ห่วงลูกปอดบวม เท่าไหร่คือหายใจเร็ว ครึ่งปีป่วยแสนรายตายเกือบร้อย  

83

ในช่วงหน้าฝนซึ่งสภาพอากาศมีลักษณะชื้น เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ป่วยไข้ไม่สบายได้ง่าย ผู้ที่มีภูมิต้านทานน้อยจึงต้องมีความระมัดระวังอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ ซึ่งการเป็นไข้หวัดต่อเนื่องกันมากกว่า 3 วัน อาจนำมาซึ่งโรคปอดบวม ซึ่งเป็นโรคที่หลายคนคาดไม่ถึงและปล่อยทิ้งไว้ ทำให้รุนแรงจนถึงชีวิต  รู้ไหมว่านี่เป็นอีกหนึ่งการสูญเสียที่สามารถดูแล สังเกต และป้องกันได้  

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศเตือนช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง ขอให้ประชาชนระวังป่วยด้วยโรคปอดบวม พร้อมแนะนำวิธีป้องกัน และการดูแล เฝ้าระวัง เมื่อเกิดอาการไข้

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เนื่องจากช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย อากาศร้อนสลับฝนตก และในช่วงฝนตกทำให้อากาศมีความชื้นสูงขึ้น เชื้อไวรัสและแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี อาจทำให้ผู้ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงหรือมีภูมิต้านทานน้อย เจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจได้ง่าย โดยเฉพาะโรคปอดบวม กลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และกลุ่มผู้สูงอายุ

จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 9 กรกฎาคม 2561 พบผู้ป่วยโรคปอดบวม 131,247 ราย เสียชีวิตแล้ว 96 ราย  นอกจากนี้ยังพบว่าในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ป่วย 39,962 ราย เสียชีวิต 3 ราย และกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป (กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด) ป่วย 44,195 ราย เสียชีวิตถึง 63 ราย ซึ่งพบผู้ป่วยใน 2 กลุ่มนี้รวม 84,157 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 64 ของผู้ป่วยทั้งหมด

โรคปอดบวมเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง เกิดจากการติดเชื้อหลายชนิด เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส มักเป็นโรคแทรกซ้อนหลังป่วยไข้หวัดประมาณ 3 วัน โดยผู้ป่วยจะมีไข้สูง ไอมีเสมหะ น้ำมูกเปลี่ยนสีจากสีเหลืองเป็นสีเขียวข้น เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบง่าย เด็กเล็กและผู้สูงอายุ อาจจะมีอาการเหล่านี้ไม่ชัดเจนหรือไม่ครบทุกอย่าง จึงควรให้ความสนใจมากกว่าปกติ เช่น   ในผู้สูงอายุอาจจะมีไข้ หรือตัวอุ่นๆ และอาการซึมลง หากมีอาการดังกล่าวขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที  จะช่วยลดอาการรุนแรงได้

การป้องกันโรค คือ หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด หรือมลภาวะที่เป็นพิษ เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ และหมอกควันอากาศ ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รักษาสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และพักผ่อนให้เพียงพอ รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่ออากาศเปลี่ยนแปลง เช่น เย็นจัดหรือชื้นจัด

หากท่านหรือบุคคลใกล้ชิดโดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้สูงอายุที่มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ขอให้พบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนปอดบวมได้ง่ายกว่าคนปกติทั่วไป

ข้อมูลจากคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า เด็กที่เป็นไข้หวัดมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดปอดบวม  อาการของโรคปอดบวมที่สำคัญ คือ ไอ เหนื่อย หายใจเร็ว ถ้าเป็นมากจะหายใจ ลำบาก ในเด็กเล็กๆ ที่มีอาการมาก หากสังเกตที่บริเวณชายโครงจะเห็นว่าใต้ชายโครงจะบุ๋มเข้าไปเวลาหายใจเข้า และถ้าดูที่จมูกอาจเห็นจมูกบานเวลาหายใจเข้า ด้วย อาจมีไข้สูงหรือไข้ต่ำๆ ก็ได้ ถ้าเป็นรุนแรงมาก ริมฝีปากอาจเขียว ซึ่งแปลว่า ขาดออกซิเจนแล้ว นอกจากนี้บางคนอาจมีอาการอื่น เช่น ปวดท้อง อาเจียน หรือถ่ายเหลวร่วมด้วย โดยเฉพาะในเด็ก

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเด็กหายใจเร็ว ได้มีคำแนะนำว่า อาการหายใจเร็ว เป็นอาการที่เราใช้ดูว่าเด็กเหนื่อยหรือไม่ เพราะเด็กมักบอกเราไม่ได้ว่าเหนื่อย ไม่เหมือนผู้ใหญ่ การดูว่าเด็กหายใจเร็วหรือไม่ โดยดูว่าหายใจ กี่ครั้งใน 1 นาที (หายใจเข้าแล้วออก นับเป็น 1 ครั้ง) เกณฑ์ที่บอกว่าลูกของคุณกำลังหายใจเร็วคือ

  • เด็กอายุน้อยกว่า 2 เดือน หายใจมากกว่า 60 ครั้งใน 1 นาที
  • เด็กอายุ 2 เดือนถึง 1 ปี หายใจมากกว่า 50 ครั้งใน 1 นาที
  • เด็กอายุ 1 ปี ถึง 5 ปี หายใจมากกว่า 40 ครั้งใน 1 นาที

ทั้งนี้การป้องกันปอดบวม อาจกระทำได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดบวมจากเชื้อบางขนิด ได้แก่ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส [วัคซีนป้องกันโรคไอพีดี IPD] และวัคซีนป้อง กันโรคติดเชื้อฮิบ (Hib) จะสามารถป้องกันโรคปอดบวมจากเชื้อที่เกิดจากสายพันธุ์ ในวัคซีนได้ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ใช้ในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ซึ่งต้องฉีดทุกปี เนื่องจากแต่ละปีสายพันธุ์ของ ไข้หวัดใหญ่จะเปลี่ยนไป แนะนำให้ฉีดในเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก 6 เดือน – 5 ปี และผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 60 ปี ขึ้นไป รวมถึงคนที่มีโรคประจำตัวต่างๆ ได้แก่ โรคปอดเรื้อรัง หอบ หืด โรคหัวใจ โรคไต เบาหวาน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคธาลัส ซีเมีย โรคทางระบบประสาทบางอย่าง