สางปัญหา ลงทะเบียนเที่ยวไทยคนละครึ่ง ททท. แจงความโปร่งใส พร้อมกวดขันราคาห้องพัก

Published on

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดการลงทะเบียนสำหรับประชาชนที่ต้องการเข้าร่วมใช้สิทธิ์โครงการ “เที่ยวไทยคนละครึ่ง” ตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป หลังจากปรับปรุงพัฒนาระบบที่เกี่ยวข้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยประชาชนที่สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเที่ยวไทยคนละครึ่งได้ พร้อมชี้แจงประเด็นการดำเนินโครงการอย่างโปร่งใสและให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยในการใช้งานของผู้ใช้บริการ

ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า ตามที่ ททท. ได้มีการแจ้งปิดระบบการลงทะเบียนประชาชนเข้าร่วมโครงการเที่ยวไทยคนละครึ่งเป็นการชั่วคราว เพื่อทำการปรับปรุง พัฒนาระบบในส่วนที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมานั้น ททท. ได้มีการดำเนินการปรับปรุงระบบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
จึงขอเปิดระบบให้ประชาชนที่สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเที่ยวไทยคนละครึ่งได้ทางแอปพลิเคชัน Amazing Thailand หรือ https://www.เที่ยวไทยคนละครึ่ง.com ตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคมเป็นต้นไป โดยประชาชนสามารถลงทะเบียนได้โดยไม่จำกัดจำนวนคน แต่ละคนรับสิทธิ์สูงสุดไม่เกิน 5 สิทธิ์ แบ่งเป็นที่พักในเมืองหลัก 3 สิทธิ์ เมืองน่าเที่ยว 2 สิทธิ์
และประชาชนจะได้รับสิทธิ์ต่อเมื่อมีการชำระเงินค่าที่พักโดยตรงกับทางโรงแรมแล้ว โดยผู้ที่ชำระเงินก่อนจะได้รับสิทธิ์ก่อน ( First Come First Served ) และสามารถใช้สิทธิ์ได้วันละ 1 ห้อง/คืน

แจงงบประมาณ – การเลือกใช้แอป
ทั้งนี้ สำหรับการจัดทำโครงการเที่ยวไทยคนละครึ่ง ททท.ได้รับงบประมาณในการดำเนินโครงการจำนวน 1,750 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณทั้งหมดใช้สำหรับการสนับสนุนค่าที่พัก คูปองอาหาร และกิจกรรมท่องเที่ยว ร้อยละ 50 แก่ผู้ประกอบการตามที่นักท่องเที่ยวได้มีการใช้สิทธิ์ในการเดินทาง เพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ
โดยสำหรับแอปพลิเคชัน Amazing Thailand ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ ททท. มีการดำเนินการอยู่แล้ว โดยได้ร่วมมือกับพันธมิตรในการดำเนินการปรับปรุงพัฒนาให้รองรับโครงการและไม่ได้ใช้งบประมาณของโครงการเพิ่มเติมในการดำเนินการ
ซึ่งการที่ ททท. เลือกใช้แอปพลิเคชัน Amazing Thailand ในการลงทะเบียนเที่ยวไทยคนละครึ่ง แทนการพึ่งพาแอปพลิเคชันอื่น ๆ ของทางภาครัฐที่ได้มีการพัฒนามาแล้วนั้น เพื่อให้ ททท.สามารถเข้าถึงข้อมูลด้านพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับการวางแผนและทำการตลาดเชิงรุก การพัฒนายุทธศาสตร์การท่องเที่ยว เพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวด้วย Data-Driven Strategy
ตลอดจนสามารถขยายโอกาสไปถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว (Stakeholders’ Ecosystem) ให้สามารถตอบโจทย์นักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต และช่วยให้งบประมาณที่ภาครัฐอุดหนุนลงไปก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

แนะใช้ ThaiID ป้องกันการสวมสิทธิ์
โดย ททท.ให้ความสำคัญกับความโปร่งใส่และความปลอดภัยในการใช้งานของผู้รับบริการ โดยการใช้ ThaID ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันของภาครัฐในการยืนยันตัวตนสำหรับผู้ใช้สิทธิ์ นอกจากเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันแล้ว ยังเป็นการยกระดับมาตรฐานการยืนยันตัวตนของภาครัฐ เพื่อเพิ่มความโปร่งใส ป้องกันการสวมสิทธิ์แบบในอดีต และการจัดสรรงบประมาณเป็นไปอย่างทั่วถึงและสมเหตุสมผล ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของโครงการนี้
ทั้งนี้ สำหรับประชาชนที่ได้ทำการจองห้องพักและชำระเงินเพื่อใช้สิทธิ์ในโครงการเที่ยวไทยคนละครึ่งเรียบร้อยแล้ว หากยังไม่มีการยืนยันตัวตันผ่าน ThaID ขอให้ยืนยันตัวตนก่อนการเดินทางใช้สิทธิ์ เพื่อป้องกันปัญหาการสวมสิทธิ์ในการเดินทาง

ไขข้อขัดข้องในช่วงที่ผ่านมา
สำหรับข้อขัดข้องบางประการและความไม่สะดวกในการใช้งานที่ประชาชนและผู้ประกอบการได้รับในช่วงการเริ่มต้นโครงการ ซึ่งส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการลงทะเบียน ตลอดจนความไม่สะดวกในการเข้ารับบริการของประชาชนและผู้ประกอบการในการใช้สิทธิ์
ททท. ได้เร่งดำเนินการแก้ไขในประเด็นปัญหาต่าง ๆ ทั้งในเรื่องการใช้โดเมนใหม่ในการรองรับการลงทะเบียนโครงการ การปรับ Flow การยืนยันตัวตนให้เกิดขึ้นก่อนขั้นตอนการชำระเงิน เพื่อให้ระบบทำงานได้เสถียรมากขึ้น การเพิ่มจำนวน Contact Center และการรองรับของระบบแชทผ่านช่องทาง Line และเร่งทำให้ระบบมีความเสถียรและใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเร็วที่สุด
ซึ่งภายหลังจากการเปิดลงทะเบียนใหม่อีกครั้ง พบว่าสามารถรองรับการเข้าลงทะเบียนของประชาชนและผู้ประกอบการได้ดีขึ้น

กวดขันผู้ประกอบการขายห้องพักเกินราคา

สำหรับประเด็นในเรื่องการร้องเรียนราคาห้องพักที่มีราคาสูงกว่าปกติ ทาง ททท. จะเร่งตรวจสอบราคาห้องพักของผู้ประกอบการ หากพบว่ามีการปรับราคาสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงที่ผ่านมาจะมีการตักเตือนและขอให้แก้ไข และตัดออกจากระบบหากไม่ปฏิบัติตาม
ททท. ได้เร่งดำเนินการคัดกรองผู้ประกอบการที่มีความพร้อมและตรงกับความสนใจของประชาชนเข้ามาในระบบเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกมากที่สุด ทั้งในส่วนของจำนวนและคุณภาพของสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ โดยล่าสุดโครงการได้เปิดให้สถานประกอบการ ประเภทโรงแรม สามารถนำเสนอเรทราคาห้องพักได้สำหรับช่วงวันธรรมดาและวันหยุดเพื่อเป็นทางเลือกในการใช้สิทธิ์ในระบบแก่ประชาชนให้มากขึ้น

เปิดยอดการลงทะเบียนล่าสุด

สถานการณ์ลงทะเบียนของโครงการเที่ยวไทยคนละครึ่งตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนถึงวันที่ 11 กรกฎาคม 2568 เวลา 8.30 น. มีประชาชนลงทะเบียนสำเร็จจำนวน 1,585,208 ราย จองที่พักและชำระเงินเพื่อใช้สิทธิ์แล้ว 91,008 สิทธิ์ สิทธิ์คงเหลือจำนวน 408,992 สิทธิ์ ขณะที่ผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนและอนุมัติแล้วจำนวน 5,254 ราย แบ่งเป็น โรงแรม/ที่พัก 2,957 ราย ร้านอาหาร 1,968 ราย แหล่งท่องเที่ยว 84 ราย สปา/สุขภาพ 96 ราย สินค้า OTOP 101 ราย และบริการรถเช่า/เรือเช่า 48 ราย

ประชาชนหรือผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการเที่ยวไทยคนละครึ่งสามารถติดตามข้อมูลและรายละเอียดการเข้าร่วมโครงการและขั้นตอนในการใช้สิทธิ์ได้ที่ https://www.เที่ยวไทยคนละครึ่ง.com

โดยสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่านแอปพลิเคชัน Amazing Thailand หรือ https://www.เที่ยวไทยคนละครึ่ง.com และสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center โทร. 02-483-0963 ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-20.00 น. หรือสอบถามผ่านช่องทางแอปพลิเคชัน Line Official Account: @ThaiTravelCopay ได้ในช่วงเวลาเดียวกัน

Latest articles

“เอส สไปน์” คว้ารางวัล Top CEO 2025 มุ่งขับเคลื่อนอนาคตการรักษากระดูกสันหลังและข้อของไทย

ผู้บริหาร "เอส สไปน์" คว้ารางวัล Top CEO 2025 ผู้นำองค์กรด้านสุขภาพผู้ขับเคลื่อนอนาคตการรักษากระดูกสันหลังและข้อของไทย

เดลต้า ประเทศไทย ติดอันดับองค์กรชั้นนำของเอเชีย

เดลต้า ประเทศไทย ติดอันดับสูงสุดในรางวัลนักลงทุนสัมพันธ์ที่มีพัฒนาการดีที่สุด (Most Improved Investor Relations) ณ งานประกาศรางวัล Annual Institutional Investor Awards for Corporates

BONCAFE ชวนสัมผัสกาแฟออร์แกนิกและนมทางเลือก ในงาน Coffee Fest 2025

พบการกลับมาของ บอนกาแฟ (ประเทศไทย) อีกครั้งในงาน Thailand Coffee Fest 2025 ชวนสัมผัสนวัตกรรมใหม่ พบกาแฟออร์แกนิก และกาแฟที่ได้รับเครื่องหมายรับรอง Rainforest Alliance Certified...

หมอเมด vs หมอผ่า เข้าใจความต่างก่อนเริ่มรักษา

หลายคนอาจสงสัยว่า “หมอแบบไหน” ที่เราควรไปพบดี ระหว่างนักประสาทวิทยา (Neurologist) หรือ ศัลยแพทย์ระบบประสาท (Neurosurgeon)

More like this