เสนอขายสลากผ่านแอป จบปัญหา พ.ร.บ.สลาก

34

เจิมศักดิ์” ออกโรงจวก แก้พ.ร.บ.สลากเกาไม่ถูกที่คัน แค่แก้เก้อให้ คสช. แถมให้เช็คเปล่ารัฐบาล โอนเงินหลวงปีละ 9 พันล้าน ชี้สลากรูปแบบใหม่ ทายผลกีฬา-หวยออนไลน์-ลอตโต้ มาแน่ เสนอ ขายสลากผ่านแอปพลิเคชั่น แทนสลากใบในรูปแบบ 6 หลักเหมือนเดิม ตัดตอนเสือนอนกิน ลดค่าใช้จ่ายในการพิมพ์

รศ.ดร. เจิมศักดิ์  ปิ่นทอง นักวิชาการมหาวิทยาลัยรังสิต  กล่าวว่า การเสนอแก้ไข พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาล ของคณะรัฐมนตรีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช.ขณะนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้สำนักงานสลากฯ ออกผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ที่เป็นการพนันได้มากขึ้น ทั้งการออกหวยล็อตโต้ หรือหวยออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ เพื่อดึงดูดผู้บริโภคได้มากขึ้นโดยอ้างว่าให้ขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี  การแก้กฎหมายลักษณะนี้เท่ากับเป็นการให้เช็คเปล่ากับรัฐบาลในการออกผลิตภัณฑ์การพนันที่รัฐเป็นเจ้าของที่สำคัญคือการแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นการปรับโครงสร้างส่วนแบ่งรายได้เข้าแผ่นดินครั้งใหญ่ โดยลดรายได้เข้าแผ่นดิน ไปเพิ่มรายได้ให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลอีก 5% จากเดิมรายรับจากการขายสลาก 60% นำมาเป็นรางวัล 28% นำมาเป็นรายได้เข้าแผ่นดิน 12% เป็นค่าใช้จ่ายการตลาด เปลี่ยนมาเป็น 23% นำมาเป็นรายได้เข้าแผ่นดิน และ 17% เป็นค่าใช้จ่ายการตลาด เท่ากับว่ารายได้ของแผ่นดินจะลดลงประมาณเกือบ 9 พันล้านบาทต่อปี และสำนักงานสลากฯ จะมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละเกือบ 9 พันล้าน  ซึ่งน่าติดตามเป็นอย่างยิ่งว่าเงินจำนวนนี้จะถูกนำไปใช้อะไร

รศ.ดร. เจิมศักดิ์  ปิ่นทอง

“ที่น่าสังเกตคือการแก้ไข พ.ร.บ.ครั้งนี้ เป็นการแก้กฎหมายเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่คำสั่ง คสช.ที่ 11/2558 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่สั่งให้ลดรายรับจากแผ่นดินไปให้แก่สำนักงานสลากฯอย่างถาวร   ต่างเพียงการยกเลิกข้อที่ให้นำเงิน 3% ไปตั้งกองทุนพัฒนาสังคมเพื่อสนับสนุนการทำงานลดปัญหาการพนัน และให้นำเงินคงเหลือคืนคลัง ซึ่งหาก คสช.จะยกเลิกคำสั่งนี้ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาการจำหน่ายสลากเกินราคาได้สำเร็จ ยังดีกว่าและเหมาะสมกว่าการขอให้ สนช.แก้ไขพ.ร.บ.สลากฯ” รศ.ดร.เจิมศักดิ์ กล่าว

รศ.ดร. เจิมศักดิ์  กล่าวด้วยว่า จริงๆ แล้วการจะแก้ปัญหาสลากแพงให้เกาถูกที่คัน จึงไม่จำเป็นต้องแก้ พ.ร.บ. เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก ระบบแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือสามารถช่วยได้ โดยให้ผู้ซื้อสลากโหลดแอปพลิเคชั่นของสำนักงานสลากฯ และเข้าไปเลือกสลากว่าชอบใบไหน 1 ใบมีตัวเลข 6 หลัก แต่ละใบมีตัวเลขไม่ซ้ำกัน เหมือนสลากเดิมที่ขายอยู่ในปัจจุบัน  และเมื่อมีคนกดเลือกและจ่ายโอนเงินแล้ว ก็ระบุเลขบัตรประชาชนหรือสแกนลายมือผู้ซื้อก็ได้ แล้วผู้ซื้อก็จะได้รูปถ่ายการซื้อสลากฯ เป็นหลักฐาน เหมือนการโอนเงินธนาคารในปัจจุบัน  เมื่อถูกรางวัลสำนักงานสลากฯ ก็โอนเงินไปให้ตามเลขบัญชีที่โอนไปซื้อสลาก จึงเป็นการโอนเงินรางวัลให้ไม่ผิดตัว ป้องกันการแอบอ้างความเป็นเจ้าของอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างครูกับตำรวจ และวิธีนี้ยังสามารถจำกัดผู้ซื้อที่เป็นเยาวชนอายุน้อยได้ เพราะเลขประจำตัวบัตรประชาชนจะบอกข้อมูลถึงอายุผู้ซื้อสลาก  นอกจากนี้ผู้ซื้อยังสามารถเลือกใบสลากได้ง่าย อยากจะซื้อเลขอะไรก็ค้นหาจากแอปฯ ได้ในราคาคงที่ไม่ต้องถูกโก่งราคา นี้จึงเท่ากับเป็นการเปลี่ยนวิธีการจำหน่ายสลากให้ผู้ซื้อซื้อตรงจากสำนักงานสลากโดยไม่ต้องผ่านคนกลาง และไม่ใช่เป็นการออกผลิตภัณฑ์ใหม่แบบหวยออนไลน์ที่ให้เอกชนสัมปทานผูกขาดอย่างที่รัฐบาลก่อน ๆ เคยเสนอมา

“เมื่อเทคโนโลยีใหม่ในยุค 4.0 ได้พัฒนาขึ้น ธุรกรรมการซื้อขายสลากกินแบ่งฯ ก็น่าจะพัฒนา เพื่อแก้ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคและก่อให้เกิดประสิทธิภาพ  ที่สำคัญ ต้นทุนทางการตลาดที่มีมูลค่า 17% ของรายได้จากการขายสลากฯ คิดเป็นเงินเกือบ 3 หมื่นล้านบาทต่อปีที่ต้องละลายไปกับระบบพิมพ์กับระบบจัดจำหน่ายที่ล้าหลัง ซึ่งเป็นจำนวนเงินมหาศาล สามารถนำมาพัฒนาจ้างงานรองรับคนขายสลากเดิมที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนวิธีขายนี้  และยังเหลือเงินไปพัฒนาประเทศมากขึ้นด้วย” ดร.เจิมศักดิ์กล่าว

รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์

รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า พ.ร.บ.สลากฯ ฉบับนี้ บอร์ดมีสิทธิเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้มากขึ้น แต่อำนาจการตัดสินใจทั้งหมดจะอยู่ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) คือรัฐบาลจะเข้ามาเกี่ยวข้องในการบริหารจัดการมากขึ้น แต่ถ้าหากเปลี่ยนรัฐบาล การออกผลิตภัณฑ์สลากอาจถูกยกเลิก หรือเพิ่มผลิตภัณฑ์ในรัฐบาลไหนก็เป็นได้  ดังนั้น พ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้อำนาจบอร์ด จึงต้องทำหน้าที่สำคัญ บริหารงานต้องเน้นธรรมาภิบาล เน้นความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และควรมีคณะกรรมการหรือหน่วยงานมาดูแลเรื่องผลกระทบ ทั้งด้านบวกและลบ ว่ากระทบกับสังคมอย่างไร  ส่วนการเสนอให้ให้ใช้แอปพลิเคชั่น แทนสลาก ตนเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะเป็นหลักการที่ควรจะทำ เมื่อเรามีเทคโนโลยีสมัยใหม่ สำนักงานสลากฯ ก็ควรมีหน้าที่ตอบโจทย์ อีกอย่างคนไม่ได้อยากซื้อเลข 6 ตัว แต่เขาอยากซื้อแค่ 2 ตัว 3 ตัว พอออก 6 ตัว คนก็หันไปเล่นใต้ดิน

“พ.ร.บ.สลากฯ พ.ศ. 2517 มีจุดโหว่ เนื่องจากเกิดมาก่อนที่จะมีหลักคิดธรรมาภิบาล ดังนั้นสิ่งที่ต้องแก้ในครั้งนี้คือ ความโปร่งใสในการดำเนินงาน ขณะเดียวกัน ขอเสนอหลักการถ่วงดุลกรรมการหรือบอร์ดกองสลาก ต้องไม่มีผลประเด็นทับซ้อน เพราะนี่คือกองทุนสาธารณะ ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง” รศ.ดร.สังศิต กล่าว

ธนากร คมกฤส

ขณะที่ นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า การแก้ปัญหาสลากแพงไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมาย แค่เปลี่ยนวิธีการจำหน่ายสลากที่ทำให้คนกลางหายไปก็จบ การขายผ่านแอปพลิเคชั่นเป็นทางเลือกหนึ่งที่เห็นผลได้ชัดเจน การแก้กฎหมายให้เพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่โดยอ้างซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าเพื่อมาแก้ปัญหาสลากแพง โดยยกให้เป็นดุลยพินิจของบอร์ดและครม.เป็นการเปิดช่องโหว่ให้เกิดการรั่วไหลของเงิน ทำให้รัฐและสังคมสูญเสียผลประโยชน์

“สิ่งที่อยากตั้งเป็นข้อสังเกตคือ การเปิดประตูให้ออกสลากได้หลายประเภทนี้ จะครอบคลุมถึงสลากทายผลกีฬาด้วย นั่นคือในอนาคตสำนักงานสลากสามารถรับทายผลพนันบอลหรือพนันมวยได้ทั้งสิ้น ซึ่งคงไม่พ้นการรับแทงผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจะมีปัญหาใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างแน่นอน  การปรับแก้กฎหมายที่ออกในยุค 1.0 มารองรับปัญหาของสังคมยุค 4.0 แน่ใจหรือว่าจะรับมืออยู่ ขนาดปัญหาสลากแพงยังแก้ไม่ได้ แล้วจะแก้ปัญหาที่จะตามมาจากการพนันบอลหรือพนันมวยได้หรือ” นายธนากร  กล่าว