กรมสุขภาพจิตสร้าง“ทางด่วนบริการวัยมัธยม”สายด่วนสุขภาพจิต 1323

50

กรมสุขภาพจิต คาดมีเด็กวัยรุ่นมีปัญหาสุขภาพจิตและมีอารมณ์พฤติกรรมผิดปกติประมาณ 8 แสนคน พัฒนาระบบดูแลวัยเรียนมัธยมก่อนสายเกินแก้ โดยสร้างช่องทางด่วนบริการ 1 โรงหมอ 1 โรงเรียนมัธยมรวม 977 คู่เครือข่าย เพิ่มทักษะครูตรวจคัดกรองหาเด็กที่มีปัญหา ผลดำเนินการรอบ 7 เดือนปีนี้ พบมีปัญหา 13,000 กว่าคน ใช้สิ่งเสพติดมากสุดคือบุหรี่ กระท่อมรวมกว่า 4,000 คน ใช้ความรุนแรง 1,947 คน ตั้งครรภ์ 395 คน ชี้ระบบนี้เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันแก้ไขที่ต้นเหตุได้ดีกว่าต่างคนต่างทำ พร้อมทั้งเปิดบริการให้คำปรึกษาทางแช็ตออนไลน์ทางเฟซบุ้คสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ทุกวัยทุกวันด้วย

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมาตรการดูแลปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มวัยรุ่นอายุ 10-19 ปี ว่า กรมสุขภาพจิตเน้นใช้นโยบายเชิงรุกดูแลเด็กกลุ่มวัยนี้ ซึ่งเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย อารมณ์ สังคม ติดเพื่อน คาดว่าขณะนี้มีวัยรุ่นมีปัญหาสุขภาพจิตและพฤติกรรมในระดับผิดปกติซึ่งเป็นผลพวงมาจากการเลี้ยงดู การปรับตัว ค่านิยมความเชื่อในการใช้ชีวิตต่างๆ ประมาณ 8 แสนคนจากจำนวนเด็กที่มีทั้งหมด ประมาณ 8 ล้านคนทั่วประเทศ หัวใจสำคัญที่สุดคือการเร่งสกัดปัญหาไม่ให้ลุกลามรุนแรงบานปลายจนสายเกินแก้ ทำให้เด็กเสียอนาคต หรือก่อปัญหาสังคมตามมาเป็นต้น โดยในกลุ่มเด็กที่อยู่ในระบบการศึกษาซึ่งมีประมาณ 90% ได้ใช้กลยุทธ์สร้างคู่เครือข่าย 1 โรงพยาบาล 1 โรงเรียนมัธยมหรือโอฮอส ( One Hospital One School : OHOS) ให้ครูและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขบูรณาการให้บริการดูแลเชื่อมต่อกัน ขณะนี้มีทั้งหมด 977 คู่เครือข่ายครอบคลุมทุกอำเภอทั่วประเทศ ในส่วนของเด็กอีกประมาณ10 %ที่อยู่นอกระบบการศึกษา ใช้กลไกตำบลจัดการสุขภาพ มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอสม.ที่ผ่านการอบรมเป็นผู้ดำเนินการหลักในพื้นที่ทุกหมู่บ้าน ชุมชน ซึ่งเด็กที่มีปัญหาจะได้รับการดูแลแก้ไขอย่างทันท่วงที

สำหรับคู่เครือข่ายโอฮอสนั้น กรมสุขภาพจิตได้พัฒนาความรู้และทักษะการดูแลช่วยเหลือตามสภาพปัญหาที่พบ และ สนับสนุนชุดการตรวจคัดกรองหาเด็กที่มีพฤติกรรมและอารมณ์ผิดปกติที่นำไปสู่ความเสี่ยงก่อผลกระทบกับอนาคต ได้แก่เรื่องเพศ การตั้งครรภ์ ความรุนแรง และสารเสพติด โดยจัดช่องทางด่วนบริการดูแลเด็กที่มีปัญหาแบบยืดหยุ่น 2 รูปแบบ คือการร่วมแก้ไขปัญหาเฉพาะรายระหว่างครูกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือที่เรียกว่าการทำเคสคอนเฟอร์เรนซ์ที่โรงเรียน ( Case Conference) และการส่งตรงไปที่คลินิกบริการวัยรุ่น ( Teen Center) ที่โรงพยาบาล โดยไม่ต้องใช้บัตรคิวเหมือนผู้ป่วยทั่วไป เป็นการรักษาความเป็นส่วนบุคคลให้เด็กด้วย วิธีการนี้จะทำให้ครูรู้จักเด็กทุกคน สามารถจัดการดูแลได้อย่างเหมาะสม ระหว่างเด็กปกติ เด็กที่มีพฤติกรรมล่อแหลมเสี่ยงจะเกิดปัญหา และเด็กที่มีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว

“ผลดำเนินงานพบว่าได้ผลดี ในรอบ 7 เดือนปีงบประมาณ 2560 นี้ พบเด็กมีปัญหารวม 13,424 คน หรือประมาณร้อยละ 3 ของเด็กที่ตรวจคัดกรองทั้งหมด โดยจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มี 10,027 คน ปัญหาที่พบอันดับ 1 คือการใช้สารเสพติดจำนวน 4,487 คน โดยเฉพาะบุหรี่และใบกระท่อมซึ่งจะพบมากในแถบภาคใต้ การกระทำรุนแรง 1,947 คนมีทั้งจากครอบครัวและที่โรงเรียน ปัญหาทางเพศอื่นๆเช่นติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ 1,199 คน และตั้งครรภ์ 395 คน โดยส่วนใหญ่ 87% ครูสามารถจัดการแก้ไขโดยการให้คำปรึกษาแนะนำได้ และที่เหลือส่งรักษาที่คลินิกวัยรุ่น 733 คน ส่งหน่วยงานอื่นเช่นพัฒนาสังคมจังหวัดร่วมดูแล730 คน จุดเด่นของการทำงานในลักษณะนี้ ทำให้ทุกฝ่ายรวมทั้งผู้ปกครองเห็นปัญหาชัดเจนขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันแก้ไขที่ต้นเหตุได้ดีกว่าต่างคนต่างทำ เด็กได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที สามารถอยู่ในระบบการศึกษาได้” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

ทางด้านแพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กทม. กล่าวว่า ขณะนี้สถาบันฯได้เพิ่มช่องทางปรึกษาวัยรุ่นรวมทั้งวัยอื่นๆทางข้อความหรือทางการแช็ตออนไลน์ ทางเฟซบุ๊คสายด่วนสุขภาพจิต 1323 โดยจัดผู้เชี่ยวชาญตอบคำถามช่วงเวลา 17.00 น.- 22.00 น.ทุกวันด้วย จากการติดตามประเมินผล ผู้ใช้บริการครึ่งครึ่ง เป็นวัยรุ่น วัยทำงาน ประเด็นที่แช็ตถามมากที่สุดได้แก่ เรื่องความเครียดวิตกกังวล66% รองลงมาคือปัญหาความรัก ปัญหาซึมเศร้า12% เท่ากัน

นอกจากนี้สถาบันฯยังได้จัดทำเกณฑ์การประเมินนักเรียนที่มีปัญหารุนแรงยุ่งยากซับซ้อน ที่จะต้องส่งตรวจรักษาโดยจิตแพทย์ ดังนี้ 1.มีความคิดฆ่าตัวตาย พยายามหรือเคยลงมือฆ่าตัวตาย 2.มีอาการของโรคจิต ได้แก่หูแว่ว เห็นภาพหลอน หวาดระแวง มีความคิดผิดปกติรุนแรง 3.ตั้งครรภ์หรือมีแฟนมีคู่นอนหลายคน 4. ติดสารเสพติด ขายยาเสพติด 5.นักเรียนที่อารมณ์รุนแรง เช่นซึมเศร้า แยกตัว ก้าวร้าว 6.ถูกทารุณกรรมทั้งร่างกายจิตใจ หรือทางเพศ 7.นักเรียนที่ประสบเหตุการณ์รุนแรงในชีวิต เช่นอุบัติเหตุที่มีการสูญเสียรุนแรง และ8 เด็กที่มีปัญหาการเรียนรุนแรงเช่นหนีเรียน เพื่อให้เด็กได้รับการเยียวยาที่เหมาะสมทันท่วงที