กรมควบคุมโรค ชี้ช่วงนี้ฝนตกชุกทำให้เกิดน้ำขังในหลายพื้นที่ ห่วงสถานการณ์ไข้เลือดออกในช่วงสงกรานต์ เผยปีนี้กลุ่มเด็กวัยเรียนและวัยรุ่นเสียชีวิตร้อยละ 67
กรมควบคุมโรค ชี้จากสภาพอากาศช่วงก่อนสงกรานต์ปีนี้มีฝนตกชุกในหลายพื้นที่ ทำให้มีน้ำขังในภาชนะต่างๆ ทำให้แหล่งเพาะพันธุ์ยุงเพิ่มขึ้น แนะสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงรอบบ้าน ป้องกันไม่ให้สงกรานต์นี้มีผู้ป่วยไข้เลือดออก เผยปีนี้กลุ่มเด็กวัยเรียนและวัยรุ่นเสียชีวิตร้อยละ 67
วันนี้ (10 เมษายน 2561) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สภาพอากาศในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีพายุฤดูร้อน ฝนตกชุกเป็นระยะ ก่อให้เกิดน้ำขังในภาชนะต่างๆ ทำให้ยุงลายสามารถแพร่พันธุ์ได้มากขึ้น สถานการณ์โรคไข้เลือดออกของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 3 เม.ย. 61 พบว่าช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นประมาณ 600 ราย ทำให้ขณะนี้มีผู้ป่วยแล้ว 5,868 ราย เสียชีวิต 9 ราย พบผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเด็กวัยเรียนและวัยรุ่นอายุ 10 – 24 ปี จำนวน 6 ราย (ร้อยละ 67) ปีนี้มีผู้ป่วยลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในผู้ป่วยมีแนวโน้มสูงขึ้น ล่าสุดในสัปดาห์นี้ได้รับรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ราย
จากข้อมูลกรมควบคุมโรค โดยสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทุกแห่งทั่วประเทศ ที่ได้ดำเนินการสำรวจดัชนีลูกน้ำยุงลาย พบว่า ดัชนีลูกน้ำยุงลายในชุมชน โดยเฉพาะตามที่พักอาศัยยังพบลูกน้ำยุงลายสูงมาก แม้จะยังไม่เข้าสู่ฤดูฝน โดยพบลูกน้ำตามถังใส่น้ำในห้องน้ำ แจกัน ภาชนะรองน้ำ เป็นต้น ขอให้ประชาชนใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิดหรือปล่อยปลากินลูกน้ำ ป้องกันยุงลายไปวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ขอให้ประชาชนระมัดระวังเรื่องการเล่นน้ำ หลังจากเล่นน้ำเสร็จ ขอให้คนในครอบครัวร่วมกันตรวจสอบภาชนะ หรือสิ่งของที่มีน้ำขังรอบบ้าน หากมีพบน้ำขังหรือ มีลูกน้ำยุงลายให้คว่ำทันที หากประชาชนหรือพบคนใกล้ชิด โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว มีอาการสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เช่น ไข้สูงมากโดยฉับพลัน ปวดเมื่อย หน้าตาแดง อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขา ข้อพับ ถ้ามีไข้สูง 2-3 วันไม่หายหรือไม่ดีขึ้น ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัย หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422