ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัญหาความยากจน และการขาดความรู้ความเข้าใจในการดูแลรักษาสุขภาพ เป็นปัญหาหนึ่งของกลุ่มผู้สูงอายุของประเทศไทย โดยเฉพาะผู้สูงวัยในชุมชนต่างๆ ที่ประสบปัญหาด้านสุขภาพ
หนึ่งในหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวคืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า อสม. ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชน ผ่านกระบวนการอบรมให้ความรู้จากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และการปฏิบัติงานด้วยความเป็นจิตอาสา อสม. จึงนับเป็นกำลังสำคัญจากภาคประชาชนที่มาทำงานร่วมกับบุคลากรสาธารณสุขอย่างแข็งขัน
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาอาจยังพบข้อจำกัดในการทำงานของ อสม. อยู่บ้างตามขีดความสามารถเฉพาะบุคคล ซึ่งกระบวนการเสริมสร้างบทบาท อสม. ให้มีศักยภาพในด้านต่างๆ อย่างเหมาะสมกับบริบทของชุมชนพื้นที่นั้นๆ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการทำงานของ อสม. ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ล่าสุดจึงมีโครงการเพื่อพัฒนาและยกระดับความรู้ความสามารถของ อสม.ภายใต้แนวคิด “การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม” ขึ้น
พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ ผู้จัดการสำนักจัดการงานวิจัยและประสานโครงการ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า แนวคิด “การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม” หรือ “Participation Action Research” เป็นการทำงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยก้าวข้ามความต่าง และมองหาจุดแข็งของกันและกัน เป็นต้นทุนในการพัฒนางานวิจัยให้สามารถนำความรู้ไปสู่การพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน ตลอดจนการดูแลฟื้นฟูสุขภาพกลุ่มประชากรเปราะบาง รวมทั้งเป็นกรอบการสร้างและยกระดับศักยภาพของ อสม. ซึ่งเป็นกระบวนการวิจัยเกิดจากการมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่
ตัวอย่างของชุมชนที่ อสม. ได้ลงพื้นที่วิจัยแล้วคือ ชุมชนฮ่องห้า (หมู่ 1,6,7,8) ต.น้ำโจ้ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง เป็นหนึ่งในอีกหลายพื้นที่วิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมใน “โครงการพัฒนาเครือข่ายบริการสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านและกลุ่มติดเตียงฯ” โดยการสนับสนุนจาก สวรส. อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ฮ่องห้า มีประชากรรวม 3,183 คน มีประชากรวัย 60 ปีขึ้นไปถึง 859 คน หรือร้อยละ 27 โดยพบว่ามีผู้สูงวัยที่มีภาวะพึ่งพิงจากการป่วยติดบ้าน 50 คน และป่วยติดเตียง 12 คน ทั้งนี้ปัญหาสำคัญพบว่า ผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงบางรายไม่มีคนดูแล บางรายขาดการเข้ารับบริการที่ต่อเนื่อง ทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากแผลกดทับ ข้อติด การหกล้ม ฯลฯ
นางสุมิตรา วิชา นักวิจัยเครือข่าย สวรส. สังกัดวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครลำปาง กล่าวว่า เพื่อการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ทีมวิจัยจึงมีการพัฒนาระบบเครือข่ายบริการฯ ด้วยรูปแบบของการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม โดยประสานการทำงานจากภาคีต่างๆ ได้แก่ 1.ภาคีบริการสุขภาพ เช่น สหวิชาชีพ จาก รพ.สต.ฮ่องห้า รพ.แม่ทะ 2.ภาคีบริการชุมชน/ท้องถิ่น เช่น อสม. เทศบาล ผู้นำชุมชน ชมรมจิตอาสา และ 3.ภาคีบริการสังคม เช่น พัฒนาสังคมจังหวัด ครูจากโรงเรียนในพื้นที่ เป็นต้น ร่วมดำเนินงานดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งตลอดระยะเวลา 1 ปี ได้มีการพัฒนารูปแบบเครือข่ายบริการสุขภาพผู้สูงอายุติดบ้าน/ติดเตียงต่างๆขึ้น
นอกจากนั้นยังมีโครงการการพัฒนารูปแบบการจัดการสุขภาพของผู้สูงอายุไทยมลายูที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนในวิถีแห่งวัฒนธรรมในภาคใต้ของไทย” โดยการสนับสนุนจาก สวรส. เป็นอีกพื้นที่ศึกษาในชุมชนบ้านควน (หมู่ 1,4) ต.บ้านควน อ.เมือง จ.สตูล โดยการมีการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง 33 ราย ผู้ดูแล 33 ราย และ อสม.ที่มีส่วนร่วมในการดูแลผู้สูงอายุ 45 ราย ปัญหาสำคัญในการควบคุมและการจัดการสุขภาพของผู้สูงอายุ เชื่อว่าเกิดจากวิถีชีวิตและวัฒนธรรมความเชื่อ เช่น ประเพณีกินนูหรีที่จะมีการจัดเลี้ยงตลอดปี ส่วนใหญ่จะจัดเป็นอาหารหวาน มัน เค็ม มาเลี้ยงผู้ร่วมงานในชุมชนเป็นหลัก เช่น แกงกะทิเนื้อ แกงมัสมั่น ขนมหวาน น้ำชาหวาน เป็นต้น ส่งผลต่อการสะสมจนเกิดโรคความดันโลหิตสูง หรือผู้ป่วยบางรายพยายามเลี่ยงอาหารตามที่แพทย์บอก แต่ก็พบว่าไม่สามารถบังคับตนเองได้ อีกทั้งไม่มีเมนูอาหารที่ปลอดความหวาน มัน ให้เลือก รวมถึงผู้ป่วยบางรายหยุดกินยาเองเพราะคิดว่าไม่มีอาการจากโรคแล้ว และบางรายเชื่อว่าการเกิดโรคเป็นบททดสอบของพระผู้เป็นเจ้า เป็นต้น
ดร.วิไล อุดมพิทยสรรพ์ นักวิจัยเครือข่าย สวรส. สังกัดวิทยาลัยพยาบาลบรมราชนนี ยะลา กล่าวว่า เนื่องจากโรคความดันโลหิตเป็นภัยเงียบที่อาจเกิดภาวะเส้นเลือดตีบ แตก ตัน ในผู้ป่วยได้ทุกช่วงนาที การสื่อสารกับผู้ป่วยในชุมชนโดย อสม. จึงมีความสำคัญสำหรับการแก้ไขปัญหาโรคเรื้อรัง เพราะ อสม. มีความเข้าใจในขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม และการอยู่ร่วมกันกับผู้ป่วยและญาติ ทีมวิจัยจึงได้จัดทำนวัตกรรมการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชน ได้แก่ ปฏิทินเตือนใจให้กินยาของผู้สูงอายุที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งในปฏิทินจะมีตลับยาที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีการกินยาได้อย่างสม่ำเสมอ ช่วยลดปัญหาการลืมกินยาหรือหยุดใช้ยาเองของผู้ป่วย การทำแบบบันทึกการติดตามสำหรับผู้ป่วยและผู้ดูแลหรือ อสม. การจัดทำคู่มือ 2 ภาษาไทย-มลายู สำหรับให้ความรู้กับชุมชนที่ใช้ได้ทั้งไทยพุทธและไทยมลายู เช่น การสร้างความเชื่อที่ไม่ขัดหลักศาสนาในการปรุงอาหารให้หวาน มัน เค็ม ลดน้อยลง และเพิ่มอาหารการกินมาเป็นประเภทต้ม นึ่ง ย่าง ตลอดจนการฝึกบริหารร่างกายด้วยตนเองเพื่อสร้างภูมิร่างกายป้องกันจากภาวะโรคแทรกซ้อน ทั้งนี้ อสม. ได้มีการรายงานผลต่อ รพ.สต. เพื่อประเมินอาการคนไข้ทุกสัปดาห์ โดยพบว่า ผู้ป่วยเริ่มมีพฤติกรรมการกินอาหารตามคำแนะนำ และกินยาต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง ส่วนในรายที่ประเมินแล้วมีอาการไม่ดีขึ้น จะประสาน รพ.สต. เข้ามาดูแล
โครงการวิจัยพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นผู้จัดการรายกรณีในการดูแลคนพิการสูงอายุในชุมชน” โดยการสนับสนุนจาก สวรส. เป็นอีก 1 ตัวอย่างงานวิจัยเชิงปฏิบัติแบบมีส่วนร่วม บนแนวคิดเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ สำหรับการพัฒนาสมรรถนะ อสม. ใน ต.นาเคียน ให้สามารถทำหน้าที่เป็นผู้จัดการรายกรณี และมีรูปแบบการให้การดูแลคนพิการสูงอายุในชุมชน
นางวรัญญา จิตรบรรทัด นักวิจัยเครือข่าย สวรส. สังกัดวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครศรีธรรมราช เล่าว่า ในพื้นที่ตำบลนาเคียน มีประชากร 12,717 คน มีคนพิการรวมทุกประเภท 305 คน เป็นคนพิการสูงอายุช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 50 คน ปัญหาสำคัญ พบว่า หลังจากผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล ผู้ป่วยส่วนหนึ่งขาดการดูแลรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพที่ต่อเนื่อง มีต้นทุนด้านค่าใช้จ่ายทำให้บางครอบครัวไม่สามารถพาผู้ป่วยไปตามนัดแพทย์หรือนักกายภาพได้ ดังนั้น การที่จะดูแลคนพิการในกลุ่มผู้สูงอายุให้ได้ผลดีในระยะยาว คือการได้รับความร่วมมือจากชุมชน โดยเฉพาะ อสม. ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ที่จะปฏิบัติหน้าที่และเป็นตัวแทนของหน่วยบริการสุขภาพที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน ที่ควรได้รับการพัฒนาศักยภาพ ให้เป็นผู้ดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่อย่างเป็นระบบ
ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพ อสม. เป็นผู้จัดการรายกรณีในการดูแลคนพิการสูงอายุในชุมชนขึ้น โดยมีการระดมผู้แทน รพ.สต.บ้านเหมืองหัวทะเล รพ.สต.บ้านทุ่งโหนด อบต.นาเคียน อสม. รวมทั้งคนพิการและผู้ดูแล มาร่วมพัฒนาหลักสูตรที่ผ่านการปรับปรุงจากผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีระยะเวลาการอบรม 14 สัปดาห์ : 84 ชั่วโมง เป็นภาคทฤษฎี 12 ชั่วโมง และภาคปฏิบัติ 72 ชั่วโมง เช่น ความรู้พื้นฐานในสิทธิคนพิการสูงอายุ การประเมินแผลกดทับ การเคลื่อนไหว ภาวะโภชนาการ สุขภาพช่องปาก ตลอดจนการอบรมด้านการเป็นผู้นำ เป็นต้น ปัจจุบัน ต.นาเคียน มี อสม. ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรรวม 27 ราย จาก 9 หมู่บ้านๆ ละ 3 คน จากนั้น มีการสร้างรูปแบบการจัดการรายกรณี ในการลงพื้นที่ฟื้นฟูคนพิการสูงอายุในชุมชน สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ในทุกวันพุธ ประกอบด้วย อสม.รายกรณีในการดูแลคนพิการสูงอายุ นักกายภาพบำบัด พยาบาลวิชาชีพ โดย อสม.จะมีสมุดบันทึกการเยี่ยมผู้สูงอายุ เพื่อให้ อสม. ได้บันทึกสัญญาณชีพ ประเมินสุขภาพจากที่ได้รับการอบรมมา เพื่อรายงานต่อ รพ.สต. ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการติดตามอาการ หรือวางแผนการส่งต่อ ผลจากการร่วมติดตามการทำงานของ อสม. ตลอดระยะเวลา 10 สัปดาห์ ของทีมวิจัย พบว่า การทำงานติดตามคนพิการสูงอายุในพื้นที่ ต.นาเคียน มีรูปแบบการจัดการที่เป็นรูปธรรม โดยใน 1 สัปดาห์ จะมีนักกายภาพลงพื้นที่ร่วมกับ อสม. ตามการแบ่งเวรไปเยี่ยมเยือน บางครัวเรือนก็นำรถมารับเจ้าหน้าที่ถึง รพ.สต. ผลลัพธ์สะท้อนกลับมาด้วยรอยยิ้ม ทุกสัปดาห์ญาติผู้ป่วยต่างเฝ้ารอทีม อสม. เตรียมน้ำเตรียมอาหารต้อนรับ จนเกิดความสนิทสนมเหมือนเป็นญาติกัน ปัจจุบัน ทีมวิจัย สวรส. ได้มีการนำหลักสูตรการพัฒนา อสม. และรูปธรรมความสำเร็จจากการดำเนินงานในพื้นที่ ต.นาเคียน เสนอต่อสำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพ เขต11 นครศรีธรรมราช เพื่อพิจารณานำหลักสูตรและรูปแบบการดำเนินงานไปขยายผลในชุมชนอื่นๆ ต่อไป
ความสำคัญของการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม จากทั้ง 3 พื้นที่กรณีศึกษา นับเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุพิการ และผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง โดยการมีส่วนร่วมของ อสม. และเพิ่มศักยภาพ อสม. ในการเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการเพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบบริการปฐมภูมิดีมากยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญของการทำหน้าที่ อสม. เกิดขึ้นจากการมีจิตอาสา รวมทั้งเป็นรูปแบบการดูแลสุขภาพที่ต่อเนื่อง ละเอียดอ่อน และเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ อันจะนำไปสู่การพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพชุมชนที่เข้มแข็งได้ต่อไป