ในโลกที่ทุกอย่างเชื่อมโยงกันได้เพียงปลายนิ้ว—แต่ทำไมเรากลับรู้สึกห่างเหินกันมากขึ้นเรื่อย ๆ? แล้วศิลปะจะพาเรากลับมาเชื่อมต่อถึงกันอย่างแท้จริงได้อย่างไร? คำตอบบางส่วนอาจอยู่ใน “WWW” นิทรรศการศิลปะและการประมูล โดย The Art Auction Center ซึ่งเปิดพื้นที่ให้เราทบทวนความหมายของการเชื่อมต่อในยุคดิจิทัล ผ่านผลงานศิลปะชั้นเยี่ยมจากศิลปินไทย 136 ผลงาน ที่พร้อมสะกิดใจและตั้งคำถามกลับไปยังผู้ชมทุกคน
บริษัท ดิ อาร์ต อ๊อคชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด สถาบันการประมูลศิลปะอันดับ 1 ของไทย เชิญชมนิทรรศการศิลปะ “WWW” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 – 25 พฤษภาคม 2568 เวลา 10.00 – 18.00 น. ณ ท่าพิพิธภัณฑ์ ก่อนเข้าสู่การจัดประมูลในวันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม 2568 เวลา 14.00 น. ณ ท่าพิพิธภัณฑ์
การแสดงงานศิลปะภายใต้แนวคิด “โลกของการเชื่อมต่อ” ครั้งนี้เชิญชวนผู้ชมสำรวจบทบาทของศิลปะท่ามกลางคลื่นข้อมูลที่หมุนเวียนในยุคดิจิทัล งานศิลปะไม่เพียงแต่เชื่อมโยงผู้คน แต่ยังสะท้อนความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง ท่ามกลางโลกที่ดูเหมือนจะเชื่อมต่อกันตลอดเวลาแต่กลับห่างไกลจากความเข้าใจ ศิลปะจึงกลายเป็นเสมือนเข็มทิศที่นำทางเรากลับสู่แก่นแท้ของตนเอง
“ในยุคที่ทุกสิ่งดูจะหมุนเร็ว ศิลปะกลับทำหน้าที่เป็นพื้นที่หยุดนิ่งให้เราได้ทบทวน และเชื่อมต่อกับสิ่งที่ลึกซึ้งกว่า”
พิริยะ วัชจิตพันธ์ ผู้ก่อตั้งบริษัท ฯ ได้พูดถึงแนวคิดหลักและแรงบันดาลใจในการจัดนิทรรศการ “WWW” พร้อมเสริมว่า
“นิทรรศการ WWW เป็นเหมือนการเปิดหน้าต่างให้กับทั้งคนรักศิลปะและผู้เริ่มต้น ได้กลับมารับรู้คุณค่าที่แท้จริงของการมองเห็น”
“ยินดีต้อนรับสู่โลกแห่งการเชื่อมต่อ ที่หน้าต่างเสรีแห่งโอกาสและระยะทางแบ่งกลางระหว่างผู้คนคล้ายจะเลือนหายไปโดยสิ้นเชิง มนุษยชาติเชื่อมโยงถึงกันกว่าครั้งไหน ๆ ด้วยเส้นใยเครือข่ายไร้รูปธรรม ถักทอต่อขยายจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของภาวะตระหนักรู้ของเราไปโดยไม่รู้ตัว นี่คือพื้นที่ซึ่งเรานั้นใช้สนทนา สื่อสาร บันทึกเรื่องราวและจะร่วมฝันไปพร้อมกัน
ด้วยระบบนามธรรมอันกว้างใหญ่ที่ผู้คนในอดีตไม่อาจจินตนาการไปถึง เรามองเห็นโลกด้วยสายตากว้างไกลอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เวลาคล้ายเคลื่อนผ่านไปอย่างรวดเร็วกว่าที่เป็นจริง ชีวิตดำเนินบนความรีบเร่ง แม้ว่าอินเทอร์เน็ตนั้นได้ทำให้โลกทั้งใบอยู่เพียงปลายนิ้ว ช่วยให้เรามองเห็นได้มากขึ้น ทว่าในหลายครั้งกลับต้องแลกด้วยการมองสิ่งนั้นอย่างลึกซึ้งให้กระจ่างโดยแท้ การรับรู้ถูกทวีคูณ แต่ความกระจ่างกลับกลายเป็นสิ่งหายากขาดแคลน กระนั้นท่ามกลางกระแสดังกล่าว ยังมีบางสิ่งที่มั่นคงดำรงอยู่ บางสิ่งที่ลึกซึ้งและยังคงความเป็นมนุษย์โดยแท้
เมื่อเราล่องลอยอยู่ท่ามกลางหมู่เมฆของโลกดิจิทัล บ่อยครั้งที่เราหลงลืมความหนักแน่นของผืนดินใต้เท้า ไร้น้ำหนักรายล้อมด้วยข้อมูล แต่ละผลงานศิลปะเปรียบเป็นหลักยึดสากล นำพาผู้คนพเนจรกลับคืนสู่ทางสามัญ ศิลปะเปิดมุมมอง สอนเราให้มองโลกกว้างออกไป ขณะเดียวกันก็หันเราทบทวนตนเข้าสู่ภายใน ถามหาไม่ใช่เพียงสิ่งที่เรารู้ แต่ปรารถนาที่จะเห็นความเป็นตัวเราที่แท้ภายใต้เปลือกนอก โลกดิจิทัลแห่งนี้ก้าวนำเราเข้าใกล้วิสัยทัศน์นั้น รวดเร็วขึ้น ครอบคลุมขึ้น และเต็มไปด้วยมิติใหม่ให้ค้นหา ในพื้นที่ร่วมแห่งนี้ การเชื่อมต่อจึงมิใช่แค่การเข้าถึง แต่คือการเข้าใจ
เมื่อชีวิตเต็มไปด้วยถ้อยคำปรัชญาหยิบยืม เราอาจหลงลืมแรงผลักดันแท้จริงในใจ “WWW” นิทรรศการล่าสุดจาก The Art Auction Center ขอเชิญคุณเข้าสู่โลกของการเชื่อมต่อ ที่แรงบันดาลใจและความหลงใหลสามารถเดินทางไกลเกินเครือข่ายใด ที่นี่ เรามิได้เชื่อมโยงกันด้วยสายสัญญาณ หากแต่ด้วยสิ่งที่เรารู้สึกอย่างแท้จริง กว่า 136 ผลงานที่เราภูมิใจนำเสนอ จะค่อย ๆ ผูกพันกับคุณด้วยความหมายอันแท้จริงในตัว งานศิลปะ ณ ที่แห่งนี้ ผู้ชมหาต้องพึ่งใช้อาศัยสัญญาณใดในการเข้าถึงเชื่อมต่อ เพราะศิลปะคือช่วงเวลาไร้บรรจบในตัวเอง เปรียบดังนาฬิกาทรายที่ไม่มีวันหมดเม็ดทราย และคุณค่าแท้จริงนั้นจะไม่เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา”
ภายในนิทรรศการศิลปะและการประมูล “WWW” คุณจะได้พบกับผลงานศิลปะ 136 ชิ้นจากศิลปินไทยระดับแนวหน้า ทั้งศิลปินชั้นครูผู้เปี่ยมประสบการณ์ และคนรุ่นใหม่ที่น่าจับตา ผ่านผลงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่งานจิตรกรรมคลาสสิกไปจนถึงสื่อผสมร่วมสมัยและผลงานแนวทดลองที่ฉีกกรอบการนำเสนอแบบเดิม โดยแต่ละชิ้นล้วนถ่ายทอดแนวคิด อัตลักษณ์ และเรื่องเล่าที่แตกต่าง ตั้งแต่การตั้งคำถามต่อโลก ไปจนถึงการสำรวจความรู้สึกส่วนลึกในจิตใจมนุษย์ อย่างลึกซึ้งและทรงพลัง
ไฮไลท์ของงาน อาทิ

ผลงานจิตรกรรม “Umbrellas” ชิ้นนี้ ของกิตติ นารอด เป็นภาพกลุ่มคนยืนกางร่มกลางสายฝน ผลงานได้แสดงเอกลักษณ์ของศิลปินออกมาได้อย่างชัดเจน เห็นได้จากการเลือกใช้ชุดสีที่หลากหลายและมีสีสันสดใส เช่น การเลือกพื้นหลังของผลงานสีชมพูสว่าง ลักษณะการวาดผู้คนในผลงานที่มีความเรียบง่าย ทั้งใบหน้า รูปร่าง และเสื้อผ้าที่เหล่าตัวละครในภาพวาดสวมใส่ รวมถึงแนวความคิดของศิลปินที่มักนำเสนอ เรื่องราวใกล้ตัว ทั้งยังแฝงไปด้วยกลิ่นอายวัฒนธรรมประชานิยม (Pop Culture) และได้ผลักดันความธรรมดาพื้นฐานเหล่านั้นให้กลายเป็นสัญลักษณ์ต่อแนวคิดที่มีต่อสังคมองค์ประกอบเหล่านี้ต่างส่งเสริมให้ผลงานไม่มีความซับซ้อนมากจนเกินไป ทั้งยังชวนให้ผู้ชมเพลิดเพลินต่อการค่อย ๆ กวาดสายตาพิจารณารายละเอียดของผลงาน

อเล็กซ์ เฟส และมือบอญ ศิลปินแนวกราฟฟิตี้ที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากของไทยและยังได้รับการยอมรับในต่างประเทศ ผลงานของทั้ง 2 ศิลปิน มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนในแนวทางของตน และไม่บ่อยนักที่จะได้เห็นผลงานที่เกิดจากการร่วมมือกัน ผลงานชิ้นนี้จึงมีความพิเศษเป็นอย่างมากที่ทั้งคู่ได้สร้างสรรค์ผลงาน จิตรกรรมสีอะคริลิกบนแผ่นป้ายโฆษณา แสดงความขบขันและการเสียดสีล้อเลียนตามแบบฉบับของศิลปะกราฟฟิตี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งสังเกตได้จากการเล่นกับโลโก้ของแบรนด์เครื่องดื่มยักษ์ใหญ่สองแบรนด์ แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปของโลกทุนนิยมจากโลกมหาอำนาจที่สามารถสร้างอิทธิพลต่อการบริโภคของคนบนโลก ทั้งยังสอดแทรกแนวคิดวัฒนธรรมประชานิยมไว้

ผลงานจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบของถวัลย์ ดัชนี ชิ้นนี้เป็นอีกหนึ่งผลงานที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการถ่ายทอดอารมณ์สัตว์ป่าออกมาได้อย่างทรงพลังเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นมวลกล้ามเนื้อที่ถวัลย์ขัดเกลาให้เส้นมีความเคลื่อนไหว ทั้งยังมีการจัดองค์ประกอบให้เห็นขนาดของเขี้ยวเสืออย่างเด่นชัด ซึ่งเป็นการช่วยผลักเน้นความดุดันของสัตว์ป่าให้ออกมาได้อย่างเต็มที่รวมถึงรายละเอียดด้านบนของภาพซึ่งปรากฏเป็นรูปดวงดาวกำลังเคลื่อนตัวไปยังทิศทางเดียวกันกับเสือ ยิ่งเพิ่มความน่าสนใจในส่วนของการสร้างความหมายได้เป็นอย่างดี และความพิเศษของผลงานชิ้นนี้คือการสร้างจังหวะที่มีความหมดจดและในขณะเดียวกันยังสร้างอารมณ์ร่วมระหว่างผลงานกับผู้ชมได้อย่างแยบยล

ผลงานจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบชิ้นนี้ของทวี นันทขว้าง เป็นหนึ่งในผลงานที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการถ่ายทอดความงามของบึงบัวในอุดมคติออกมาได้อย่างมีเอกลักษณ์ ทั้งในแง่ของทักษะฝีมือที่ชำนาญต่อการเลือกใช้ทีแปรงและชุดสีโทนเย็นซึ่งช่วยผลักระยะของผลงานได้อย่างนุ่มลึก รวมถึงการประสานกันของสีโทนร้อนในการขับเน้นความงามของดอกบัวและใบบัว ที่สำคัญคือการถ่ายทอดบรรยากาศที่ช่วยส่งอารมณ์ของผู้ชมให้เข้าถึงความสงบของจิตใจ หรืออาจจะกล่าวได้ว่าภาพของผลงานนั้นมีลักษณะแบบเหมือนจริงแต่สร้างความรู้สึกเหนือจริงผ่านความละเอียดลออในการเลือกจัดองค์ประกอบของทวี

ภาพผลงานสีน้ำมันบนผ้าใบชื่อ “ฝันของคนใฝ่บ้าน” ของสุเชาว์ ศิษย์คเณศ สะท้อนความเหงาและความเศร้าของศิลปินผ่านผลงานศิลปะได้อย่างรุนแรง จากการใช้สีโทนเย็นเป็นแกนในการนำเสนอเรื่องแสดงถึงความหม่นหมอง รวมถึงการเลือกใช้เส้นเบาบางไร้ความแข็งแรงที่คอยค้าจุนรูปทรงของบ้าน ยิ่งทำให้ผลงานสร้างอารมณ์สะเทือนใจให้กับผู้ชม สิ่งเหล่านี้เกี่ยวโยงกับเรื่องราวเมื่อยังมีชีวิตอยู่นั้นต้องเจอกับความยากลำบากในการใช้ชีวิต มีเพียงการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเพียงเท่านั้นที่คอยค้ำจุนชีวิต ซึ่งรูปแบบการทำแนวนี้สอดคล้องกับวิถีของลัทธิเอกซเพรสชันนิสม์ และผู้ที่เห็นคุณค่าทั้งยังคอยสนับสนุนผลงานของสุเชาว์ไว้มากมาย รวมถึงผลงาน “ฝันของคนใฝ่บ้าน” คือ พีระ ดิษฐบรรจง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่ทำให้สุเชาว์มีแรงใจในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ

จำรัส เกียรติก้อง เป็นศิลปินที่มีความสามารถในการเขียนภาพจิตรกรรมสีน้ำมันอย่างหาใครเทียบได้ยาก โดยรูปแบบการนำเสนอผลงานของจำรัสมี 2 รูปแบบ คือ การวาดภาพเหมือนบุคคลสำคัญของไทยและการวาดเหตุการณ์สำคัญ ด้วยความมุ่งมั่นที่มี ส่งผลให้เกิดความเรียบคมในการปาดป้ายฝีแปรงลงบนผืนผ้าใบ ดั่งเช่นผลงานชิ้นนี้ซึ่งเป็นการวาดภาพเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ล่องในแม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบกับจากหลังเป็นวัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร ด้วยการใช้สีส้มเป็นสีหลักในการสร้างบรรยากาศ ส่งผลให้ผลงานสื่ออารมณ์ถึงความรุ่งเรืองของวัฒนธรรมไทย”

ผลงาน “ม้าพบธรรม (ปีมะเมีย)” มีความน่าสนใจในการผสมผสานความเหมือนจริงทางกายภาพของรูปม้าและความเป็นอุดมคติจากลักษณะจิตรกรรมไทยประเพณี และถือเป็นทักษะที่แปลกตาของ ศิลปิน ไม่เพียงเท่านั้น เนื่องจากการใช้สีที่มีความดุดันอย่างสีแดงในพื้นหลังก็นับได้ว่าแตกต่างออกไปจากชุดสีที่เฉลิมชัยใช้เช่นกัน แต่ถึงกระนั้นผลงานกลับยังสามารถเชื่อมโยงถึงเอกลักษณ์ของงานจิตรกรรมฝาผนังไทยได้อย่างน่าสนใจ เนื่องจากสีแดงเป็นอีกหนึ่งบทบาทในการแยกมิติของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และโลกมนุษย์ รวมถึงรายละเอียดของผลงานศิลปินก็ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของเส้นสายลายไทยที่มีความพลิ้วไหว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นการแสดงฝีมืออันยอดเยี่ยมของศิลปิน
ผลงานประติมากรรมสำริด “ขี่ม้าส่งเมือง” ของเขียน ยิ้มศิริ ชิ้นนี้ ถ่ายทอดภาพการละเล่นไทยที่นิยมอย่างมากในอดีต ผลงานแสดงให้เห็นถึงความเรียบง่ายซึ่งเป็นลักษณะการแสดงออกอันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปิน คือการลดทอนรายละเอียดของแบบเพื่อขับเน้นแนวคิดที่ศิลปินต้องการนำเสนอ อีกทั้งความสามารถในการเชื่อมประสานรูปทรงได้อย่างกลมกลืน รวมถึงการผสมผสานความเป็นอุดมคติของประติมากรรมไทยสมัยสุโขทัย ในหนังสือนำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ยังได้กล่าวถึงผลงานชิ้นนี้ว่ามีความกลมกลืนของเส้นและรูปทรง สร้างความรู้สึกให้แลดูอ่อนพลิ้ว มีความเคลื่อนไหว อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในผลงานที่สร้างก่อนศิลปินจะทำงานประติมากรรมแนวกึ่งนามธรรม

เมื่อย้อนกลับไปใน พ.ศ. 2504 หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยศิลปากร อินสนธิ์ วงค์สาม กับจักรยานยนต์ยี่ห้อ Lambretta ได้เริ่มเส้นทางจากไทยสู่ประเทศอิตาลี เมืองบ้านเกิดของศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี การเดินทางด้วยระยะทางกว่า 20,000 กิโลเมตร ทั้งในยุโรปและอเมริกา กลายเป็นเส้นทางชีวิตในต่างแดนของศิลปินถึง 12 ปี ทั้งยังเป็นประสบการณ์ที่ได้ขัดเกลามุมมองทางศิลปะรวมถึงฝีมือในการถ่ายทอดความคิดของศิลปิน โดยผลงานชิ้นนี้สร้างขึ้นเพียงคันเดียวเท่านั้น เพื่อระลึกถึงการเดินทางที่เคยไปในอดีตด้วยรถยี่ห้อเดียวกัน ศิลปินทั้งออกแบบและเขียนภาพลงบนรถกับหมวกเอง ด้วยรูปแบบนามธรรมอันเป็นเอกลักษณ์
