แนะ 6 เทคนิคดูแลเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน รับช่วงชื้นแฉะในหน้าฝน

71

เข้าสู่หน้าฝน ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานอาจจะมองข้ามความสะอาดและไม่ค่อยระมัดระวังตัวเอง หากเป็นแผลที่เท้าจากการเดินลุยน้ำ ความอับชื้นที่เกิดขึ้นจากเชื้อโรคที่เท้า ส่งผลให้แผลหายช้าและหายยากมากขึ้น ผู้ป่วยละเลยที่จะไปเข้ารับการรักษา แผลที่เท้าเป็นภาวะแทรกซ้อนสำคัญ อาจนำไปสู่การตัดขาในที่สุด เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานเส้นประสาทที่เท้ามักถูกทำลาย จึงมักไม่รู้สึกเจ็บปวดจากแผล เพราะเท้าชาไม่มีความรู้สึกเหมือนคนปกติ

ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ เผยข้อมูลว่า เบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพและปัญหาหลายระบบในร่างกายไม่ว่าจะ ตา ไต หัวใจ และหลอดเลือด ปัจจัยที่นำไปสู่การตัดขาในผู้ป่วยเบาหวาน คือ ภาวะการขาดเลือดไปเลี้ยงเท้า ความผิดปกติของเส้นประสาทส่วนปลายไปยังบริเวณเท้า การติดเชื้อที่เท้า ภาวะการหายของแผลผิดปกติหรืออุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ทำให้เกิดแผลที่เท้า และเนื่องจากในช่วงฤดูฝนมีฝนตกบ่อย และมีพื้นที่เปียกน้ำและชื้นแฉะทั้งบริเวณบ้านและด้านนอกบ้าน ผู้เป็นเบาหวานอาจเดินเหยียบน้ำโดยไม่ได้ระมัดระวัง บางครั้งเป็นน้ำขังที่สกปรกทำให้เล็บและเท้าเปรอะเปื้อนโดยไม่ได้ดูแลทำความสะอาดและเช็ดเท้าให้แห้งดีพอ สิ่งสกปรกเหล่านี้ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการติดเชื้อและเป็นแผลบริเวณเล็บและเท้าได้ วิธีป้องกัน คือ

  1. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด  การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ดีหรือปกติ  จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่มักเกิดขึ้นกับผู้เป็นเบาหวาน เช่น โรคไต ประสาทตาเสื่อม เส้นประสาทรับความรู้สึกเสื่อม และควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ  อย่างน้อย 3-4 ครั้ง/สัปดาห์ ประมาณ 1 ชั่วโมง  อีกทั้งควรงดการสูบบุหรี่ เพราะจะไปทำลายเส้นเลือด
  2. สวมใส่รองเท้าสบายๆ ควรเลือกใช้รองเท้าที่มีรูปทรงลักษณะเช่นเดียวกับเท้า รองเท้าจะต้องนิ่ม ด้านบนทำด้วยหนัง ไม่คับหรือหลวมจนเกินไป จนเกิดการเสียดสีเป็นแผล  หรือทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก  รองเท้าที่สวมใส่ควรช่วยให้น้ำหนักตัวกระจายลงทั่วๆ เท้าและในช่วงฤดูฝนหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำลุยโคลน หากจำเป็นให้ใส่รองเท้าบู๊ทหรือรองเท้าหุ้มส้นเพื่อป้องกันไม่ให้เท้าเปียกน้ำ
  3. ดูแลรักษาเท้าอย่างดีทุกวัน หมั่นตรวจเท้าดูบริเวณซอกนิ้วเท้า หลังเท้า และฝ่าเท้า เป็นประจำทุกวันว่า มีอาการปวดบวม มีแผล รอยช้ำ ผิวเปลี่ยนสี หรือเม็ดพอง โดยตรวจทั่วทั้งฝ่าเท้า ส้นเท้า หากพบความผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ทันที มีรอยแตกย่นหรือไม่ ถ้าผิวแห้งอาจทำให้คัน หากมีการเกาจะเกิดรอยแตกติดเชื้อได้ง่าย ให้ทาครีมบางๆ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น ไม่ควรเดินเท้าเปล่าเพราะอาจเหยียบของมีคมได้ ซึ่งจะทำให้เกิดแผลที่เท้า
  4. สังเกตเชื้อราที่เล็บ ผู้เป็นเบาหวานมักเกิดเชื้อราที่เล็บได้ง่าย ดังนั้นควรตรวจดูสภาพเล็บอย่างสม่ำเสมอ ถ้าเกิดเชื้อราขึ้นควรไปพบแพทย์หรือทำการรักษา
  5. ล้างเท้า ทำความสะอาดเล็บและเท้าด้วยสบู่อ่อนๆ ธรรมดาและใช้ผ้าซับเท้า โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้าให้แห้ง เพื่อป้องกันการอับชื้นหรือเชื้อรา
  6. ตัดเล็บ ควรตัดเล็บเท้าอย่างสม่ำเสมอ และควรตัดเล็บเท้าลักษณะปลายตรงให้สั้นพอประมาณโดยไม่ตัดเข้ามุมเล็บเพื่อป้องกันการเกิดเล็บขบได้ แต่หากมีเล็บขบควรปรึกษาแพทย์ ในส่วนของผู้เป็นเบาหวานที่เป็นผู้สูงอายุควรมีญาติหรือพยาบาลเฉพาะทางเป็นผู้ตัดเล็บให้ เนื่องจากผู้ป่วยมักมีสายตามัวลง ทำให้ขาดความแม่นยำในการตัดเล็บด้วยตนเอง ซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดแผลที่เล็บและเท้า และเป็นสาเหตุของการสูญเสียอวัยวะส่วนนิ้วและเท้าได้

โรคแทรกซ้อนเหล่านี้อาจป้องกันได้ถ้าได้รับการดูแลเท้าและเล็บเป็นอย่างดี การใส่รองเท้าที่พอเหมาะไม่คับหรือกดจนเกินไป และเมื่อเกิดแผลต้องพยายามอย่าลงน้ำหนักที่แผล วิธีที่ปฏิบัติได้ง่ายๆ คือ การนอนพักอย่าพยายามเดินถ้าไม่จำเป็น ควบคุมน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ และควรงดสูบบุหรี่เพราะบุหรี่มีส่วนสำคัญในการหายช้าของแผล และงดการเดินลุยน้ำโดยไม่ระมัดระวัง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อกรุงเทพ โทร. 02-755-1129-30 หรือ Call Center โทร.1719