หน้าแรกHealth&Wellnessปลอดไขมันทรานส์ แต่ยังต้องระวังปริมาณการบริโภค

ปลอดไขมันทรานส์ แต่ยังต้องระวังปริมาณการบริโภค

Published on

หลังจากการถูกกฎหมายห้ามผลิต นำเข้า และจำหน่าย ทำให้อาหารต่างๆ ปลอดไขมันทรานส์ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคมนี้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เราจะรับประทานอาหารที่อ้าวว่า ปลอดไขมันทรานส์ ได้อย่างไม่จำกัด เพราะยังมีไขมันอิ่มตัวที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคต่างๆ หากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป

ล่าสุด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เครือข่ายลดการบริโภคไขมัน กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) และมูลนิธิหมอชาวบ้าน จัดเสวนา “จับตาไขมันทรานส์หลังกฎหมายบังคับใช้” จากการประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่อง กําหนดอาหารที่ห้ามผลิต นําเข้า หรือจําหน่าย ซึ่งกำหนดให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบเป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 ม.ค. 2562

ภ.ญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย.ได้เตรียมความพร้อมโดยมีการประชุมชี้แจงกับผู้ประกอบการไขมัน ทั้งผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่าย ให้เข้าใจและปฏิบัติตามกฎหมาย รวมถึงวางแผนเฝ้าระวังและตรวจสอบติดตามหลังจากที่ประกาศฯ ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ โดยมีการติดตาม ตรวจสอบและเฝ้าระวัง ณ สถานที่ผลิต สถานที่นำเข้า สถานที่จำหน่าย ซึ่งจะมีการสุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์เพื่อวิเคราะห์ปริมาณไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่มเสี่ยง พร้อมกับจัดทำคู่มือแนวทางการปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 สำหรับผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน หากพบว่ามีการฝ่าฝืนจะมีโทษตามมาตรา 50 ของพ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท พร้อมกันนี้ได้เผยแพร่ให้ความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภคในช่องทางต่างๆ

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สสส.) กล่าวว่า จากการประชุมทางวิชาการซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการด้านโภชนาการของประเทศไทยและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จาก 7 องค์กรเครือข่าย ได้แก่ เครือข่ายลดการบริโภคไขมัน สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อย. และ สสส. เห็นพ้องต้องกันว่า แม้จะมีประกาศของกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับการห้ามใช้ไขมันทรานส์ที่เกิดจากกระบวนการอุตสาหกรรมอาหารในการผลิตอาหาร ส่งผลให้อาหารที่เคยมีไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบ เช่น พัฟฟ์ พาย เค้ก และอาหารทอดกรอบ ปลอดจากไขมันทรานส์ที่เกิดจากกระบวนการทางอุตสาหกรรมอาหารแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีต่อสุขภาพของประชาชน แต่มีความห่วงกังวลว่า ผู้บริโภคอาจเข้าใจผิดคิดว่าอาหารที่ปลอดไขมันทรานส์จากกระบวนการอุตสาหกรรมนั้นมีความปลอดภัยแล้ว จึงสามารถบริโภคได้มากขึ้น นั่นหมายถึงการได้รับไขมันอิ่มตัวในปริมาณที่มากกว่าเดิม ซึ่งไขมันอิ่มตัวพบมากในอาหารทอดกรอบ เนื้อสัตว์ติดมัน เบเกอรี่ คุกกี้ โดนัท ครีมเทียม เนยเทียม ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนเช่นกัน จึงอยากขอให้หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีไขมันในปริมาณมาก นอกจากนี้เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค สสส.จะทำงานร่วมกับอย.และภาคีเครือข่ายในการตรวจไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์อาหารที่จำหน่ายตามท้องตลาด พร้อมกับให้ความรู้ความเข้าใจแก่สังคมเป็นระยะ

ดร.พิเชฐ อิฐกอ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีความรู้ว่า กระบวนการผลิตไขมันด้วยการเติมไฮโดรเจนบางส่วนลงในไขมันไม่อิ่มตัวเพื่อให้เนื้อไขมันแข็งขึ้นจะก่อให้เกิดไขมันทรานส์และตอนนี้ก็มีความรู้ว่าไขมันทรานส์ไม่เกิดประโยชน์ อุตสาหกรรมผลิตไขมันของไทยจึงเปลี่ยนวิธีการผลิตเป็นการเติมไฮโดรเจนแบบสมบูรณ์และใช้วิธีผสมน้ำมันพืชอื่นๆ ทดแทน ดังนั้นในประเทศไทยจึงไม่มีการผลิตไขมันที่ก่อให้เกิดไขมันทรานส์จากกระบวนการทางอุตสาหกรรมอาหาร

ส่วนประเด็นการนำเข้าไขมันจากต่างประเทศหลังวันที่ 8 มกราคม อย.จะตรวจเข้มการนำเข้าหรืออาหารนำเข้า โดยผู้ประกอบการต้องมีใบรับรองเพื่อยืนยันว่า ไม่มีการปนเปื้อนของไขมันทรานส์จากกระบวนการทางอุตสาหกรรม ดังนั้นผู้ผลิตไขมันในประเทศมีความพร้อม 100% ส่วนผู้นำเข้าต้องปฏิบัติตามกฎหมายใหม่ หากมีผลิตภัณฑ์อาหารที่ยังคงมีไขมันทรานส์จากกระบวนการอุตสาหกรรมปนเปื้อนอยู่ หลังวันที่ 8 ม.ค.นี้ต้องเรียกคืน เพื่อไม่ให้มีอยู่ในท้องตลาด เพราะก่อนกฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ได้ให้เวลาผู้ประกอบการมาล่วงหน้าแล้ว โดยกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมจะเผยแพร่ข้อมูลให้กับกลุ่มสมาชิกได้รับทราบและปฏิบัติตามประกาศนี้ร่วมกัน

น.ส.ภาวดี ใจเอื้อ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการใช้ประโยชน์ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมา สวก.ได้ร่วมกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนให้มีการตรวจปริมาณ ไขมันทรานส์ที่เกิดจากกระบวนการอุตสาหกรรมอาหารในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆในท้องตลาด และได้สนับสนุนให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทดแทนที่ปราศจากกรดไขมันทรานส์และมีปริมาณกรดไขมันอิ่มตัวต่ำ เช่น มาร์การีนจากน้ำมันรำข้าว เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในการปรับตัว และสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค

ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การที่กฎหมายห้ามการผลิตและการนำเข้าไขมันทรานส์ที่เกิดจากกระบวนการอุตสาหกรรมอาหาร ผู้ประกอบการจึงต้องหาผลิตภัณฑ์อื่นมาทดแทน นอกจากนี้ อย.ควรดูใบยืนยันส่วนผสมในสินค้าที่ด่านนำเข้าและสถานประกอบการผลิตอาหาร โดยจะสุ่มตัวอย่าง หากเป็นน้ำมันเนยจากธรรมชาติ ไขมันทรานส์ต้องอยู่ที่ประมาณ 6% แต่ถ้าเป็นน้ำมันหรือไขมันที่ได้มาจากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนจะมีไขมันทรานส์สูงถึง 40-50% ซึ่งแตกต่างอย่างชัดเจน ทั้งนี้แม้จะมีการปรับปรุงสูตรการผลิตไขมันแล้วสิ่งสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังคือ “ไขมันอิ่มตัว” ที่อาจเพิ่มขึ้นเพื่อมาทดแทน และสิ่งที่ภาครัฐต้องเฝ้าระวังคือ การกล่าวอ้าง “Zero Trans Fat” หรือปลอดจากไขมันทรานส์ 0% หากจะกล่าวอ้างต้องใช้เกณฑ์ร่วมกับไขมันอิ่มตัว โดยไขมันอิ่มตัวต่อหน่วยบริโภคต้องไม่เกิน 5 กรัมต่อมื้อ และไขมันทรานส์ ไม่เกิน 0.5 กรัมต่อมื้อ

พญ.ประพิมพ์พร ฉัตรานุกูลชัย เครือข่ายลดการบริโภคไขมันและอาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า โรคหลอดเลือด เป็นโรคอันดับ 2 ของคนไทยที่ทำให้เกิดความสูญเสียทางสุขภาพ หรือปีสุขภาวะที่สูญเสีย ทั้งการตายก่อนวัยอันควรและความสูญเสียจากการมีชีวิตอยู่ด้วยความบกพร่องทางสุขภาพ หนึ่งในสาเหตุสำคัญคือภาวะน้ำหนักเกินจากพฤติกรรมการกิน โดยเฉพาะอาหารทอดกรอบ ซึ่งประเทศไทยมีปัญหาที่สำคัญจากการบริโภคไขมันอิ่มตัวที่มากเกิน โดยไขมัน 1 กรัม ให้พลังงานถึง 9 แคลอรี่ จึงเป็นแหล่งพลังงานสูง ดังนั้นจึงขอแนะนำการบริโภคไขมันที่เหมาะสม โดยในแต่ละวันควรกินไขมันไม่เกิน 30% ของพลังงาน และจำกัดปริมาณการกินไขมันอิ่มตัวไม่เกิน 10% ของพลังงาน หรือคิดเป็นมื้อละไม่เกิน 1 ช้อนชา

Latest articles

ผลงานเก๋ไก๋ เดินไปยิ้มไป คราฟต์ไทยร่วมสมัย Crafts Bangkok 2025

ของบางอย่างแค่ได้ชมก็ชื่นใจ วันนี้จึงยากชวนไปเดินชมงานนี้ “Crafts Bangkok 2025” งานที่รวบรวมไอเดียเก๋ไก๋จากศิลปินไทย ในเส้นทางของศิลปหัตถกรรมไทยร่วมสมัย บอกได้เลยว่างานนี้ เดินไป ยิ้มไป อย่างแน่นอน

“พิชัย” เปิดงาน “Crafts Bangkok 2025” หนุน SACIT ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางหัตถกรรมแห่งอาเซียน

กระทรวงพาณิชย์ โดยสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ SACIT เดินหน้ายกระดับศิลปหัตถกรรมไทยสู่เวทีสากล เปิดตัวงาน “Crafts Bangkok 2025” อย่างยิ่งใหญ่ มุ่งผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางหัตถกรรมแห่งอาเซียน ผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ากับดีไซน์ร่วมสมัยและนวัตกรรม สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่...

ละมุนแบบหนุ่มเชียงราย ร้านอาหารเหนือรสเข้มข้นมีสไตล์ ที่ “ครัวเม็งราย”

อาหารเหนือก็มีศิลปะการทำอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ นำมาซึ่งรสชาติ รสสัมผัส รวมทั้งกลิ่นหอมจากเครื่องสมุนไพรเฉพาะถิ่น หลายเมนูเป็นที่ถูกอกถูกใจของคนทุกภาค

vivo จับมือ UNESCO – วารสารศาสตร์ มธ. ปั้น โครงการ vivo Academy Capture the Future

vivo ประกาศความร่วมมือ กับองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดตัวโครงการ “vivo Academy Capture the Future” กิจกรรมบูทแคมป์ถ่ายภาพเพื่อพัฒนาทักษะและต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ให้แก่เหล่าเยาวชน

More like this