แปลกดี! รวมความเชื่อผิดๆ  ป้องกัน-รักษาโรคได้ แบบเข้าใจไปเอง

545

แม้วิทยาการด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์ได้เดินมาไกลมากแล้ว แต่ก็ยังมีความเชื่อที่มาจากความเข้าใจผิด  เรื่องที่เล่าหรือส่งต่อๆ กันมา เป็นสาเหตุที่ทำให้ป่วยเป็นโรค หรือลุกลามไปจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคโดยอาศัยหลักการทางวิทยาศาสตร์ จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ไปดูว่ามีโรคภัยใดบ้าง ที่มีความเชื่อผิดๆ ที่ควรทำความเข้าใจเสียใหม่

แค่แลบลิ้นใส่ก็ไม่เป็นตาแดงแล้วนะ

นับเป็นความเชื่อที่ใครหลายคนคงเคยเจอในสมัยเด็กๆ อาจเป็นเพราะคนแก่คนเฒ่าบอกเล่าต่อๆ กันมาว่า ถ้าเจอคนเป็นโรคตาแดงก็ให้แลบลิ้นใส่

หลายคนอาจเคยเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง แต่นั่นเป็นเพียงจิตวิทยาในการตักเตือน ให้หลีกเลี่ยงและไม่เข้าใกล้คนเป็นโรคตาแดง เพื่อป้องกันการติดต่อจากการสัมผัสหรือเข้าใกล้ เด็กๆ ที่เป็นตาแดงจึงต้องหยุดเรียน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ หาใช่การถูกเพื่อนรังเกียจแต่อย่างใด หายแล้วก็ยังกลับมาใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนๆ ได้ตามปกติ

ซึ่งในช่วงหน้าฝน เป็นช่วงที่พบโรคคาแดงจากเชื้อไวรัสเพิ่มสูงขึ้น โดยนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า  ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 16 กรกฎาคม 2561 พบผู้ป่วยแล้ว 50,750 ราย วิธีการป้องกันโรคตาแดง ทำได้โดยการล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หลีกเลี่ยงการใช้มือแคะ แกะ เกาหน้า ขยี้ตา ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วยตามแดง เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว แว่นตา และเครื่องนอน รักษาความสะอาดเสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัว สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด ส่วนคนที่เป็นตาแดงก็ควรใช้ผ้านุ่มๆ หรือสำลีชุบน้ำเช็ดขี้ตา ไม่ควรใช้ผ้าเช็ดหน้าเพื่อลดการสะสมของเชื่อ และควรหยุดเรียนหยุดงานสักสองสามวันด้วย

รองเท้าตบแผล-พิธีกรรมปลอดพิษสุนัขบ้า

นับเป็นอีกความเชื่อที่แปลกประหลาด พอๆ กับที่บอกว่าให้เอาน้ำตาหมามาทาแล้วจะเห็นผี  ที่บอกต่อๆ กันมา ซึ่งเรื่องนี้ ถ้าใครหลงเชื่อก็น่าห่วง เพราะโรคพิษสุนัขบ้าหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เสียชีวิต

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า  ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มอีก 2 ราย โดยรายแรกเป็นชาย อายุ 19 ปี ในจังหวัดบุรีรัมย์ ก่อนเข้าโรงพยาบาลมีประวัติถูกสุนัขกัดบริเวณหน้าอกและหัวไหล่ด้านซ้าย เมื่อเดือนเมษายน 2561 ที่ผ่านมา หลังถูกกัดไม่ได้ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า  ส่วนรายที่สองเป็นหญิง อายุ 55 ปี ในจังหวัดระยอง โดยก่อนเข้าโรงพยาบาลมีประวัติถูกสุนัขจรจัดไม่มีประวัติฉีดวัคซีน กัดบริเวณแขนขวา ตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 ที่ผ่านมา ผู้เสียชีวิตไม่ได้ล้างแผล ไม่ได้ไปพบแพทย์ และไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเช่นกัน  นอกจากนี้ ผู้เสียชีวิตยังมีความเชื่อเรื่องการรักษาแบบพื้นบ้าน จึงไปหาหมอชาวบ้านเพื่อเป่าแผลที่ถูกกัดเท่านั้น

ยังมีคนอีกมากที่มีความเชื่อเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าที่ผิดๆ เช่น โรคพิษสุนัขบ้าสามารถรักษาให้หายได้ โรคพิษสุนัขบ้าไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต เมื่อถูกสัตว์ที่เป็นโรคกัดหรือข่วน แล้วใช้สมุนไพรพอกหรือใช้รองเท้าตบแผล ให้หมอชาวบ้านเป่าแผล หรือแม้แต่เข้าพิธีกรรมแล้วจะไม่ทำให้เสียชีวิต เป็นต้น ซึ่งความเชื่อเหล่านี้ส่งผลให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มขึ้น

จึงขอแนะนำว่าหากถูกสุนัข แมวกัด ข่วน หรือเลียบาดแผล แม้เพียงเล็กน้อย ควรรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันทีหลายๆ ครั้ง นานประมาณ 10 นาที และใส่ยาเบตาดีน เพื่อลดการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จากนั้นรีบไปพบแพทย์ทันที

เล่นเกมกันเถอะไม่เป็นโรคอัลไซเมอร์

เราทราบดีว่าการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ เป็นการผ่อนคลายและฝึกสมอง แต่ก็ควรอยู่ในระยะเวลาที่พอเหมาะ เพราะอาจส่งผลถึงเรื่องของสายตาได้ แต่ไม่น่าเชื่อว่า การเล่นเกมจะช่วยทำให้ไม่เป็นโรคอัลไซเมอร์ได้

นายแพทย์ธีรวัฒน์ เหมะจุฑาศาสตราจารย์ทาง อายุรกรรมและระบบประสาท คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า นี่คือความเชื่อผิดๆ เพราะการเล่นเกมไม่ได้ช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ทั้งหมด เพราะปัจจุบันยังไม่มีเกมที่ออกแบบมาให้สมองทุกส่วนทำงานประสานกัน แต่เน้นไปที่การพัฒนาสมองแบบแยกส่วน โดยมีการศึกษาจากทั้งในและต่างประเทศเกี่ยวกับการเล่นเกม และพบว่า การเล่นเกมปัจจุบันทำให้สมองเก่งเฉพาะส่วน ไม่มีความยืดหยุ่น รวมถึงไม่มีการบูรณาการของสมองในส่วนต่างๆ เช่น เกมยิงกัน เป็นการใช้สมองเพื่อฝึกฝนปฏิกิริยาโต้ตอบในการตอบสนอง หากเป็นเกมบังคับกระโดดขึ้นลงเป็นการฝึกเรื่องการมองภาพ ดูความลึก เป็นต้น

สำหรับผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์ ศ.นพ.ธีรวัฒน์แนะนำให้มีการออกกำลังกายและออกกำลังสมองพร้อม ๆ กัน ด้วยการฝึกเล่นเครื่องดนตรี หรือเต้นรำ แต่ถ้าอายุมากขึ้นอาจจะใช้เดินธรรมดาต่อเนื่องกันอย่างน้อยวันละ 22 นาที ซึ่งเป็นเวลาได้รับการวิจัยแล้วว่ามีผลช่วยชะลอโรคได้

เมืองไทยแดดแรงกระดูกก็ต้องแข็งแรง

นอกจากความเชื่อผิดๆ ที่ว่า โรคกระดูกพรุนจะเกิดขึ้นเมื่อตอนแก่เท่านั้น แต่จริงๆ แล้วคนอายุน้อยๆ ก็สามารถเป็นโรคนี้ได้ เพราะนอกจากสาเหตุหลักจากมวลกระดูกที่ลดลงแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดกระดูกพรุนได้ เช่น การขาดวิตามินดี ขาดแคลเซียม ดื่มกาแฟมากเกินไป การไม่ออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ และยังพบโรคกระดูกพรุนในคนอายุน้อยๆที่ป่วยด้วยโรคบางอย่าง เช่น โรคอดอาหารจนเกิดความผิดปกติในการกินจากการกลัวอ้วน (Anorexia nervosa) หรือ โรคที่มีปัญหาในการดูดซึมของระบบทางเดินอาหาร โรคที่มีประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หรือประจำเดือนขาดหายไปเป็นระยะเวลานาน(โดยไม่ได้ท้อง) เป็นต้น

ส่วนที่เข้าใจผิดว่า เมืองไทยมีแดดแรงทำให้ได้รับวิตามินดีอย่างเต็มที่ ทำให้ไม่เสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน ก็ไม่เป็นความจริง เพราะปัจจุบันคนไทยก็ไม่ได้ใช้ชีวิตกลางแจ้ง เห็นแดดทีไรก็คอยแต่จะหลบเลี่ยง อีกทั้งได้บอกไปแล้วว่า ปัจจัยในการเกิดโรคกระดูกพรุนนั้นยังมีอีกหลายอย่าง ไม่เฉพาะการขาดวิตามินดีเพียงอย่างเดียว

ไม่กินหวานไม่เป็นเบาหวานหรอก

เพราะชื่อของโรคนี้แท้ๆ ที่ทำให้คนส่วนใหญ่มีความเข้าใจผิดว่า โรคเบาหวาน ก็คือโรคของคนที่หวานมาก ดังนั้นคนที่ไม่กินหวานก็จะไม่เป็นโรคเบาหวาน

ในความเป็นจริงแล้ว สาเหตุหลัก ๆ ของโรคเบาหวานก็คือ การที่ร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการรักษาระดับน้ำตาลในเลือด ถ้าร่างกายของเราผลิตฮอร์โมนตัวนี้ได้เป็นปกติ ไม่ว่าจะรับประทานอาหารหวานสักแค่ไหน ก็ไม่เป็นปัญหา (แต่อาจจะส่งผลต่อความอ้วน) ดังนั้นการควบคุมความหวานก็เป็นหนึ่งในปัจจัยในการควบคุมโรคเบาหวาน โดยเฉพาะคนที่มีพันธุกรรมของโรคนี้

ในขณะเดียวกัน คนที่กินหวานจัดก็อาจจะไม่เป็นเบาหวาน เป็นเพราะการทำงานของฮอร์โมนอินซูลินอยู่ในภาวะปกติ แต่อย่างไรก็ตาม โรคเบาหวานยังป้องกันได้ด้วยการควบคุมน้ำหนัก เพราะน้ำหนักจะเป็นตัวทำให้เซลล์ต่างๆ ต่อต้านอินซูลิน พร้อมกันนี้ก็ต้องควบคุมความเค็มความมัน พร้อมการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

เป็นตัวอย่างของความเชื่อที่อาจจะทำให้หลายคนเข้าผิด ซึ่งต้องทบทวนข้อมูลกันดีๆ โดยเฉพาะเรื่องราวสุขภาพที่ส่งต่อกันทางสังคมออนไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องไม่จริง ดังนั้นการสืบค้นข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ พร้อมทั้งการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง นับเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการรักษาสุขภาพ