ปิดเทอมใหญ่ระวังภัยเด็กจมน้ำ เตือนลูกหลานห้ามกระโดดไปช่วย

86

ปิดเทอมใหญ่ เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของเด็กๆ แต่ความสุขที่เกินเลย จากความประมาท ก็อาจจะทำให้ช่วงเวลาแห่งความสุขต้องจบลง นำมาซึ่งความทุกข์ใจอย่างหาที่สุดไม่ได้ของผู้ปกครอง หนึ่งในนั้นคือ การจมน้ำ ซึ่งมีสถิติระบุว่า 1 ใน 3 ของเด็กที่จมน้ำเสียชีวิต เกิดขึ้นในช่วงปิดเทอมใหญ่

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ ภายใต้แนวคิด “บ้านเริ่ม ชุมชนร่วม : พื้นที่เล่นปลอดภัย เด็กไม่จมน้ำ” เผย 1 ใน 3 ของเด็กจมน้ำเสียชีวิตแต่ละปีเกิดในช่วงปิดเทอมใหญ่ภาคฤดูร้อน (มีนาคม-พฤษภาคม) ส่วนปิดเทอมใหญ่ปี 2560 ที่ผ่านมา พบเด็กจมน้ำเสียชีวิตถึง 254 ราย สาเหตุเกือบครึ่งเกิดจากเด็กชวนกันไปเล่นน้ำเป็นกลุ่ม พร้อมเตือนผู้ปกครองดูแลเด็กใกล้ชิด อย่าปล่อยให้ชวนกันไปเล่นน้ำกันเองตามลำพัง

นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข  ได้กำหนดให้วันเสาร์แรกของเดือนมีนาคมของทุกปีเป็นวันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ โดยในปี 2561 นี้ ตรงกับวันเสาร์ที่ 3 มีนาคม ซึ่งปีนี้ได้กำหนดหัวข้อที่ใช้ในการรณรงค์ คือ “บ้านเริ่ม ชุมชนร่วม : พื้นที่เล่นปลอดภัย เด็กไม่จมน้ำ” โดยมีแนวคิดให้ครอบครัว(บ้าน) เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความปลอดภัยทางน้ำ และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและชุมชนพึ่งตนเองได้

การจมน้ำเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กไทยเสียชีวิตสูงเป็นอันดับหนึ่งมาตลอด โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอมใหญ่ภาคฤดูร้อน 3 เดือน (มีนาคม-พฤษภาคม) ซึ่งเป็นช่วงที่มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด ประมาณ 1 ใน 3 ของการจมน้ำเสียชีวิตของเด็กตลอดทั้งปี

จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข พบว่าในช่วง 10 ที่ผ่านมา (ปี 2551-2560) เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตในช่วงปิดเทอมใหญ่เฉลี่ย 334 รายต่อปี  ส่วนในปี 2560 มีเด็กจมน้ำเสียชีวิต 708 ราย โดยเป็นการจมน้ำเสียชีวิตในช่วงปิดเทอมใหญ่ถึง 254 ราย หรือร้อยละ 35.9  และเด็กที่จมน้ำส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุ 5-9 ปี (ร้อยละ 48.4)

นอกจากนี้ ข้อมูลการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค พบว่าสาเหตุการจมน้ำในช่วงปิดเทอมใหญ่เนื่องจากเด็กชวนกันไปเล่นน้ำกันเองตามลำพัง โดยในปีที่ผ่านมา พบว่าร้อยละ 42.1 ชวนกันไปเล่นน้ำเป็นกลุ่มตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป และพบว่ามีเด็กจมน้ำเสียชีวิตพร้อมกัน 3 คน ถึง 4 เหตุการณ์ และ 2 คน ถึง 10 เหตุการณ์ พบมากที่สุดในจังหวัดพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงเวลาที่เกิดเหตุสูงสุด คือช่วงกลางวัน เวลา 12.00–14.59 น.

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรค ขอเตือนผู้ปกครองว่าในช่วงนี้ให้ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด อย่าปล่อยให้เด็กชวนกันไปเล่นน้ำกันเองตามลำพัง และขอให้ทุกชุมชนดำเนินการดังนี้

1.สำรวจแหล่งน้ำเสี่ยงในชุมชน

2.เฝ้าระวังและแจ้งเตือนในชุมชน เช่น ประกาศเสียงตามสาย คอยตักเตือนเมื่อเห็นเด็กเล่นน้ำตามลำพัง

3.จัดการแหล่งน้ำเพื่อให้เกิดความปลอดภัย เช่น สร้างรั้ว ติดป้ายคำเตือน จัดให้มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำเสี่ยง (ถังแกลลอนเปล่าผูกเชือก ขวดน้ำพลาสติกเปล่า ไม้)

4.สอนให้เด็กรู้จักแหล่งน้ำเสี่ยงและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น

ในโอกาสนี้ ขอฝากถึงประชาชน ผู้ปกครอง และต้องย้ำเตือนเด็กๆ ว่า หากพบเห็นคนตกน้ำไม่ควรกระโดดลงไปช่วย เพราะอาจจมน้ำพร้อมกันได้ แต่ขอให้ช่วยด้วยการใช้มาตรการ “ตะโกน โยน ยื่น” ได้แก่

1.ตะโกน คือ การเรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วยและโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669

2.โยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น

3.ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ   หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422