ม.สงขลานครินทร์ วิจัยและพัฒนาแบริเออร์หุ้มยาง ลดอุบัติเหตุทางจราจร

19

“มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์” ร่วมกับ กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย 6 หน่วยงานผู้สนับสนุนและพัฒนางานวิจัย ลงนามในบันทึกความร่วมมือว่าด้วยเรื่องอุปกรณ์ทางด้านจราจร และอำนวยความปลอดภัยทางถนน ที่ผลิตจากยางพารา (แบริเออร์หุ้มยาง) หวังช่วยลดอุบัติเหตุ ชี้ยางพาราซึ่งเป็นวัตถุดิบธรรมชาติ มีคุณภาพสูง สามารถนำไปต่อยอดและพัฒนาได้อีกหลายผลิตภัณฑ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า ในฐานะที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นสถาบันการศึกษาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางวิชาการในการผลิตนวัตกรรมที่มาจากการแปรรูปยางพารามาเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะในช่วงเวลาราคายางตกต่ำ ได้พัฒนาขับเคลื่อนนวัตกรรม ผ่านการแปรรูปยางพารา ซึ่งที่ผ่านมา ม.อ. ได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือว่าด้วยเรื่องอุปกรณ์ทางด้านจราจร และอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพารา (แบริเออร์หุ้มยาง) เพื่อเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานภาครัฐ กับกระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย 6 หน่วยงานในฐานะผู้สนับสนุนและพัฒนางานวิจัย โดยความร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตยางพาราและสามารถยกระดับราคาผลผลิตให้กับเกษตรกรอีกด้วย

ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ

“ยางพารามีคุณสมบัติดีมาก มีความยืดหยุ่น สามารถรองรับแรงกระแทกเหมาะสำหรับใช้เพื่อลดความสูญเสียเมื่อเกิดอุบัติเหตุทางการจราจรและสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน ทางมหาวิทยาลัยฯ จึงนำมาเข้ากระบวนการวิจัย เพื่อจัดทำเสาหลักนำทางยางพารา และยางหุ้มแบริเออร์ โดยมีการควบคุณคุณภาพ และประเมินสภาพการใช้งานได้เพื่อให้มีคุณภาพดีขึ้นใช้งานได้นานขึ้น โดยประสานงานเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างคณะหน่วยงานต่างๆ ในหลายวิทยาเขต ทั้งในส่วนการวิจัยและการถ่ายทอดให้กับสถาบันเกษตรกร และผ่านการตรวจสอบคุณภาพทั้งจากสถาบันตรวจสอบภายในประเทศและต่างประเทศ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ กล่าว

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยฯ ยังเดินหน้าสนับสนุนและให้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะการยางแห่งประเทศไทย (Rubber Authority of Thailand) ซึ่งได้เห็นความสำคัญของการพัฒนานวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่ายางพารา โดยใช้งานวิจัย ทุน และเทคโนโลยีใหม่เข้าไปเสริม

รองศาสตราจารย์ อาซีซัน แกสมาน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา กล่าวว่า นวัตกรรมคือหนทางสำคัญในการเพิ่มมูลค่า ซึ่งการพัฒนาสร้างความหลากหลายของตัวผลิตภัณฑ์สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะยางพารา ถือเป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติ สามารถนำไปทำผลิตภัณฑ์ได้จำนวนมาก เชื่อมโยงทั้งทางการแพทย์ สุขภาพ การกีฬา การขนส่ง งานโครงสร้างอาคาร การเกษตร และการคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางพารามาช่วยป้องกันการกระจายของเชื้อโรค COVID 19

ทั้งนี้ ม.อ. ให้ความสำคัญกับยางพาราในทุกกระบวนการตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เนื่องจากที่ตั้งของ 5 วิทยาเขตอยู่ในภาคใต้ ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้มีอยู่พร้อมในมหาวิทยาลัย เพียงแต่นำมาเชื่อมประสานให้เกิดความเข้มแข็งมากขึ้น ประกอบกับ ช่วงที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ พัฒนาเป็นศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์จากยางพารา สังกัดสำนักเครื่องมือวิทยาศาสตร์และการทดสอบ ซึ่งเป็นศูนย์ที่มีคุณภาพเป็นที่พึ่งของอุตสาหกรรม เกษตรกร นักวิจัย มีการให้บริการด้วยเครื่องมือคุณภาพสูง