ไทยเตรียมเข้า ‘Super Aged Society’ สูงวัยพุ่ง ชู 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร

14

ไทยเตรียมเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสุดยอด (Super Aged Society) ปี 2576 มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่า 30% ของประชากรทั้งหมด จากปัจจุบันมี 13 ล้านคน บอร์ดสุขภาพแห่งชาติ ขานรับนโยบาย “5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร” ลุยขับเคลื่อน 25 มาตรการรับมือสังคมสูงวัย “เสริมพลังวัยทำงาน-เพิ่มคุณภาพเด็ก-สร้างพลังผู้สูงอายุ-เสริมคุณค่าคนพิการ-เพิ่มความมั่นคงครอบครัว”

ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2567 ซึ่งมี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธาน คสช. เป็นประธานการประชุม มีมติรับทราบ ข้อเสนอเชิงนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร ตามที่ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นผู้นำเสนอ ซึ่งประกอบด้วยนโยบาย 5 ด้าน 25 มาตรการ ที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนเพื่อรับมือสังคมสูงวัยและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศไทย

ปี 2576 ไทยเข้าสู่ Super Aged Society

นายประเสริฐ เปิดเผยว่า ความท้าทายประการหนึ่งของประเทศไทยในขณะนี้ คือการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีความสัมพันธ์กับทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ สังคม และความมั่นคงของมนุษย์ โดยในปี 2567 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุราว 13 ล้านคน หรือประมาณ 20% ของประชากรทั้งหมด และคาดการณ์ว่าอีกไม่เกิน 10 ปี หรือในปี 2576 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสุดยอด (Super Aged Society) คือมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่า 30% ของประชากรทั้งหมด ขณะที่แนวโน้มการเกิดใหม่ลดลง และวัยแรงงานก็ลดลงเช่นกัน

ที่ผ่านมา รัฐบาลตระหนักถึงความท้าทายและได้ดำเนินมาตรการเพื่อรับมือกับปัญหา อาทิ การเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ การลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีบุตร การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคทุกกลุ่มวัย ตลอดจนการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย ฯลฯ และล่าสุด พม. ได้พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากรขึ้น ซึ่งผ่านที่ประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนแล้ว ซึ่งทั้ง 25 มาตรการ ภายใต้ข้อเสนอเชิงนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากรนี้ ถือเป็นกรอบการขับเคลื่อนงานที่สำคัญที่ คสช. จะสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนจนเกิดเป็นรูปธรรม

ชูนโยบาย 5x5 แก้วิกฤต

น.ส.นภาพร เมฆาผ่องอำไพ ผู้ตรวจราชการ พม. กล่าวว่า ข้อเสนอเชิงนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร เป็นข้อเสนอในการรับมือกับสังคมผู้สูงอายุและสถานการณ์เด็กเกิดใหม่น้อยในภาพรวมทั้งหมด และถือเป็นความก้าวหน้าของประเทศไทยที่นำไปเสนอในการประชุมคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57 (CPD57) ระหว่างวันที่ 29 เม.ย. – 3 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีนโยบาย 5 ด้าน รวม 25 มาตรการ โดยในปีงบประมาณ 2568 จะใช้เป็นข้อเสนอ “5×5 แก้ปัญหาวิกฤตประชากร” เพราะนอกจากจะมีเรื่องของนโยบายหรือมาตรการเรือธงที่ชัดเจนที่จะดำเนินการในปีนี้แล้ว ยังมีโครงการต่างๆ ที่ พม. ได้ทำงานร่วมกับอีกหลายหน่วยงาน รวมถึงการเชื่อมต่อกับภาคประชาชน ภาคประชาสังคมในพื้นที่ด้วย

สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายนี้ ประกอบด้วย 1. เสริมพลังวัยทำงาน ตั้งตัวได้ สร้างและดูแลครอบครัวได้ และพร้อมที่จะสูงอายุอย่างมีคุณภาพในอนาคต ด้วยมาตรการได้แก่ 1) พัฒนาทักษะและเสริมศักยภาพ เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน บูรณาการฐานข้อมูล 2) กระจายงานสู่ชุมชน 3) ส่งเสริมการออมเพื่ออนาคตและเตรียมการเกษียณ 4) ส่งเสริมสุขภาพประชากรในวัยทำงาน 5) ส่งเสริมสมดุลชีวิตการทำงานและชีวิตครอบครัว

  1. เพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน เด็กน้อย แต่เปี่ยมด้วยคุณภาพ ด้วยมาตรการได้แก่ 1) ส่งเสริมสถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษา 2) ดูแลสุขภาพกายและใจตั้งแต่อยู่ในครรภ์ 3) ศูนย์เด็กเล็กใกล้บ้านรับเด็กอายุน้อยลง ชุมชนช่วยจัดการ 4) พัฒนาทักษะชีวิตและวิชาชีพสอดคล้องกับบริบทสังคม 5) ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต
  2. สร้างพลังผู้สูงอายุ ผ่อนหนักให้เป็นเบา พลิกวิกฤตทางประชากรให้เป็นโอกาส ด้วยมาตรการได้แก่ 1) ป้องกันโรคมากกว่าการรักษา เสริมพฤติกรรมที่พึงประสงค์ 2) ขยายโอกาสทางเศรษฐกิจให้ผู้สูงอายุ 3) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน 4) ส่งเสริมให้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อกิจวัตรประจำวัน 5) เชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้สูงอายุ
  3. เพิ่มโอกาสและสร้างเสริมคุณค่าของคนพิการ ด้วยมาตรการได้แก่ 1) เพิ่มโอกาสทางการศึกษาสำหรับคนพิการ 2) เข้าถึงสิทธิประโยชน์อย่างครบถ้วน 3) ป้องกันการพิการตั้งแต่กำเนิดและทุกช่วงวัย 4) เสริมสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้คนพิการดำเนินชีวิตได้อย่างอิสระ 5) จัดทำฐานข้อมูลคนพิการเพื่อประโยชน์ในการประกอบอาชีพ
  4. สร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว ด้วยมาตรการได้แก่ 1) พัฒนาระบบสวัสดิการที่เหมาะสมและทั่วถึงโดยรัฐ 2) ชุมชนน่าอยู่สำหรับทุกคน 3) บ้านสำหรับคนทุกช่วงวัย เข้าถึงได้ อยู่อย่างปลอดภัย 4) ส่งเสริมเศรษฐกิจครัวเรือน เข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างเท่าเทียม 5) ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ส่งเสริม Green Economy

นางนันท์นัดดา ฤทธิ์มนตรี ผู้อำนวยการกองพัฒนานโยบายและนวัตกรรมทางสังคม สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (สป.พม.) กล่าวว่า ข้อเสนอเชิงนโยบายดังกล่าวได้ผ่านการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคนโยบาย ภาควิชาการ รวมถึงภาคท้องถิ่น และประชาชน จนได้ออกมาเป็นมาตรการที่มองไปถึงคนทุกช่วงวัย พร้อมกับมีการระบุเอาไว้ถึงบทบาทของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเด็นต่าง ๆ โดยทิศทางของมาตรการทั้งหมดนี้ ยังมีความสอดรับเชื่อมโยงกับประเด็นอื่นๆ ที่ คสช. ได้มีการหารือร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) หรือเรื่องที่ใหญ่มากในขณะนี้อย่างบุหรี่ไฟฟ้า ที่กำลังเป็นภัยคุกคามกับเด็กและเยาวชนไทย อันเป็นทุนมนุษย์ที่สำคัญของประเทศ ซึ่งการสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคตนั้น เป็นสิ่งที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาหนุนเสริมการทำงานเรื่องเหล่านี้ในภาพรวม

นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการ คสช. กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ถือเป็นประเด็นสำคัญที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการพัฒนานโยบายสาธารณะผ่าน “มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” อาทิ มติ 15.3 หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ที่มุ่งแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงทางรายได้ของประชาชนในระยะยาว หรือ มติ 16.3 การส่งเสริมการพัฒนาประชากรให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ ที่มุ่งพัฒนาเด็กให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ พร้อมสนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีบุตร เป็นต้น ซึ่งสอดรับกับทิศทางข้อเสนอเชิงนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร