า ‘ตาลชุม’ ต่อมาเพี้ยนเป็น ‘ตาลสุม’ มีคำขวัญประจำอำเภอว่า “ผ้าห่มงาม ข้าวหลามรสดี มากมีลูกตาล หวานมันฝักบัว” โดยมีชุมชนเป้าหมายในโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ‘เส้นทางธรรมนำวิถีพอเพียง’ 4 ชุมชน ประกอบด้วย บ้านห่องแดง, บ้านสำโรงใหญ่, บ้านคำหว้า และบ้านนามน

โดยในวันนี้ได้มีพิธีเปิดตัวโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ‘เส้นทางธรรมนำวิถีพอเพียง’ อ.ตาลสุม จ.อุบลราชธานี ภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน โดย นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน ณ ริมสระบัว บ้านห่องแดง ต.นาคาย อ.ตาลสุม สถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ล่าสุดที่ได้รับความนิยมจากประชาชนและนักท่องเที่ยว มาเดินชมทุ่งนาบัว ถ่ายรูปบนสะพานไม้ เช็คอิน และแชร์ภาพอย่างแพร่หลายอยู่ในขณะนี้

ในการจัดงาน ได้นำการแสดงพื้นบ้าน พร้อมสินค้าชุมชนที่น่าสนใจมาจัดแสดง ล้วนแล้วแต่มีความน่าสนใจอย่างมาก ทำให้อยากไปชมกันถึงสถานที่จริงกันแล้ว โดยจุดแรกเราจะชวนไปเดินเที่ยวในตัวหมู่บ้านห่องแดง อันเป็นสถานที่จัดงานกันก่อน

ฮอดแล้วนะ “ห่องแดง”

จริงๆ ก็เห็นตั้งแต่แรกแล้วว่า ตอนนี้ที่บ้านห่องแดงเขามีการทำนาบัว และกลายเป็นจุดเช็คอินแห่งใหม่ของนักท่องเที่ยว แต่พอได้เข้ามาเที่ยวชมในตัวหมู่บ้านจึงได้รู้ว่า ที่นี่มีการปลูกนาบัวกันราว 55 ครัวเรือน แต่จุดหลักๆ ที่เที่ยวชมนาบัวได้อย่างสะดวก มีอยู่ 3 จุด โดยมีการทำสะพานไม้ยื่นยาวออกไป แต่ก็สวยงามไม่แพ้กันเลย

ชาจากดีบัว
ลุงบุญจันทร์ เจ้าของนาบัว ซึ่งแบ่งพื้นที่จากนาข้าวมาทำนาบัว จนมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ เดือนละ 2-3 หมื่นบาท
บัวที่นี่จะเน้นขายฝักบัวเป็นหลัก ส่งขายจังหวัดมุกดาหาร ยโสธรเป็นหลัก ลุงบุญจันทร์บอกว่า จะลงมาเก็บฝักบัวตั้งแต่ตี่สามตีสี่ วันหนึ่งเป็นพันฝัก รายได้ 30,000-50,000 ต่อเดือน อยู่ที่ว่าขายเองหรือผ่านพ่อค้าคนกลาง

“บ้านห่องแดง ต.นาคาย” เป็นชุมชนที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ด้วยต้นตาล ซึ่งให้ลูกตาลรสชาติดีตลอดทั้งปีจนกลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของชุมชน นอกจากภาพทุ่งนาเขียวขจีที่รายล้อมด้วยต้นตาลแล้ว ล่าสุด ‘ทุ่งนาบัวบ้านห่องแดง’ ก็กลายเป็นจุดเช็คอินแห่งใหม่ที่ดึงดูดผู้คนมาเที่ยวชมอย่างไม่ขาดสาย เป็นโอกาสให้ผลิตภัณฑ์ OTOP บ้านห่องแดง ได้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายยิ่งขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากดอกบัว ได้แก่ น้ำนมเม็ดบัว โดนัทเม็ดบัว ลูกประคำเม็ดบัว ดอกบัวแห้ง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น หมวกสาน เสื่อจากใบเตย เสื่อผือ กระติ๊บข้าว ตาลสดอ่อน และขนมตาล สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจลิ้มรสอาหารพื้นถิ่นของบ้านห่องแดง ต้องไม่พลาดชิม 5 เมนูเด็ด ได้แก่ ยำผักจากเม็ดบัว ต้มไก่บ้านใส่ใบมะขาม ปลาทอด ส้มตำ และบัวลอยแก้ว

สืบสานตำนานพุทธศิลป์ ที่บ้านสำโรงใหญ่

“บ้านสำโรงใหญ่ ต.สำโรง” เป็นชุมชนที่มีชื่อเสียงด้านการอนุรักษ์งานพุทธศิลป์ด้วยฝีมือการวาดภาพพุทธประวัติที่มีสีสันสวยงาม โดยมีการจัดตั้งกลุ่มผลิตผ้าผะเหวด หรือผ้าวาดภาพพระเวสสันดรชาดก ซึ่งถือเป็นงานหัตถกรรม OTOP ที่ขึ้นชื่อและได้รับการยอมรับทั้งในท้องถิ่นและในระดับจังหวัด สอดคล้องกับสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญทางจิตใจ นั่นคือ หลวงพ่อพระเจ้าใหญ่ประทานพร วัดสำโรงใหญ่ ที่คนในชุมชนและนักท่องเที่ยวนิยมมากราบไหว้ขอพร

ลุงวีระ คงมาก ผู้สืบสานงานพุทธศิลป์มากว่า 50 ปี
น้องมีณา วิเศษศรี ลูกหลานบ้านโนนสำโรง ที่ชื่นชอบงานเขียนผ้าผะเหวด โดยเธอชอบมาเรียนรู้ที่บ้านลุงวีระอยู่เสมอ

ขณะที่ผลิตภัณฑ์ OTOP ที่มีชื่อเสียงนอกจากผ้าพระเวสสันดรชาดกแล้ว ยังมีกรอบพระ เครื่องจักสาน ผ้าห่มนาโน พรมเช็ดเท้า พริกป่นแปรรูป แจ่วบอง กล้วยฉาบ และมะยมเชื่อม ส่วนเมนูพื้นบ้านที่คนในชุมชนพร้อมเสิร์ฟนักท่องเที่ยว ได้แก่ แกงหน่อไม้ ต้มไก่บ้าน ป่นปลา-นึ่งผัก แจ่วบอง และข้าวเม่าคลุกมะพร้าวอ่อน

อีกบ้านหนึ่งที่เขียนผ้าผะเหวด และเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้ลองเรียนรู้ วันนี้ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี จึงขอลองลงสีด้วยตัวเอง
ลุงสังวาลย์ สายโสภา อีกท่านที่มีฝีมือการเขียนลายเส้นด้วยปากกา ก่อนนำไปลงสี
เขียนลายเส้นโดยปากกา เทคนิคของลุงสังวาลย์

และตอนนี้ทางหมู่บ้านกำลังก่อสร้างจุดเช็คอินแห่งใหม่ในตัวหมู่บ้าน โดยการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ พร้อมศูนย์การเรียนรู้ผ้าผะเหวด นอกจากนั้นเราก็สามารถเข้าไปชมการทำผ้าพะเหวด จากฝีมีช่างศิลป์ในชุมชน ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ราว 10 คน ถือว่ามีจำนวนน้อยมาก 

ผ้าผะเหวด นิยมใช้เพื่อถวายวัดเป็นบุญกุศล  ตัวผ้ามีความกว้างและยาวมาก เหมือนผ้าที่ใช้แห่รอบพระธาตุ เพราะต้องเขียนภาพพระเวสสันดรชาดก 13 กัณฑ์ บางบ้านจึงต้องช่วยกันเป็นงานศิลปะของครอบครัว แต่ละมีช่างหลักในการร่างภาพ ซึ่งแต่ละท่านก็มีสไตล์ที่แตกต่างกันไป ผืนหนึ่งจึงอาจจะต้องใช้เวลาเป็นเดือน แต่ราคาก็ดีงาม อยู่ในหลักหมื่นหลักแสนเลยทีเดียว

สีสันบ้านคำหว้า ชิมน้ำนมข้าวหอมอร่อย

 “บ้านคำหว้า ต.คำหว้า” เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่โดดเด่นด้านการดำเนินชีวิตตามวิถีพอเพียง ทรัพยากรทางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ถูกนำมาแปรรูปเป็นของกินของใช้ในชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกันก็กลายเป็นสินค้า OTOP หลากหลายประเภทที่สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างน่าพอใจ ไม่ว่าจะเป็น ไม้กวาดทางมะพร้าว กระเป๋าผ้าฝ้าย ผ้ารองแก้ว พรมเช็ดเท้า เสื่อทอ เปล ยาหม่อง น้ำมันเขียว รวมไปถึงงานสานพลาสติก ได้แก่ พัด ตะกร้าสาน ส่วนเมนูอาหารพื้นถิ่นที่ชาวบ้านคำหว้าตั้งใจจัดให้นักท่องเที่ยวชิม ได้แก่ ต้มไก่บ้าน แกงหน่อไม้ ป่นปลา แจ่วบอง น้องนางทรงเครื่อง (ไข่ตุ๋น) และน้องนางรอดรู (ลอดช่อง)

วันนี้ได้แวะมายังศูนย์โอทอปของบ้านคำหว้า ซึ่งประดับประดาไปด้วยร่มหลากสีสัน และยังได้ร่วมเรียนรู้การทำ “น้ำนมข้าว” ซึ่งจะทำกันเฉพาะช่วงข้าวเริ่มออกรวง โดยจะเลือกใช้ข้าวเหนียวที่เริ่มออกรวงใหม่ๆ (ซึ่งจะมีน้ำนมข้าวอยู่ข้างใน) นำมาตำ แล้วขยำเอาน้ำนมออกมา นำไปต้มและกวน ผสมกะทิน้ำตาล ซึ่งในแต่ละปีจะทำในพิธีกวนน้ำนมข้าวโดยใช้หญิงสาวพรมจรรย์ ลองแล้วรสชาติหอมอร่อยมาก นำมาผสมกับข้าวเม่า เหมือนข้าวเหนียวกวน รสชาติดีมาก

อิงตาลริมมูล ดินแดนนามนสร้างสุข

มาถึงจุดเช็คอินที่เชื่อว่า เมื่อเปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้ว จะเรียกสายตานักท่องเที่ยวได้แม่แพ้กัน เพราะที่บ้านนามน บริเวณริมฝั่งแม่น้ำมูล กำลังเนรมิตพื้นที่โล่งกว้างเป็นสวนดอกไม้ และจะกลายเป็นจุดท่องเที่ยวที่อิ่มอารมณ์อีกแห่ง เพราะได้ทั้งบรรยากาศความสดใสของทุ่งดอกไม้ และบรรยากาศริมฝั่งโขง ซึ่งมีต้นตาลเรียงกันอยู่อย่างมีเอกลักษณ์

 “บ้านนามน ต.ตาลสุม” เป็นชุมชนที่อยู่ติดกับแม่น้ำมูล คนในชุมชนส่วนใหญ่จึงออกหาปลาเป็นอาชีพหลัก และสืบสานภูมิปัญญาทางหัตถกรรมจากรุ่นสู่รุ่น พัฒนาต่อๆ กันมาจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ที่น่าสนใจ ได้แก่ ตะกร้าจากไม้ไผ่ ตะกร้าจากพลาสติก เบาะรองนั่ง ผ้ารองจาน ผ้ารองแก้ว เปลผ้า กระเป๋าผ้า ผ้าห่ม พรมเช็ดเท้า และไม้ถูพื้น ขณะเดียวกัน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสรสชาติอาหารพื้นถิ่น ชาวบ้านนามนจึงได้จัดสำรับเด็ดมาโดยเฉพาะ ได้แก่ ลาบปลา ยำน้องแก้ว (ปลาแก้ว) สิบล้อยกล้อ (ปูนาทอด) ป่นปลา-ลวกผัก ไข่หน้ามน (ไข่เจียว) และนารีจำศีล (กล้วยบวดชี)

บริเวณที่กำลังปลูกแปลงดอกไม้ ให้เป็นจุดท่องเที่ยวแห่งใหม่ของชุมชนนามน ซึ่งใช้เวลาราว 3 เดือน แล้วพบกัน…

สนใจสอบถามข้อมูลชุมชนท่องเที่ยวได้ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอตาลสุม โทรศัพท์ 081-8234131