กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดย นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้มอบหมายให้ นายวิศิษฐ์ ผลดก ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ เดินทางไปเป็นประธานปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “เสริมสร้างภูมิคุ้มกันเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา ครั้งที่ 2” ณ คงการ์เด้นท์วิว รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ซึ่งการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 มกราคม 2561 เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตนักเรียนชายและหญิงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 2 ในจังหวัดเชียงรายจากโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม โรงเรียนเม็งรายมหาราชวิทยาคม และโรงเรียนเตีรยมอุดมศึกษาพัฒนาการเชียงราย จำนวน 100 คน ให้รู้เท่าทันและตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันการเข้าสู่กระบวนการค้าประเวณี
นายเลิศปัญญา กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมเปิดกว้างมากขึ้น การติดต่อสื่อสารเป็นไปได้ง่าย มีการเชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตเกือบทุกพื้นที่ ซึ่งเด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทางโลกออนไลน์ได้อย่างรวดเร็วทั้งด้านบวกและด้านลบ จึงจำเป็นต้องควบคุมดูแลเด็กและเยาวชนไม่ให้ตกอยู่ในความสุ่มเสี่ยงจากการถูกล่อลวงไปค้าบริการทางเพศ และในฐานะที่ สค. เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบภารกิจการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 จึงมีความห่วงใยเด็กและเยาวชนของสังคมไทยในปัจจุบันที่อาจตกเป็นเหยื่อในการเข้าสู่กระบวนการค้าบริการทางเพศได้ การสร้างความตระหนักให้กับสังคมและมุ่งดำเนินงานที่ต้องเน้นไปในเชิงป้องกันปัญหาตั้งแต่ต้นทาง จึงมีความจำเป็นเป็นอย่างมาก ตลอดจนควบคุมไม่ให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลแสวงหาประโยชน์จากการค้าบริการทางเพศอีกด้วย
ด้านนายวิศิษฐ์ กล่าวว่า การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ต่อเนื่องมาจากครั้งแรกซึ่ง นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้ให้เกียรติเป็นประธานปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “เสริมสร้างภูมิคุ้มกันเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา ครั้งที่ 1” มาก่อนแล้ว เมื่อไม่นานมานี้ ณ ธนิตาลากูลรีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ให้กับเด็กนักเรียนระดับชั้น ม.1-ม.2 จากโรงเรียนโนนสูงพิทยาคาร โรงเรียนอุดรพิชัยรักษ์พิทยา โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล โรงเรียนประจักษ์ศิลปาคาร และสถานสงเคราะห์เด็กหญิงอุดรธานี จำนวน 120 คน โดยมุ่งหวังให้กลุ่มเป้าหมายได้รับการเสริมสร้างทักษะ ความรู้ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าประเวณี ตลอดจนมีส่วนร่วมในการเป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวังเพื่อป้องกันปัญหาการค้าประเวณีด้วย
นายวิศิษฐ์ กล่าวต่ออีกว่า ถึงแม้การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “เสริมสร้างภูมิคุ้มกันเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา” เพียงระยะเวลา 3 วัน 2 คืน หลายคนอาจคิดว่า ระยะเวลาสั้นแค่นี้จะได้ประโยชน์อะไรกับเด็กและเยาวชนแค่ไหน โดยส่วนตัวได้เห็นถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจของเด็กและเยาวชนที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม เด็กและเยาวชนได้รู้จักเพื่อนต่างโรงเรียนถือเป็นเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ก่อให้เกิดความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ในการสร้างจิตสำนักอันดีงาม และตระหนักถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าประเวณี นอกจากนี้ เด็ก ๆ ยังได้รับแนวทางการดำรงชีวิต เสริมพลัง สร้างความตระหนัก และจิตสำนึกในการปฏิบัติตน ตามระเบียบแบบแผนอันดีงามของสังคม และดำเนินรอยตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 อีกด้วย
———————–