มข. ร่วม UK ผนึก 9 มหา’ลัย สร้างเครือข่าย นักการศึกษา Citizen Inquiry

31

มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยคณะศึกษาศาสตร์ ร่วมกับ University of Hull , สหราชอาณาจักร จัดโครงการ DEVELOPING INNOVATION AND RESEARCH CAPACITY IN THE CIRCULAR ECONOMY THROUGH CITIZEN INQUIR เพื่อส่งเสริม สร้างการตระหนักรู้ การจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะภาคพลเมือง

ทำการประชุมวิชาการสรุปโครงการ โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น Co-Principal Investigators (Co-PI) กล่าวรายงานโครงการ และ Professor Kevin Burden Professor of Educational Technology University of Hull สหราชอาณาจักร กล่าวสรุปโครงการ ทั้งนี้มีคณาจารย์ นักวิชาการศึกษา ครูประจำการ ร่วมประชุมกว่า 120 คน ผ่านระบบการประชุมอิเล็กทรอนิกส์

ผศ.ดร.นิวัฒน์ กล่าวว่า โครงการ DEVELOPING INNOVATION AND RESEARCH CAPACITY IN THE CIRCULAR ECONOMY THROUGH CITIZEN INQUIR เป็นโครงการความร่วมมือจาก 2 มหาวิทยาลัย จากสหราชอาณาจักรได้แก่ University of Hull และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประเทศไทย ทำงานร่วมกันตลอด 1 ปี เต็ม เพื่อถ่ายทอดวิธีการจัดการเรียนรู้แบบ Citizen Inquiry หรือ กระบวนการสืบเสาะภาคพลเมือง ภายใต้บริบทที่อยากให้ผู้ร่วมโครงการเข้าใจเรื่องแนวคิดเศรษฐกิจพลาสติกแบบหมุมเวียน

กลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการ คือ คุณครู หรือนักการศึกษา เพราะเชื่อว่าปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาคือตัวครู โครงการคาดหวังว่าใน 1 ปี นี้ จะสามารถสร้างคุณครูวิทยาศาสตร์หรือสร้างนักวิทยาศาสตร์ศึกษา ที่เข้าใจแนวทางนี้ ซึ่งเป็นแนวทางนวัตกรรมการจัดการศึกษาแนวใหม่ ที่นำผู้เรียนมาสู่ธรรมชาติ เรียนรู้วิทยาศาสตร์ของจริง และเกิดการเชื่อมต่อเข้าใจธรรมชาติและสามารถไปใช้ในชีวิตจริงได้

ภายในโครงการได้ มีการจัดตั้งเครือข่าย Thai Citizen Science and Inquiry in Education (Thai CSI-ED) Network ทำการเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อีก 9 มหาวิทยาลัย ในประเทศไทย ทั้ง 4 ภาค ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนคร เหนือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ผศ.ดร.นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์

ทำการเซทอัพเครื่อข่ายที่เราเรียกว่า (Thai CSI-ED) Network คือ เครือข่ายของมหาวิทยาลัยไทยที่ใช้วิธีการสืบเสาะภาคพลเมืองในการทำงานทางการศึกษาด้วยกัน นำวิธีการกระบวนการ Citizen Inquiry เข้าไปจัดการเรียนการสอน นำเทคโนโลยีอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ เช่น เครื่องวัดคุณภาพน้ำ โดรน กล้อง 360 องศา และ โปรแกรมวิดีโอแบบมีปฏิสัมพันธ์ ถ่ายทอดกระบวนการวิธีการสืบเสาะภาคพลเมือง แก่ครูประจำการ และ นักศึกษา นิสิตครู เพื่อปลูกฝังสร้างการตระหนักรู้ให้แก่เยาวชนต่อไป

Professor Kevin Burden Professor of Educational Technology University of Hull กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นพันธมิตรในฐานะมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพสูงทางด้านการวิจัยและการสอน โครงการดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือในประเทศไทยรวมทั้งในสหราชอาณาจักร ให้ได้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยใช้วิธีการที่เรียกว่า กระบวนการสืบเสาะภาคพลเมือง ซึ่งเป็นส่วนย่อยของวิทยาศาสตร์พลเมือง ด้วยผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด -19 จึงสัมมนาและการเวิร์คชอปหลายครั้ง เพื่อช่วยให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ลงมือสืบเสาะจริงในชุมชนของตนเอง

“เรามุ่งความสนใจไปที่ครูผู้สอนในมหาวิทยาลัย เพราะครูมีความสามารถในการยกระดับการทำงานที่สร้างแรงกระเพื่อมไปยังนักศึกษาซึ่งจะเข้าไปสอนในโรงเรียนและทำงานกับเด็กและครูคนอื่นๆ และเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เราจึงนำแนวคิดกระบวนการสืบเสาะภาคพลเมืองมาใช้ สอนเด็กและคณะครูให้รู้จักการจัดการและนำโครงการมาประยุกต์เข้ากับปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ขยะพลาสติก น้ำ มลพิษ และอื่นๆ เพราะเป็นปัญหาสำคัญโดยเฉพาะในบริบทของประเทศไทย โครงการต่างๆ ที่เราได้ส่งเสริม ริเริ่มและสนับสนุนกำลังสร้างผลกระทบในระดับท้องถิ่น เราเชื่อว่าการเชื่อมโยงโครงการร่วมกับเครือข่ายใหม่ๆ โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นและทางเราเอง จะยกระดับการทำงานให้ขยายผลกระทบออกไปทั่วประเทศ รวมทั้งในระดับชุมชนที่กำลังเผชิญปัญหาเดียวกัน” Professor Kevin กล่าว

ในการประชุมครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญ บรรยายพิเศษ อาทิ Dr.Charlotte Dean University of Hull บรรยายพิเศษเรื่อง แนวคิดวิทยาศาสตร์สืบเสาะภาคพลเมืองกับเศรษฐกิจพลาสติกแบบหมุมเวียน และ ผศ.ดร. ยุวรัตน์ เงินเย็น ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บรรยายเรื่อง สถานการณ์ขยะในประเทศไทยและการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานทางเลือก และมีผู้ร่วมประชุมทั้ง 9 มหาวิทยาลัยรายงานสรุปโครงการย่อย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง

อย่างไรก็ตามโครงการ DEVELOPING INNOVATION AND RESEARCH CAPACITY IN THE CIRCULAR ECONOMY THROUGH CITIZEN INQUIR ได้ดำเนินมาครบ 1 ปีเต็มแล้ว มหาวิทยาลัยทั้ง 9 มหาวิทยาลัย ร่วมกับ University of Hull ได้นำเสนอต่อยอด วางแผนขยายไปสู่การใช้ กระบวนการ Citizen inquiry กับผู้เรียน โดยมีคุณครูที่เป็นตัวแทนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ พร้อมนำการจัดการเรียนการสอนแนวใหม่นี้ เพื่อส่งเสริมความตระหนักในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างมีความหมายมากขึ้น ในอนาคตจะทำให้โครงการนี้สามารถจะอยู่ในชุมชนของนักการศึกษาในประเทศไทยได้กว้างขวางมากขึ้น หรืออยู่ได้ยั่งยืนตลอดไป