หน้าแรกHeadlineนักวิชาการวิศวะมหิดล ชี้ 9 ข้อเสนอแนะ บทเรียนไฟไหม้...ระวังภัยหม้อแปลงไฟฟ้า

นักวิชาการวิศวะมหิดล ชี้ 9 ข้อเสนอแนะ บทเรียนไฟไหม้…ระวังภัยหม้อแปลงไฟฟ้า

Published on

หลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้หม้อแปลงไฟฟ้าระเบิด ณ อาคาร 3 ชั้น ย่านสำเพ็ง ถนนราชวงศ์ มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บนับสิบ ไฟไหม้อาคารและรถเสียหาย เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิสูจน์หลักฐานหาสาเหตุนั้น

อีกไม่กี่วันต่อมายังเกิดเหตุระทึกประกายไฟลัดวงจรหม้อแปลงไฟฟ้าใหญ่กว่าตัวเดิมที่ปากซอยวานิช 1 ซึ่งอยู่ห่างจากที่เดิม 50 เมตร แม้จะไม่มีผู้บาดเจ็บ แต่เกิดคำถามจากประชาชนว่า ทำอย่างไรจะให้หม้อแปลงไฟฟ้าที่มีอยู่ทั่วเมืองนั้นอยู่กับเราได้อย่างมั่นคงปลอดภัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ดร.สุพรรณ ทิพย์ทิพากร หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า วิศวะมหิดล เผย 9 ข้อเสนอแนะแก้ไขแก่หน่วยงาน และ 6 ข้อแนะนำแก่ประชาชนที่อยู่ใกล้หม้อแปลงไฟฟ้า

ในประเทศไทยใช้ หม้อแปลงไฟฟ้า (Transformer) เพื่อทำหน้าที่แปลงแรงดันไฟฟ้าแรงสูงให้เป็นแรงดันไฟฟ้าสำหรับการใช้งานในครัวเรือน 2 แบบ คือ 1) แรงดันไฟฟ้าแบบ 3 เฟส (Three – Phase Transformer) วัดแรงดันไฟฟ้าระหว่างเส้นที่มีไฟอยู่ที่ 380 โวลต์ และ 2) แรงดันไฟฟ้า 1 เฟส (Single – Phase Transformer) มีแรงดันไฟฟ้า 220 โวลต์ ขนาดหม้อแปลงใหญ่เล็กแตกต่างกันไปสังเกตได้ที่ตัวเลขที่ติดไว้ด้านหน้าของหม้อแปลงเช่น ตัวเลข 500 จะหมายถึงพิกัด 500 เควีเอ (kVA) หรือ 500,000 วัตต์(ทางกระแสสลับ)

ดร.สุพรรณ ทิพย์ทิพากร หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ทุกบ้านทุกเมืองทั่วไทยและทั่วโลกจนถึงทุกธุรกิจอุตสาหกรรมต่างก็หล่อเลี้ยงด้วยพลังงานไฟฟ้า โดยหม้อแปลงไฟฟ้า (Transformer) นับเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ทำหน้าที่แปลงแรงดันหรือศักดาไฟฟ้าโดยทำหน้าที่เพิ่มหรือลด (Step up / Step down) ปรับแรงดันสูงมาเป็นแรงดันต่ำหรือเปลี่ยนแรงดันต่ำให้เป็นแรงดันสูงให้เหมาะสม เพื่อแจกจ่ายพลังงานไฟฟ้าไปสู่บ้านเรือนของประชาชน

โดยทั่วไปลักษณะหม้อแปลงมี 2 แบบ คือ 1. ระบายความร้อนแบบชนิดแห้ง (Dry Type) และ 2. ระบายความร้อนแบบใช้น้ำมัน (Oil Type) มีครีบระบายความร้อนรอบนอกตัวถัง ซึ่งภายในจะมีถังขนาดใหญ่บรรจุน้ำมัน โดยยังแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยคือ ชนิดน้ำมันติดไฟได้ ทำจาก Mineral Oil และ ชนิดติดไฟยาก (Less Flammable) มีขดลวดทองแดง (Winding) 2 – 3 ขดขึ้นกับจำนวนเฟสที่ใช้งาน

หม้อแปลงที่ติดตั้งนอกอาคารมักจะเป็นแบบใช้น้ำมันซึ่งมีราคาถูกกว่า เนื่องจากหม้อแปลงไฟฟ้าต้องทำงานตลอดเวลาจึงจำเป็นต้องมี “น้ำมันหม้อแปลง” คอยทำหน้าที่เป็นฉนวน ป้องกันไม่ให้ขดลวดมาชนกันจนเกิดการลัดวงจรไฟฟ้า และยังเป็นตัวช่วยระบายความร้อนภายในหม้อแปลง ปัจจุบันทั่วกรุงเทพและปริมณฑลมีหม้อแปลงไฟฟ้าระบบใช้น้ำมันหลายหมื่นลูก โดย 154 ลูกอยู่ในกรุงเทพชั้นใน

หม้อแปลงไฟฟ้าจะเสื่อมประสิทธิภาพไปตามอายุและการใช้งาน โดยเฉพาะช่วงหน้าร้อนที่ประชาชนมีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากกว่าปกติ อาจเกินกำลังของหม้อแปลงไฟฟ้า (Overload) ยิ่งทำให้เกิดความร้อนสะสมและมีแรงดันภายในหม้อแปลงสูงเกินไป กลไกระบบรักษาความปลอดภัยจะปล่อยแก๊สและของเหลวออกมา ซึ่งเสี่ยงที่จะเกิดไฟลุกไหม้เมื่อทำปฏิกิริยากับออกซิเจนที่อยู่ในอากาศภายนอก

ดร.สุพรรณ ยังได้เสนอ 9 ข้อเสนอแนะทางวิศวกรรมแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยจากหม้อแปลงไฟฟ้า ที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ดังนี้

1. ควรเปลี่ยนเป็นหม้อแปลงไฟฟ้าระบบ Dry Type ซึ่งปัจจุบันมีนวัตกรรมใหม่สามารถติดตั้งนอกอาคารบนนั่งร้านได้ แม้ราคาจะสูงกว่าหม้อแปลงไฟฟ้าระบบน้ำมัน แต่มีความปลอดภัยและคุ้มค่ากับการลงทุนในระยะยาว

2. ในพื้นที่ซึ่งมีความหนาแน่นของชุมชน การติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าที่ใกล้กับผนังอาคารสิ่งปลูกสร้างมากเกินไป ควรมีการติดตั้ง “แผ่นกั้นกันไฟ” ที่จะเข้าสู่อาคารจากเหตุหม้อแปลงระเบิดหรือไฟลุกไหม้ และไม่ควรใช้หม้อแปลงขนาดใหญ่เกินกว่า 250 kVA เพื่อลดความรุนแรงหากเกิดการระเบิดของหม้อแปลง

3. หม้อแปลงไฟฟ้าที่มีอายุเกิน 20 ปี ควรได้รับการบำรุงรักษาที่เร็วกว่ากำหนดและตรวจสอบเป็นพิเศษ ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีการดูแลปีละ 1 ครั้ง แม้อายุการใช้งานของหม้อแปลงจะกำหนดอยู่ที่ราว 25 ปี ก็ควรปลดระวางการใช้งาน “ก่อน”นั้น

4. ควรมีการเปลี่ยนน้ำมันหม้อแปลงเป็นระยะ ซี่งน้ำมันหม้อแปลงใช้เป็นฉนวนป้องกันการลัดวงจรภายในหม้อแปลงไฟฟ้าและเป็นตัวช่วยถ่ายเทระบายความร้อนระหว่างขดลวดภายในหม้อแปลงกับอากาศภายนอก น้ำมันซึ่งเมื่อเจอความร้อนสะสมเป็นเวลานานจะเกิดการเสื่อมสภาพ ทำให้ประสิทธิภาพในการเป็นฉนวนและถ่ายเทระบายความร้อนลดลงไป

5. พัฒนา “ระบบเครือข่ายควบคุมอัจฉริยะและรายงานความปลอดภัยได้ 24 ชม.” โดยทุกหม้อแปลงติดตั้ง Sensorตรวจวัดอุณหภูมิของขดลวดและคุณสมบัติภายในของหม้อแปลงแบบเรียลไทม์ (Real Time) ประยุกต์เทคโนโลยีเครือข่ายอินเตอร์เน็ตออฟธิงส์ (IoT) เพื่อส่งข้อมูลไปยังศูนย์ควบคุมของการไฟฟ้านครหลวง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแจ้งประชาชนบริเวณใกล้เคียงผ่านโทรศัพท์มือถือและเสียงไซเรนเตือนภัยที่หม้อแปลงได้ทันเวลา

6. ไม่ควรใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้าเต็มพิกัดกำลัง มาตรฐานควรอยู่ราว 80% เช่น หม้อแปลงไฟฟ้าขนาด 500 kVA ควรใช้งานเพียง 400 kVA เพื่อความปลอดภัย

7. ควรกั้นรั้วหรือทาสีบริเวณพื้นและติดป้ายเตือนไม่ให้หาบเร่แผงลอยหรือประชาชนอยู่ใกล้หรือจอดรถบริเวณที่มีการติดตั้งหม้อแปลง และแสดงเบอร์โทรสายด่วนเพื่อติดต่อแจ้งเหตุต่อการไฟฟ้าอย่างชัดเจนติดอยู่ที่หม้อแปลง

8. ระมัดระวังไม่ให้สายสื่อสารหรือสายไฟอื่นๆ ใกล้หม้อแปลงไฟฟ้าซึ่งอาจเป็นเชื้อเพลิงให้เกิดการลุกลามได้ ส่วนในการดับเพลิงจากเหตุน้ำมันหม้อแปลง ควรใช้ชนิดสารเคมีในการดับเพราะหากใช้น้ำจะทำให้เพลิงยิ่งรุนแรงขึ้น

9. ควรนำสายสื่อสารและระบบไฟฟ้าลงดินโดยเริ่มจากย่านธุรกิจ ชุมชนใจกลางเมืองที่มีประชาชนอาศัยหนาแน่น

ดร.สุพรรณ ทิพย์ทิพากร

ส่วน 6 ข้อแนะนำลดความเสี่ยงสำหรับประชาชนที่อยู่ใกล้กับหม้อแปลงไฟฟ้า มีดังนี้

1. ควรปิดประตู หน้าต่าง ด้านที่อยู่ติดกับหม้อแปลงไฟฟ้า และติดตั้งวัสดุป้องกันไฟไหม้

2. อาคารร้านค้าควรติดตั้งระบบดับเพลิงที่ใช้สารเคมีที่ใช้ดับไฟจากไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานและตรวจสอบความพร้อมใช้งานเสมอ

3. หมั่นสังเกตหม้อแปลงไฟฟ้าหากมีความผิดปกติ หรือควันลอยออกจากหม้อแปลงไฟฟ้า ให้แจ้งการไฟฟ้าด่วน

4. ไม่ควรทำกิจกรรมหรือจอดรถใกล้กับบริเวณที่มีหม้อแปลงไฟฟ้า

5. จัดอบรมและซักซ้อมการอพยพหนีไฟในชุมชนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้ตื่นตระหนก ปฏิบัติถูกต้อง และลดการสูญเสีย

6. เจ้าของอาคารบ้านเรือนควรพิจารณากรมธรรม์ประกันอัคคีภัยเพื่อคุ้มครองเหตุอันคาดไม่ถึง

Latest articles

ผลงานเก๋ไก๋ เดินไปยิ้มไป คราฟต์ไทยร่วมสมัย Crafts Bangkok 2025

ของบางอย่างแค่ได้ชมก็ชื่นใจ วันนี้จึงยากชวนไปเดินชมงานนี้ “Crafts Bangkok 2025” งานที่รวบรวมไอเดียเก๋ไก๋จากศิลปินไทย ในเส้นทางของศิลปหัตถกรรมไทยร่วมสมัย บอกได้เลยว่างานนี้ เดินไป ยิ้มไป อย่างแน่นอน

“พิชัย” เปิดงาน “Crafts Bangkok 2025” หนุน SACIT ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางหัตถกรรมแห่งอาเซียน

กระทรวงพาณิชย์ โดยสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ SACIT เดินหน้ายกระดับศิลปหัตถกรรมไทยสู่เวทีสากล เปิดตัวงาน “Crafts Bangkok 2025” อย่างยิ่งใหญ่ มุ่งผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางหัตถกรรมแห่งอาเซียน ผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ากับดีไซน์ร่วมสมัยและนวัตกรรม สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่...

ละมุนแบบหนุ่มเชียงราย ร้านอาหารเหนือรสเข้มข้นมีสไตล์ ที่ “ครัวเม็งราย”

อาหารเหนือก็มีศิลปะการทำอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ นำมาซึ่งรสชาติ รสสัมผัส รวมทั้งกลิ่นหอมจากเครื่องสมุนไพรเฉพาะถิ่น หลายเมนูเป็นที่ถูกอกถูกใจของคนทุกภาค

vivo จับมือ UNESCO – วารสารศาสตร์ มธ. ปั้น โครงการ vivo Academy Capture the Future

vivo ประกาศความร่วมมือ กับองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดตัวโครงการ “vivo Academy Capture the Future” กิจกรรมบูทแคมป์ถ่ายภาพเพื่อพัฒนาทักษะและต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ให้แก่เหล่าเยาวชน

More like this