WHO เผย โรคมะเร็ง ป้องกันได้

108

โรคมะเร็งราว 30-50% ป้องกันได้ WHO เผยบุหรี่ แอลกอฮอล์ อ้วน น้ำหนักเกิน แวดล้อมที่ทำงาน ปัจจัยสำคัญเกิดโรค

จากนี้ไปดูเหมือนว่าการต่อสู้กับโรคร้ายอย่างโรคมะเร็งจะมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้นในสังคมไทย ที่สำคัญคือ ผู้ป่วยยังมีโอกาสที่จะหายเพิ่มมากกว่าเดิมอีกด้วย ความเคลื่อนไหวล่าสุดที่เห็นได้คือ การพัฒนายาต้านมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันของมนุษย์ ที่เรียกกันว่ายาภูมิต้านทานรักษามะเร็ง หรือยาไบโอโลจิกส์ (Biologics) ซึ่งเป็นการรักษามะเร็งใหม่ล่าสุด เป็นความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานคือ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคาดผู้ป่วยจะใช้ยาชนิดนี้ราวปี 2566 ในราคา 20,000 บาทต่อหลอด จากเดิม 200,000 บาทต่อหลอด

ถ้าเป็นจริงเช่นนั้นในอนาคต ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะจะทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาเพื่อการรักษาเพิ่มมากขึ้น แต่อีกด้าน เงินสองหมี่นบาทกับการรักษา มันเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับคนหาเช้ากินค่ำ หรือมนุษย์เงินอย่างพวกเรา เนื่องจากการรักษามะเร็งแบบที่ว่านี้ คงต้องรักษาอย่างต่อเนื่องถึง 2 ปี เพื่อกำจัดและควบคุมเซลล์มะเร็ง ไม่ใช่ฉีดยาหลอดเดียวแล้วจะหายได้ในครั้งเดียว

ด้วยค่าใช้จ่ายที่สูง การมองหาวิธีป้องกันโรคร้ายนี้ตั้งแต่ต้นน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) บอกว่า ราว 30-50% ของเคสโรคมะเร็งทั้งหมดสามารถป้องกันได้ ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผลในระยะยาวที่จะควบคุมการเกิดขึ้นของโรคมะเร็ง ถ้าเป็นเช่นนั้น เราลองมาดูกันว่า เราจะเลี่ยงหรือปรับอะไรได้บ้างในชีวิตประจำวัน เพื่อไม่ให้โรคร้ายนี้เกิดขึ้นกับชีวิตเรา

• บุหรี่
บุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของก่อเกิดโรคมะเร็ง ในบุหรี่มีสารเคมีมากกว่า 7,000 ชนิด มีอย่างน้อย 250 ชนิดเป็นสารอันตราย และมีมากกว่า 50 ชนิดเป็นสาเหตุก่อโรคมะเร็ง โดยมะเร็งที่เกิดจากการสูบบุหรี่เช่น มะเร็งปอด มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งช่องปาก มะเร็งไต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งปากมดลูก นอกจากนี้ ควันบุรี่ยังเป็นผลกระทบกับคนรอบข้าง เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งปอด สำหรับคนที่ชอบแบบ “การสูบโดยไม่ต้องสูบ” (Smokeless Tobacco) ไม่ว่าจะการเคี้ยวหรือการสูดดมเข้าไป ก็เป็นอันตรายเช่นกัน ไม่ว่าจะก่อเกิดมะเร็งช่องปาก มะเร็งหลอดอาหาร หรือมะเร็งตับอ่อน

• ไม่ออกกำลังกาย เบาหวาน อ้วน และภาวะน้ำหนักเกิน
คนที่ไม่ออกกำลังกาย เป็นโรคเบาหวาน อ้วนและมีภาวะน้ำหนักเกิน จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งมากขึ้น สำหรับคนอ้วนและคนที่มีภาวะน้ำหนักเกิน มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก และมะเร็งไต ดังนั้น หากไม่อยากจะมีความเสี่ยง คงต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะเน้นบริโภคผักและผลไม้มากขึ้น เนื่องจากผักและผลไม้มีสารอาหารป้องกันการก่อเกิดโรคมะเร็งต่างๆ ทั้งยังควรทำควรคู่ไปกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

• เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
การดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุหนึ่งที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็ง อาทิ มะเร็งช่องปาก มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม หากดื่มหนักควบคู่กับการสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งบางชนิดตามมาอีกด้วย

• มลพิษทางสิ่งแวดล้อม
มลพิษทางสิ่งแวดล้อมจะรวมไปถึง อากาศ น้ำและดิน ซึ่งได้ปนเปื้อนสารเคมีที่เป็นสารก่อมะเร็ง อย่างไรก็ตาม จะรับเข้าไปน้อยหรือมากขึ้นอยู่พื้นที่และแวดล้อมนั้นๆ ที่มีการจัดการให้ดีมากน้อยเพียงไร โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศนอกบ้านจะมีสารก่อมะเร็ง ที่ก่อเกิดความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอดได้ นอกจากนี้ สารก่อมะเร็งยังมาจากการปนเปื้อนในอาหารต่างๆ เช่น เชื้อราอะฟลาทอกซิน เป็นต้น

• สารก่อมะเร็งจากการทำงาน
สถานที่ทำงานเป็นสาเหตุหนึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งขึ้นได้ โดยมีการกำหนดค่ามาตรฐานระดับสิ่งคุกคามและระดับสารเคมีในบรรยากาศการทำงานในองค์กรนั้นๆ หากไม่ดำเนินเช่นนั้น จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งชนิดต่างๆตามมาเช่น มะเร็งปอด และมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเราจะเห็นการเอาใจใส่แบบนี้ในประเทศพัฒนาแล้ว สำหรับประเทศไทย ยังดูเหมือนไม่ค่อยเห็นความสำคัญมากนัก แม้บริษัทใหญ่ๆก็ตามที บางออฟฟิศมีทั้งหนูและแมลงสาปวิ่งให้เห็นเป็นเรื่องปกติ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของเชื้อโรค หรือแม้อากาศที่หายใจก็ไม่สะอาดตามมาตรฐาน เนื่องจากไม่ได้ทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศอย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ โรคมะเร็งจะเกิดขึ้นจากการได้รับรังสีต่างๆ ทั้งที่เกิดจากตามธรรมชาติและมนุษย์สร้างขึ้นอีกด้วย เช่น รังสีอัลตราไวโอเลต หรือรังสีจากดวงอาทิตย์ หากได้รับในระดับที่มีความเข้มข้นเป็นเวลานาน จะมีความเสี่ยงก่อเกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว หากผู้ใดไม่อยากจะเป็นโรคมะเร็ง ก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตตนเอง อีกด้าน รัฐบาลก็ควรเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุน เพื่อสร้างจิตสำนึกให้คนดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ โดยส่งเสริมการบริโภคอาหารที่สะอาดและมีคุณค่าทางอาหารตามหลักโภชนาการ และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ข้อมูลที่มา: World Health Organization