เห็นด้วยหรือไม่? สิทธิวัยรุ่นเข้าถึงยาคุม-ถุงยาง ลดปัญหาท้องไม่พร้อม

44

เป็นที่น่ากังวลว่า ปัจจุบัน อัตราการป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์รวมถึงการติดเชื้อเอชไอวี ในกลุ่มอายุ 15-24 ปี เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากอัตรา 93 รายต่อประชากร 1 แสนคน  เพิ่มเป็น 161 รายต่อประชากร 1 แสนคน หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 72 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นแม้จะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับสูงถึงวันละ 225 ราย

นี่คือปัญหาที่อยู่ในสังคมไทย และต้องได้รับการป้องกันและแก้ไขอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ล่าสุด สสส. ผนึก 5 กระทรวง ภาคีเครือข่าย จัดประชุมระดับชาติ สุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ 3 เดินหน้าลดวัยรุ่นท้องเหลือต่ำกว่า 25 ต่อ 1,000 ภายในปี 2569 หลังพบวัยรุ่นท้อง 225 ราย/วัน ชูโมเดลแก้ปัญหาวัยรุ่นท้อง 20 จังหวัดนำร่องได้ผล ด้านแกนนำเยาวชนยื่นหนังสือถึง สปสช. ขอเข้าถึงถุงยางอนามัย/ยาคุมฉุกเฉิน

นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คนที่ 2 เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมระดับชาติ สุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ 3 ภายใต้แนวคิด “การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น: จากยุทธศาสตร์ สู่การปฏิบัติที่ยั่งยืน” จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ยูนิเซฟประเทศไทย มูลนิธิแพธทูเฮลท์(P2H) มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง รวมถึงหน่วยงานและภาคีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 1,700 คน

นพ.วีระพันธ์ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ. 2560-2569 ภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 กำหนดเป้าหมายลดอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นให้เหลือต่ำกว่า 25 ต่อพันภายในปี 2569 โดยขับเคลื่อนผ่านยุทธศาสตร์ 5 ด้าน คือ       1. ส่งเสริมการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิต 2. ส่งเสริมบทบาทของครอบครัวและชุมชนในการป้องกันปัญหา 3. จัดบริการอนามัยการเจริญพันธุ์รวมถึงการคุมกำเนิดที่วัยรุ่นเข้าถึงได้ง่าย 4. การดูแลช่วยเหลือและจัดสวัสดิการสังคมสำหรับวัยรุ่นที่ประสบปัญหา และ 5. การจัดการความรู้และระบบข้อมูล

“สิ่งที่น่ายินดีในการดำเนินการต่อปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นคือ ความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ตั้งแต่ก่อนมีการออก พ.ร.บ. ท้องวัยรุ่น อย่างเช่น บทบาทของ สสส. ที่ได้ร่วมกับภาคีวิชาการและหน่วยงานต่างๆ รวบรวมบทเรียนที่พบว่าได้ผลในการแก้ปัญหาท้องวัยรุ่นมาแล้วในต่างประเทศ นำมาพัฒนาเป็นรูปแบบดำเนินการแบบบูรณาการด้วยแนวทาง “9 ภารกิจ” เพื่อป้องกันปัญหาวัยรุ่นตั้งครรภ์ในระดับจังหวัด และ สสส.ร่วมกับกระทรวงหลักและภาคีที่เกี่ยวข้อง ให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนด้วย “9 ภารกิจ” ดังกล่าวใน 20 จังหวัดนำร่อง ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และนำไปสู่การพัฒนาเป็นยุทธศาสตร์ชาติในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น” นพ.วีระพันธ์ กล่าว

 ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า อัตราการป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์รวมถึงการติดเชื้อเอชไอวี ในกลุ่มอายุ 15-24 ปี เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากอัตรา 93 รายต่อประชากร 1 แสนคน  เพิ่มเป็น 161 รายต่อประชากร 1 แสนคน หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 72 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นแม้จะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับสูงถึงวันละ 225 ราย

“ในส่วนของการสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นนั้น สสส. ร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ ได้สนับสนุนและทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ พัฒนาระบบและเครื่องมือที่ช่วยในการพัฒนาครูให้สามารถจัดการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาในสถานศึกษาทุกระดับ รวมถึงกำลังพัฒนารูปแบบและเครื่องมือในการเสริมทักษะพ่อแม่ในสถานประกอบการ เพื่อให้มีทักษะการสื่อสารเชิงบวก และพูดคุยเรื่องเพศกับลูกหลานวัยรุ่นได้ นอกจากนี้ สสส. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและหลายภาคส่วน ดำเนินงานสื่อสารรณรงค์เพื่อปรับเปลี่ยนฐานคิดในสังคมไทยให้มีมุมมองเชิงบวกต่อเรื่องเพศ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้อย่างยั่งยืน” ดร.สุปรีดา กล่าว

ในวันเดียวกัน แกนนำเยาวชนจากเครือข่ายการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จำนวน 300 คนจากทั่วประเทศ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึง นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อเรียกร้องสิทธิในการเข้าถึงถุงยางอนามัย และยาคุมฉุกเฉิน เพื่อให้สอดคล้องกับวาระการประชุมระดับชาติ สุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ 3

น.ส.พรพรรณ ทองทนงศักดิ์ ผู้จัดการการให้คำปรึกษาห้องแชท เลิฟแคร์สเตชั่นดอทคอม กล่าวว่า สิทธิประโยชน์ของผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในหัวข้อการบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) ช่วงอายุกลุ่มเด็กโตและวัยรุ่น 6-24 ปี รายการบริการลำดับที่ 18 ได้ระบุให้บริการอนามัยเจริญพันธุ์ และการป้องกันและควบคุม การตั้งครรภ์วัยรุ่น และการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ ว่า เด็กและเยาวชนจะได้บริการถุงยางอนามัย/ ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน และคำแนะนำการใช้เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และตั้งครรภ์ แต่ในความเป็นจริงยังมีหน่วยบริการจำนวนมาก ไม่ได้มีบริการดังกล่าวให้ เมื่อสอบถามไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้รับคำชี้แจงมาว่า หน่วยบริการสามารถให้บริการได้ แต่ต้องทำเป็นโครงการพิเศษเพื่อขอรับการสนับสนุนเป็นรายกรณี เนื่องจากไม่มีสำรองสำหรับทุกคน

“ขอให้ สปสช. และกระทรวงสาธารณสุข ทบทวนนโยบายและแนวปฏิบัติในการรับบริการถุงยางอนามัย/ ยาคุมฉุกเฉิน ให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้ารับบริการด้านสุขภาพของวัยรุ่น ยิ่งเราไม่อยากเห็นวัยรุ่นตั้งครรภ์ไม่พร้อม ไม่ควรสร้างความยุ่งยากในการปฏิบัติ ทำให้เยาวชนเสียโอกาส เพราะหลายคนมีความจำเป็นต้องใช้บริการถุงยางอนามัยและยาคุมฉุกเฉินให้สะดวกและทันเวลา” น.ส.พรพรรณ กล่าว