“คีรีฟาร์ม” ธุรกิจชุมชนรายได้หลักพัน สู่กิจการเพื่อสังคมรายได้หลักแสนต่อเดือน ยกระดับคนอีสาน

38

ว่ากันว่าการเอาชนะอุปสรรค เหมือนการปีนเขาที่สูงชัน เมื่อพาร่างเหนื่อยหอบมาถึงยอดผา ก็จะพบกับภูเขาลูกใหญ่กว่าตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้า รอให้เราเลือกว่าจะนั่งหอบอยู่เฉยๆ กับพื้น หรือลุกขึ้นยืนเพื่อท้าทายอุปสรรคสู่ความสำเร็จในครั้งใหม่

ปิง-วิไลลักษณ์ ชูช้าง ผู้ก่อตั้ง ‘คีรีฟาร์ม’ ธุรกิจเลี้ยงไส้เดือน และเพาะเลี้ยงเห็ดเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการเกษตร ย้อนกลับไปปี 2561 สาวอีสานคนนี้ประกอบอาชีพด้านกฎหมายในกรุงเทพฯ เริ่มถึงจุดอิ่มตัวในอาชีพ ตัดสินใจโบกมือลาชีวิตคนเมือง กลับมากาฬสินธุ์เพื่อพักใจและหาเส้นทางในอาชีพใหม่ ที่สามารถดูแลตนเองและช่วยเหลือชุมชนไปพร้อมกันได้

คีรีฟาร์ม และแรงช่วยเหลือจากคนในชุมชน
ความท้าทายแรกหลังตัดสินใจกลับบ้านเกิด คืออาชีพของคนที่นี่ไม่ได้มีให้เลือกมากนัก ทำให้เธอเริ่มต้นหาความรู้จากครอบครัวที่ประกอบอาชีพเกษตรกร เรียนรู้เรื่องการเกษตรและเทคโนโลยี รวมถึงเข้าร่วมเวิร์กชอปต่างๆ จนทำให้เธอตัดสินใจลองเปิดกิจการเกี่ยวกับการเลี้ยงไส้เดือนและเพาะเห็ด โดยอาศัยพื้นที่ของครอบครัวประมาณ 20 ไร่ บนเทือกเขาภูพาน และให้ชื่อว่า ‘คีรีฟาร์ม’

ด้วยความรู้ และ ความมุ่งมั่นของปิง ทำให้ ‘คีรีฟาร์ม’ สามารถเริ่มจ้างงานคนในชุมชนให้เข้ามาเพื่อช่วยผลิตและเริ่มกระจายรายได้ จนกลายเป็นเครือข่ายชุมชนขนาดย่อม อย่างไรก็ตาม เครือข่ายชุมชนนี้ก็เป็นได้เพียงเครือข่ายชั่วคราวเท่านั้น เพราะเมื่อฤดูกาลเพาะปลูกเวียนมาถึง ผู้คนจำต้องกลับไปเพื่อดูแลไร่นาของตัวเอง นั่นเป็นเพราะรายได้ของการเลี้ยงไส้เดือนและเพาะเห็ดได้เพียงหลักพันต่อเดือนเท่านั้น จึงไม่สามารถพึ่งพิงเป็นรายได้หลักของครอบครัวได้ การทำงานของคีรีฟาร์มในช่วงแรกจึงถือเป็นการเกื้อกูลชุมชน ไม่มีเงินก็ยังมีเห็ดไปกิน มีดินไส้เดือนไปใช้ในพื้นที่เกษตรตัวเอง แต่ด้วยความมุ่งมั่นของปิงที่ตั้งใจจะต้องสร้างอาชีพในบ้านเกิด และความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคตรงหน้า ปิงจึงหาโอกาสเรียนรู้และพัฒนาอย่างไม่ลดละจนกลายเป็น “คีรีฟาร์ม” กิจการเพื่อสังคมที่มีรายได้หลักแสนต่อเดือนเช่นในปัจจุบัน

ปิง-วิไลลักษณ์ ชูช้าง

SE คือสิ่งที่คนยังไม่เข้าใจ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในสิ่งที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจคือ “เงินทุน” สำหรับ “คีรีฟาร์ม” ก็ย่อมต้องการทุนสำหรับรักษาธุรกิจและพัฒนาสังคมให้คงอยู่ต่อเนื่อง และหาโอกาสที่จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคต ทว่าธุรกิจของคีรีฟาร์มที่มีจุดมุ่งหมายในการยกระดับชุมชน หรือ ที่เรียกว่า “กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise หรือ SE)” ก็ยังฟังไม่คุ้นหูสำหรับคนไทยโดยเฉพาะนักลงทุนและหน่วยงานราชการทั่วไป การนำโมเดลธุรกิจไปยื่นขอสนับสนุนเป็นไปได้ยากมาก จนกระทั่งเธอได้เข้าร่วม โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม (Banpu Champions for Change : BC4C) รุ่นที่ 12 ในปี 2566 ของ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ที่ดำเนินโครงการร่วมกับ ChangeFusion

แค่ซื้อมา – ขายไป
เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่ม แม้จะมีรายการสินค้าเยอะ แต่ไม่มีตัวไหนโดดเด่น ยอดขายของคีรีฟาร์มจึงแทบจะมองไม่เห็น ปิงรู้ดีว่าจุดหมายต่อไปของกิจการคือ การเพิ่มความสามารถด้านการตลาดและกำไร เธอและสมาชิกจึงพาตัวเองวิ่งเข้าหาโอกาสที่จะช่วยคีรีฟาร์มดำเนินต่อไปได้ จนพบกับบ้านปูและ “โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม (Banpu Champions for Change : BC4C) ปีที่ 12” โครงการที่ทำให้เธอได้พบกับเพื่อนใหม่ที่มีแพชชั่นในกิจการ SE เหมือนกัน และทีมโค้ชระดับประเทศที่พร้อมให้ความรู้ รวมถึงคำแนะนำอย่างตรงจุดเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SE

“โครงการ BC4C ของบ้านปู สอนให้ปิงเข้าใจความหมายของกิจการเพื่อสังคมตั้งแต่ก้าวแรก ปูพื้นฐาน เรียกได้ว่าแทบจะจับมือเราทำเลยก็ว่าได้ ช่วยผลักดันให้เห็นภาพว่าธุรกิจของเราจะไปต่อยังไงได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น สอนวิธีขยายตลาด เพิ่มช่องทางการขาย เพิ่มมูลค่าสินค้า ต่อยอดผลิตภัณฑ์ จนทำให้คีรีฟาร์มมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ทั้งก้อนเห็ด ดอกเห็ดสดสำหรับขายส่งให้กับตลาดชุมชน ข้าวเกรียบเห็ดแปรรูป ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถขายได้ทั้ง B2C และ B2B รวมถึงเปิดคอร์สสอนเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพได้ ถ้าไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ นี้และไม่ได้รับการสนับสนุนจากบ้านปู เราคงมาถึงจุดนี้ได้ยากมากๆ”

จากในอดีตที่รายได้ต่อเดือนไม่สามารถจ้างพนักงานประจำได้ ปัจจุบัน “คีรีฟาร์ม” มีสมาชิกกว่า 20 คน 14 คนเป็นพนักงานประจำที่ได้รับเงินเดือน เพิ่มรายได้ธุรกิจจาก “หลักพัน” เป็น “หลักแสนต่อเดือน” เปลี่ยนเครือข่าย “ชั่วคราว” เป็นเครือข่ายที่ “เข้มแข็ง” ครอบคลุมทุกอำเภอในจังหวัดกาฬสินธุ์ สมาชิกหลายคนเป็นเด็กที่เสี่ยงต่อการหลุดจากระบบการศึกษาเนื่องจากความยากจน ที่นี่จึงเป็นเหมือน “แหล่งสร้างงานสร้างอาชีพและลดปัญหาสังคม” อีกทั้งยังช่วยให้ผู้สูงอายุมีงานทำ พึ่งพาตนเองได้ จนกลายเป็นพื้นที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาเหล่านั้นมากกว่าเงินทอง ปิงตกผลึกได้ว่า “หัวใจสำคัญของ SE ไม่ใช่เรื่องของเงินทุนหรือผลกำไรอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างสมดุลระหว่างการให้และการรับ หากชุมชนพัฒนา กิจการก็จะเติบโตไปพร้อมๆ กันได้”

แม้นี่จะยังไม่ใช่เขาลูกสุดท้ายที่ต้องปีน แต่ปิงก็มีความสุขที่ได้เห็นคีรีฟาร์มเติบโต ภูเขาลูกต่อไปของเธอและทุกคนในคีรีฟาร์ม คือการขยายโมเดลธุรกิจออกไปยังอำเภอใกล้เคียงให้ครอบคลุมภาคอีสาน มอบความรู้ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เติมเต็มความสุขด้วยงานที่ยกระดับวิถีชีวิตและเพิ่มมูลค่าให้กับชุมชน

การพัฒนา SE ในไทย ยังคงต้องการการสนับสนุน เพื่อขยายการเติบโตให้ SE สามารถเป็นหนึ่งในกลไกท้องถิ่นที่จะช่วยสร้างรากฐานเศรษฐกิจของประเทศให้แข็งแกร่ง ลดภาระภาครัฐในการบรรเทาปัญหาทางสังคม ปัจจุบันมีหน่วยงานที่สนับสนุนกิจการเพื่อสังคมมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่หนึ่งในโครงการที่ยืนหยัดเพื่อสร้างระบบนิเวศของ SE ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องนั่นคือ โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม (Banpu Champions for Change : BC4C) จาก บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ที่ดำเนินงานร่วมกับ สถาบัน ChangeFusion ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 13 โดยล่าสุด BC4C กำลังเปิดรับสมัครคนรุ่นใหม่ที่มีใจอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงและช่วยแก้ปัญหาสังคมอย่างยั่งยืนผ่านการทำกิจการเพื่อสังคม เข้าร่วมโครงการฯ ผู้สนใจสามารถสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 7 เมษายน 2567

ช่องทางการสมัครออนไลน์: https://bit.ly/3V56eSz (Incubation Program) และ https://bit.ly/3IvUKzH (Acceleration Program) และติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเพจเฟซบุ๊ก: Banpu Champions for Change www.facebook.com/banpuchampions หรือติดต่อที่หมายเลขโทรศัพท์ 087-075-4815 และอีเมล banpuchampions@gmail.com