EF: Executive Functions ปรับพฤติกรรม ฝึกทักษะสมอง พัฒนาสมาธิเด็ก

51

การคิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น และปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข คือการฝึกทักษะสมองสำคัญที่เรียกว่า EF หรือ Executive Functions คือ ทักษะการบริหารจัดการตนเองขั้นสูง เป็นกระบวนการทางความคิดระดับสูงของสมองส่วนหน้าที่มีความเกี่ยวข้องกับความคิด ความรู้สึก และการกระทำ

โดยช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการพัฒนาทักษะ EF คืออายุ 3 – 6 ขวบ เพราะสมองส่วนหน้าพัฒนาได้มากที่สุด ซึ่งช่วยให้เด็กเติบโตได้อย่างมีคุณภาพและนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิต โดยเฉพาะเด็กที่มีปัญหาทางด้านสมาธิ หากไม่ได้รับการฝึกฝนอย่างถูกต้องอาจทำให้มีปัญหาด้านพฤติกรรมการใช้ชีวิต การเรียน และการเข้าสังคมในอนาคตได้ การฝึกทักษะสมองจึงเป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย

พญ.มัณฑนา ชลานันต์

พญ.มัณฑนา ชลานันต์ กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวถึง การใช้หลักพัฒนาสมองลูกรักอย่าง EF หรือ Executive Functions การบริหารจัดการตนเอง เพื่อฝึกทักษะสมอง พัฒนาสมาธิมีทั้งหมด 9 ด้าน ได้แก่ ทักษะพื้นฐาน (Basic) จำนวน 3 ด้าน และทักษะขั้นสูง (Advance) จำนวน 6 ด้าน

ทักษะพื้นฐาน (Basic) ประกอบด้วย 1) Working Memory (ความจำเพื่อใช้งาน) คือ ความสามารถในการเก็บข้อมูลเพื่อประมวลผลและดึงข้อมูลที่เก็บในคลังสมองออกมาใช้ในสถานการณ์ที่ต้องการ 2) Inhibitory Control (ยั้งคิด ไตร่ตรอง) คือ ความสามารถในการยั้งคิดไตร่ตรอง สามารถควบคุมความต้องการ หยุดคิดก่อนที่จะทำหรือพูดได้ 3) Shifting หรือ Cognitive Flexibility (ยืดหยุ่นความคิด) คือ ความสามารถในการยืดหยุ่นทางความคิด ร่วมแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน รู้จักพลิกแพลงและปรับตัว เป็นจุดเริ่มต้นของการมีความคิดสร้างสรรค์และคิดนอกกรอบ

และทักษะขั้นสูง (Advance) ประกอบไปด้วย 4) Focus หรือ Attention (จดจ่อ ใส่ใจ) คือ ความสามารถในการใส่ใจจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาหนึ่งๆ โดยไม่วอกแวก รู้จักการทำงานให้เสร็จเป็นอย่าง ๆ ไป 5) Emotional Control (ควบคุมอารมณ์) คือ ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จัดการกับอารมณ์ตนเองไม่ให้รบกวนผู้อื่น ไม่โกรธเกรี้ยว ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่ายเกินไป รู้จักแสดงอารมณ์อย่างถูกวิธี

6) Self – Monitoring (ติดตาม ประเมินตนเอง) คือ การประเมินตนเองเพื่อหาจุดบกพร่องแล้วนำมาแก้ไขและพัฒนาให้ดีขึ้น รู้จักไตร่ตรองว่าตัวเองทำอะไร รู้ว่าตัวเองทำอะไร และรู้ว่าใกล้จะเสร็จหรือเรียบร้อยแล้ว 7) Initiating (ริเริ่มและลงมือทำ) คือ ความสามารถในการริเริ่มและลงมือทำ กล้าคิดกล้าทำ ลงมือทำทันที ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง

8) Planning and Organizing (วางแผน จัดระบบ ดำเนินการ) คือ การวางแผนจัดการตนเองอย่างเป็นขั้นตอน ดำเนินการตั้งแต่วางเป้าหมาย มองเห็นภาพรวม รู้จักจัดลำดับความสำคัญ จัดระบบ ดำเนินการ และประเมินผล 9) Goal – Directed Persistence (มุ่งเป้าหมาย) คือ การวางเป้าหมายที่ชัดเจน มีความพากเพียรและความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมาย รู้จักฝ่าฟันอุปสรรค หากล้มต้องรู้จักลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย

ทั้งนี้ทักษะการบริหารจัดการตนเอง ควรเริ่มฝึกตั้งแต่อายุ 3 ขวบขึ้นไป เป็นการปูพื้นฐาน ผู้ปกครองควรใส่ใจให้ลูกมีทักษะการบริหารจัดการตนเองที่ดี โดยในช่วงวัยนี้เป็นช่วงวัยที่มีการเปิดรับการพัฒนาทักษะค่อนข้างสูง จะทำให้เด็กเกิดการบริหารจัดการตนเองที่ดี รวมถึงการควบคุมอารมณ์ การคิด ความจำ การใส่ใจ การแก้ปัญหา การเข้าใจเหตุผล การมีสมาธิ ต่อไปในอนาคต

เครื่องมือทางจิตวิทยาที่นำมาใช้ในการฝึกพัฒนาทักษะ อาทิ การทดสอบโดยใช้ Wisconsin Card Sort Task (WCST) เป็นเครื่องมือที่มีลักษณะรูปร่างต่างกัน 4 แบบ เช่น วงกลม สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม รูปดาว เป็นต้น มีสีต่างกัน มีจำนวนต่างกัน แพทย์จะเป็นผู้กำหนดให้เด็กว่าให้เรียงตามจำนวนที่เหมือนกันหรือเรียงตามรูปทรงหรือสีที่เหมือนกัน ให้ ผู้รับการทดลองมีการปรับเปลี่ยนความคิดเพื่อที่จะจัดการได้ตามโจทย์ที่ให้ไว้

ซึ่ง Wisconsin Card Sort Task (WCST) เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ในการทดสอบ แต่ไม่ใช่เครื่องมือที่จะใช้วัดผลการพัฒนาทักษะได้ทั้งหมด เพราะเครื่องมือที่ใช้วัดผลพัฒนาทักษะมีค่อนข้างหลากหลาย แพทย์จะเลือกใช้เครื่องมือตามกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการพัฒนาเป็นหลัก

ทั้งนี้ เด็กที่มีปัญหาทางด้านทักษะการบริหารจัดการโดยมากจะพบในกลุ่มเด็กที่มีสมาธิสั้น (ADHD – Attention Deficit Hyperactivity Disorder) เนื่องจากเด็กจะมีอาการวอกแวก ไม่อยู่นิ่ง ขาดความรับผิดชอบ ไม่สามารถเก็บรายละเอียดได้ ส่งผลให้ขาดประสิทธิภาพในการเรียนและการใช้ชีวิตในอนาคต

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คลินิกพัฒนาการเด็ก ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร. 02-755-1213 หรือ Call Center โทร.1719