รัฐบาล ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ภาคีเครือข่ายภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เตรียมจัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) วันที่ 9 ธันวาคมของทุกปี ชูแนวคิด “Zero Tolerance คนไทยไม่ทนต่อการทุจริต” หวังกระตุ้นจิตสำนึกทุกภาคส่วนไม่ทนต่อการทุจริต
นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า นับตั้งแต่องค์การสหประชาชาติและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ได้ร่วมกันจัดทำอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 (United Nations Convention against Corruption 2003, UNCAC) ณ ประเทศเม็กซิโก เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2546 โดยอนุสัญญาฉบับนี้มีเป้าหมายให้ประเทศสมาชิกได้ประสานความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อทำให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งประกาศให้วันที่ 9 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (International Anti-Corruption Day) และต่อมาประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นรัฐภาคีในอนุสัญญาดังกล่าว เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554 เป็นลำดับที่ 149
ประเทศไทยในฐานะหนึ่งในประเทศภาคีสมาชิกของอนุสัญญาสหประชาชาติดังกล่าวได้เห็นถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการทุจริต จึงมีการรวมพลังความร่วมมือโดยรัฐบาล สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ขึ้น 2 กิจกรรม คือ
กิจกรรมที่ 1 “เดิน-วิ่ง เพื่อรณรงค์ส่งเสริมคุณธรรม ราษฎร์ – รัฐ ร่วมใจไม่เอาคอร์รัปชัน” ครั้งที่ 1 ภายใต้แนวคิด “GOOD GUY RUN 2018” ในวันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม 2561 เวลา 04.00 – 08.00 น. ณ สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กิจกรรมนี้จัดขึ้นเป็นปีแรกที่ต้องการนำหลักส่งเสริมสุขภาพร่วมบูรณาการกับการสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริตด้วยการแสดงพลังเชิงสัญลักษณ์ส่งเสริมความดีร่วมต้านการทุจริต โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สมาพันธ์ชมรมเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพไทย ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น
กิจกรรมที่ 2 การประกาศเจตนารมณ์ในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) โดยความร่วมมือของรัฐบาล สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมกับภาคีเครือข่าย ในวันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม 2561 เวลา 07.00 – 12.00 น. ณ อิมแพ็คเอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 2 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี นอกจากนี้ในส่วนภูมิภาค จะมีการจัดพร้อมกันทุกจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด ร่วมกับสานักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด หอการค้าจังหวัด หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในจังหวัดด้วยการบูรณาการความร่วมมือเพื่อแสดงพลังพร้อมกัน
ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในฐานะเป็นองค์กรเอกชนที่ต้องการเป็นพลังสังคม ร่วมขับเคลื่อนให้การคอร์รัปชันเป็นสิ่งที่คนไทยและสังคมไทยยอมรับไม่ได้ เราเชื่อว่าความดีและความซื่อสัตย์สามารถสร้างได้ โดยเริ่มจากตัวเราเอง ซึ่งจะเห็นได้จากผลสำรวจดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย (Corruption Situation Index, CSI) ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เมื่อเดือนมิถุนายน 2561 ประเด็นที่น่าสนใจ
ประเด็นที่ 1 พบว่าคนไทยไม่สามารถทานทนกับการทุจริต ค่าคะแนนอยู่ที่ 1.87 ทั้งนี้ ระดับค่าคะแนน จะอยู่ระหว่าง 0 – 10 ถ้าค่าคะแนนใกล้ 10 หมายความว่า ยิ่งสามารถทนได้กับการทุจริต ถ้าค่าคะแนนใกล้ 0 หมายความว่ายิ่งไม่สามารถทนได้กับการทุจริต จึงสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยมีแนวโน้มที่ไม่ทนต่อการทุจริต
ประเด็นที่ 2 คนไทยอยากเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันการทุจริตสูงขึ้น โดยผลสำรวจดังกล่าว คนไทยมากถึงร้อยละ 86 ต้องการและยินดีเข้ามามีส่วนป้องกันการทุจริต
ดังนั้น ทั้งรัฐบาล ภาครัฐและหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบอย่าง ป.ป.ช. ป.ป.ท. ตระหนักถึงความตื่นตัวของคนไทย ของภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เป็นอย่างดี จึงได้มีการปฏิรูปกฎหมาย เพื่อให้การทำงานตรวจสอบรวดเร็วขึ้น ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น ลงโทษผู้กระทำผิดให้รวดเร็วขึ้น หรือให้ความเป็นธรรมกับผู้กล่าวหาได้รวดเร็วขึ้น กฎหมายจะมีการกำหนดกรอบระยะเวลาการทำงาน ขณะเดียวกันเมื่อคนไทยไม่ทนต่อการทุจริตมากขึ้น ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ภาครัฐเองก็ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้ให้ข้อมูล หรือ Whistle Blower มีการปกปิดชื่อผู้ร้องเรียนตามที่ร้องขอ มีมาตรการคุ้มครองผู้ให้ข้อมูล มีการให้รางวัลสินบนแก่ผู้ให้ข้อมูลเมื่อสามารถริบทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ที่สำคัญรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้ภาครัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัว หรือมีส่วนร่วมในการรณรงค์ การให้ความรู้ การต่อต้าน การชี้ช่องเบาะแสการทุจริต และการกำหนดให้ภาครัฐเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงสะดวก ซึ่งเป็นผลดีต่อการให้ประชาชนตรวจสอบการใช้อำนาจของภาครัฐ อันจะนำไปสู่ความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของภาครัฐ
ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ รักษาการผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. มีวิสัยทัศน์อยากเห็นทุกคนบนแผ่นดินไทยมีขีดความสามารถ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาวะ ซึ่งมาตรการอย่างหนึ่ง คือ การส่งเสริมให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น ลดพฤติกรรมเนือยนิ่งในชีวิตประจำวันในทุกกลุ่มอายุ โดย ทั้งนี้“การวิ่ง” และ “การเดิน” เป็นกิจกรรมทางกายที่ทำได้ง่ายและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ “การวิ่ง” และ “การเดิน” จะช่วยเพิ่มความสมบูรณ์แข็งแรงให้กับร่างกายและจิตใจ และหากคนไทยทุกคนมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ เช่น การเดินหรือวิ่ง อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ จะช่วยลดการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ได้ถึง 11,129 รายต่อปี และลดต้นทุนค่ารักษาพยาบาลได้ถึง 5,977 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมการมีร่างกายที่แข็งแรงมีจิตใจที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการต่อต้านคอร์รัปชั่น
สสส.จึงร่วมกับ ป.ป.ช. และ ACT จัดงานกู๊ด กาย รัน ขึ้น ซึ่งนอกจากเป็นการร่วมกันแสดงพลังบวก แสดงพลังความดีด้วยการซื่อสัตย์ เคารพกฎกติกา ไม่เอาเปรียบผู้อื่น เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เพื่อนนักวิ่ง และสามารถส่งต่อความดีให้คนทั้งประเทศได้เห็นว่าเราสามารถป้องกันการคอร์รัปชันได้ง่ายๆ เริ่มต้นที่ความซึ่งสัตย์ต่อตัวเอง โดยใช้วันที่ 7 ธันวาคมนี้ เป็นวันเริ่มต้นสัญญากับตัวเองว่า จะวิ่งหรือเดินให้สม่ำเสมอทุก ๆ วัน พร้อมกับย้ำความม่งมั่นที่จะต้นการคอร์รัปชันตลอดไป
นายธัชพล จิโรจน์วัรภัทร ประธานสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย กล่าวว่า สำหรับการวิ่งแบ่งเป็น 3 ระยะทาง ประกอบด้วย วิ่ง 10 กม. วิ่ง 5 กม. และเดิน 1.5 กม. โดยนักวิ่งทุกคนจะได้รับเสื้อวิ่ง เหรียญที่ระลึก และสายรัดข้อมือ “GOOD GUY” นอกจากนี้ภายหลังเข้าเส้นชัย นักวิ่งยังจะได้ร่วมกิจกรรมการแปรอักษรเป็นสัญลักษณ์รูปมือร่วมกัน โดยมีการบันทึกภาพมุมสูง เพื่อแชร์พลังความดีให้ทั่วประเทศและทั่วโลกได้รับรู้
ผู้สนใจร่วมงานสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง WWW.THAIJOGGING.ORG และทางเฟสบุ๊กแฟนเพจ Good Guy Run เปิดรับสมัครจนถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2561
นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมการรณรงค์งานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ปีนี้ จึงใช้แนวคิด “Zero Tolerance คนไทยไม่ทนต่อการทุจริต” หวังให้เกิดกระแสการตระหนักรู้ว่าการทุจริตโกงชาติ เป็นเรื่องใกล้ตัวเราที่ก่อให้ความเสียหายอย่างรุนแรง ให้คนไทยรู้สึกว่าการทุจริตทุกรูปแบบ เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และไม่ทนต่อการทุจริตอีกต่อไป
ตลอดจนให้คนไทยน้อมนำหลักพอเพียงและจิตอาสา มาใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต ซึ่งจะนำไปสู่ค่านิยมของการไม่โลภ การเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน อันเป็นพื้นฐานสำคัญของสุจริตชน นอกจากนี้ต้องการให้นานาชาติรับรู้ถึงการดำเนินการและความพยายามแก้ไขปัญหาการทุจริตของประเทศไทย อันจะนำไปสู่การลดปัญหาการทุจริต และเป็นการยกระดับคะแนนของดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2564