ย้อนกลับไปในสมัยศตวรรษที่ 15 ที่นักเดินทางชาวยุโรปแสวงหาโลกใหม่ นอกจากจะค้นพบทวีปอเมริกาแล้ว ยังค้นพบ “ปิญญ่า” (สับปะรด) ในเขตร้อนของทวีปอเมริกา จากนั้นช่วงปลายศตวรรษที่ 19 สับปะรดถูกนำเข้ามาในประเทศฟิลิปปินส์ โดยคณะผู้ปกครองชาวสเปนเพื่อเป็นอาหารและปลูกให้ผลบนเกาะปานัย
ชาวสเปนถ่ายทอดภูมิปัญญาการผลิตเส้นใยจากสับปะรดให้กับคนท้องถิ่น “ปิญญ่า” ถือเป็นเนื้อผ้าที่ได้รับการยกย่องว่าละเอียดที่สุดและเป็นราชินีแห่งสิ่งทอของฟิลิปปินส์ ผ้าใยสับปะรดถูกสวมใส่ในงานสำคัญๆ และเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับชนชั้นสูงในเมืองช่วงระหว่างที่สเปนปกครองฟิลิปปินส์
ช่วงปลายศตวรรษที่ 18 พ่อค้าชาวจีนเดินทางผ่านเส้นทางการค้าทางทะเล ได้นำผ้าไหมเข้ามาเผยแพร่เกิดการผสมผสานระหว่างเส้นใยสับปะรดเข้ากับผ้าไหม หรือภาษาสเปน เรียกว่า “เซดา” เกิดเป็นภูมิปัญญาการทอผ้า “ปิญญ่า-เซดา” ที่สวยงามทั้งประณีตละเอียดจากใยสับปะรดและนุ่มหรูหราจากใยไหม
สรุปตัวเลขเกี่ยวกับใยสับปะรด
• ประมาณ 25 – 35% ของเส้นใยสกัดออกมาจากใบสับปะรดเป็นลินิวัน
• คนที่ขูดใบสับปะรดสามารถทำได้ 500 – 1,000 ใบต่อวัน
• ต้องใช้เส้นใยสับปะรด 1,260 เส้นในการทอผ้าที่มีความกว้าง 30 นิ้ว
สรุปตัวเลขเกี่ยวกับไหม
• 500 – 1,200 เมตรเป็นความยาวเส้นไหมที่ได้จากรังไหม 1 รัง
• ต้องใช้รังไหม 1,700 – 2,000 รังเพื่อให้ได้เส้นไหมที่เพียงพอกับการตัดชุดผ้าไหม 1 ชุด
• รังไหม 1,500 – 2,500 รังผลิตไหมได้ 1 ปอนด์
ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการและการออกแบบต่างๆ ถูกถ่ายทอดจากแม่ไปสู่ลูกสาว หรือยายไปสู่หลานสาวตั้งแต่ยังเยาว์วัย เด็กๆ จะถูกสอนให้รู้จักการผูกปมด้ายก่อนเป็นอันดับแรกตามด้วยการเตรียมเส้นด้ายยืนและทอผ้าใยสับปะรดแบบไม่มีลาย ส่วนเทคนิคการออกแบบจะสอนให้ทีหลัง
ในอดีตผู้หญิงทุกคนในบ้านรู้จักกระบวนวิธีการทอผ้าใยสับปะรด ปัจจุบันผู้ชายเข้ามามีส่วนร่วมในการทอผ้าด้วย
การปักลวดลายบนผ้าปิญญ่า – เซดา มีต้นแบบมาจากชาวสเปน ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม อิหร่านและจีน ต่อมาได้ผสมรวมเข้ากับพืชพื้นถิ่นและลวดลายสัตว์ จากนั้นก็ถูกสืบทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนรุ่นถัดไปพร้อมกับการดัดแปลงลวดลายเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งคำอธิบายเกี่ยวกับลวดลายในภาษาถิ่นก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่
วันนี้ภูมิปัญญาการทอผ้าปิญญ่า – เซดา เดินทางมาสู่ประเทศไทย จากความร่วมมือระหว่างมิวเซียมสยาม ร่วมกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติฟิลิปปินส์ และสถานทูตฟิลิปปินส์ประจำประเทศไทย จัดนิทรรศการผ้าใยลับปะรดและใยไหม “ปิญญ่า – เซดา” ครั้งแรกในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 5 – 27 กรกฎาคม 2562 ตั้งแต่เวลา 10.00 – 18.00 น. ทุกวันอังคาร – อาทิตย์ ณ อาคารอเนกประสงค์ มิวเซียมสยาม ท่าเตียน (ไม่เสียค่าใช้จ่าย)
ดร.แอนนา มาเรีย ลาบราดอร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติฟิลิปปินส์ กล่าวว่า นิทรรศการ “ปิญญ่า – เซดา” ต้องการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมของชาวฟิลิปปินส์ ถ่ายทอดผ่านสิ่งทอประจำชาติ มรดกทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่จับต้องได้เกี่ยวกับผ้าใยสับปะรด ตลอดจนประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการปลูกสับปะรดในยุคอาณานิคม การทอ จนกระทั่งถึงการเป็นอัตลักษณ์ประจำชาติในปัจจุบัน
ผู้ชมนิทรรศการจะได้รู้จักผ้าใยสับปะรดและผ้าไหมในหลากหลายมิติ เช่น มิติทางประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม การผลิต ภูมิศาสตร์ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม กระบวนการอันซับซ้อนและยากลำบากของการทอผ้า เทคนิคการทอแบบต่างๆ การออกแบบและศิลปะแห่งการสร้างลวดลายบนผืนผ้า ตลอดจนมิติทางเศรษฐกิจที่คนไทยสามารถนำไปต่อยอดได้
ปัจจุบัน ในประเทศไทย ตื่นตัวด้านการผลิตเส้นใยสับปะรด เนื่องจากสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มหาศาลและเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ การเรียนรู้มรดกทางวัฒธรรมจะสามารถนำไปต่อยอดให้เกิดมูลค่าเพิ่มอย่างสร้างสรรค์ได้ในอนาคต