กรมสุขภาพจิตเล็งปั้น“สื่อมวลชนเชี่ยวชาญสุขภาพจิต”

40

กรมสุขภาพจิต เล็ง พัฒนาสื่อมวลชน เป็นสื่อมวลชนเชี่ยวชาญสุขภาพจิต เป็นเครือข่ายช่วยเหลือดูแลจิตใจเบื้องต้น แก่ประชาชนในภาวะวิกฤติฉุกเฉิน

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพภาพจิต กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2561 ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นไป กรมสุขภาพจิตจะปรับเปลี่ยนโฉมงานจัดบริการด้านสุขภาพจิตแก่ประชาชน ทั้งในด้านการรักษาพยาบาลผู้ที่มีปัญหาเจ็บป่วยที่มีประมาณ 7 ล้านคน และการส่งเสริมป้องกันเพื่อสร้างสุขภาพจิตดีแก่ประชาชน 58 ล้านคน เสริมสมรรถนะการทำงานสร้างเศรษฐกิจรายได้ และความมั่นคงของสถาบันครอบครัว โดยปรับหลักเกณฑ์การประเมินผลเป็นรูปธรรม เน้นที่ผลลัพธ์ประชาชนทุกกลุ่มวัย เพื่อตอบโจทย์วิสัยทัศน์ของกรมฯคือเป็นองค์กรหลักด้านสุขภาพจิตเพื่อประชาชนมีสุขภาพจิตดีมีความสุข วัดผลที่การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมและสัมผัสได้จริง ในส่วนของโรงพยาบาลและสถาบันจิตเวชทั้ง 19 แห่ง จะเน้นการสร้างความเชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคทางจิตเวชทุกโรค ซึ่งเป็นโรคเฉพาะทาง เพื่อเป็นศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยจิตเวชในระดับศูนย์เชี่ยวชาญ ดูแลรายที่มีความยุ่งยากซับซ้อน ที่ส่งต่อมาจากเขตสุขภาพต่างๆ จนอาการหายขาด หรืออยู่ในระดับที่ควบคุมอาการให้เป็นปกติได้

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ในส่วนของการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิต ได้มอบนโยบายให้ศูนย์สุขภาพจิตที่มีทั้งหมด 13 เขต เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนิน โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข เพื่อดูแลประชาชนทุกกลุ่มวัยให้มีสุขภาพจิตดี และวิจัยค้นหาปัญหาสุขภาพจิตในพื้นที่ซึ่งแตกต่างกันเช่นเขตเมือง ชบทบท แนวชายแดน เป็นต้น

ประการสำคัญจะมีการพัฒนาเครือข่ายใหม่ เพื่อร่วมดำเนินงานด้านสุขภาพจิต นอกจากกลุ่มของอสม.คือ กลุ่มของสื่อมวลชน ซึ่งเป็นผู้ที่เข้าถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในยามที่เกิดภาวะวิกฤติฉุกเฉิน เช่นการทำร้ายตัวเอง กระโดดตึก เป็นต้น จะเป็นคนกลุ่มแรกๆที่เข้าไปถึงพื้นที่ก่อน กรมสุขภาพจิตมีนโยบายจะพัฒนาสื่อมวลชนทุกสาขา ให้เป็นสื่อมวลชนเชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต โดยจัดอบรมเพื่มพูนความรู้ด้านสุขภาพจิต ในเบื้องต้นนี้จะเน้น 2 เรื่องที่จำเป็นก่อนคือ การให้คำปรึกษาเบื้องต้น ( Counseling) เพื่อคลี่คลายความเครียด ความวิตกกังวลกับเหตุการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้น หรือมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิต เห็นทางออกของการแก้ไขปัญหาอย่างถูกวิธี

ประการที่2 คือการให้ความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลทางใจ ( Psychological First Aid) ซึ่งเป็นหลักการดูแลจิตใจ ลดอาการปวดใจ คลี่คลายความทุกข์ใจได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งมีหลักการ 3 ส.คือสอดส่องมองหาผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน เช่นโศกเศร้า เสียใจรุนแรง ใส่ใจรับฟัง และส่งต่อรักษากับบุคลากรแพทย์ ซึ่งเป็นเรื่องประชาชนทุกคนควรมีความรู้ติดตัว เช่นเดียวกับการปฐมพยาบาลทางกาย เช่นการห้ามเลือด เป็นต้น พร้อมทั้งสื่อมวลชนจะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่กระจายองค์ความรู้สุขภาพจิตให้การแนะนำประชาชนในภาวะจำเป็นเร่งด่วนได้อย่างทันเหตุการณ์ จะเป็นการสร้างมิติใหม่ของงานสื่อสารสุขภาพจิตที่มีภาคสื่อมวลชน เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาสุขภาพจิตคนไทยทั้งประเทศ โดยจะเริ่มอบรมนำร่องก่อนที่ศูนย์สุขภาพจิตที่ 5 จ.ราชบุรี ในต้นปีงบประมาณ 2561 สื่อมวลชนที่ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองจากหลักสูตรนี้ โดยจะฟื้นฟูเพิ่มเติมความรู้อย่างต่อเนื่องและต่อยอดเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตต่อไป