สสส. เผยแพร่คู่มือมาตรฐานงานวิ่ง ยึดหลักการสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ

85

จากกรณีข้อผิดพลาดที่เกิดในงานวิ่งที่จังหวัดชลบุรี ล่าสุด “พล.อ.ฉัตรชัย” มอบ สสส. เร่งขยายผล เผยแพร่คู่มือมาตรฐานงานวิ่ง ยึดหลัก “Safe – Fair – Fun” หวังเป็นแนวปฏิบัติให้หน่วยงานรัฐ/เอกชน จัดวิ่งได้มาตรฐาน เผยภายใน 1 ปี ประเทศไทยมีการจัดกิจกรรมวิ่งมากกว่า 1,000 รายการ มีนักวิ่งเข้าร่วมกว่า 10,000 คนต่อครั้ง

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวถึงมาตรฐานการจัดงานวิ่งที่เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขณะนี้ ว่า ภายใน 1 ปี ประเทศไทยมีการจัดกิจกรรมวิ่งมากกว่า 1,000 รายการ ซึ่งมีผู้จัดหรือองค์กรที่หลากหลาย มีประสบการณ์ในการจัดงานวิ่งที่แตกต่างกัน ขณะที่ข้อมูลจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ปัจจุบันจำนวนนักวิ่งเพิ่มอย่างก้าวกระโดดจาก 5 ล้านคนในปี 2549 เป็น 15 ล้านคน ในปี 2560 โดยแต่ละรายการแข่งขันมีนักวิ่งกว่า 1 หมื่นคน ดังนั้นเมื่องานวิ่งเติบโตขึ้นพร้อมผู้จัดงานวิ่งที่หลากหลาย อาจไม่ทราบว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ต้องคำนึงถึง ย่อมส่งผลกระทบกับนักวิ่งนับล้านคน รวมถึงผู้ใช้รถใช้ถนน และเกิดการแสวงหาผลประโยชน์อื่นๆ ดังนั้น สสส. ได้ร่วมกับสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย สมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดทำคู่มือการจัดกิจกรรมงานวิ่งเพื่อสุขภาพ เป็นองค์ความรู้และแนวมาตรฐานในการจัดกิจกรรมวิ่งที่ยึดหลัก Safe – Fair – Fun เพื่อเป็นแนวทางให้แก่ภาคีสุขภาพ และหน่วยงานที่สนใจใช้เป็นคู่มือในการจัดกิจกรรมวิ่งได้

“คู่มือการจัดกิจกรรมงานวิ่งเพื่อสุขภาพ ได้ถอดองค์ความรู้ และบทเรียนจากการจัดงานวิ่ง  โดยยึดหลักการของสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ หรือ International Association of Athletics Federations (IAAF) โดยมีประเด็นหลักในมาตรฐานการจัดงานวิ่ง คือ Safe (ความปลอดภัย) เช่น การปิดถนน การจราจร ความปลอดภัยของพื้นผิวถนน การแพทย์และพยาบาล การประกันอุบัติเหตุ การให้ความรู้กับนักวิ่งหน้าใหม่ การอบรมการวิ่งโดยการทำคลินิกนักวิ่ง เพื่อให้นักวิ่งเตรียมความพร้อมร่างกายให้แข็งแรง การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) การป้องกันการบาดเจ็บ เพื่อช่วยเหลือทั้งตัวนักวิ่งเอง และผู้อื่น การจัดการน้ำดื่ม เพราะร่างกายเราขาดน้ำไม่ได้ ยิ่งวิ่งระยะไกลและอุณหภูมิของอากาศที่สูงทำให้ผู้จัดจำเป็นต้องเตรียมน้ำให้พร้อมสำหรับนักวิ่ง” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

รองนายกฯ กล่าวอีกว่า Fair (ความยุติธรรม ความเท่าเทียมกัน) คือ การให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง และข่าวสารเกี่ยวกับงานวิ่งที่จัด การรับสมัครที่เป็นระบบ มีการบันทึกข้อมูล ระบบการจับเวลาที่เป็นมาตรฐาน สามารถทราบผลการวิ่งได้ทันทีที่เข้าเส้นชัย มีการประกาศอย่างเป็นทางการ และ Fun (ความสนุกสนาน) โดยหลักการของนานาชาติ อนุญาตให้มีการสร้างสีสัน การแสดงประจำท้องถิ่น และนักวิ่งแฟนซี เพื่อสร้างความบันเทิงระหว่างเส้นทางวิ่ง เพื่อสร้างความสนุกสนานและให้กำลังใจนักวิ่งด้วย ดังนั้นสิ่งที่นักวิ่งควรคำนึงถึงเป็นอันดับแรกๆ ในการตัดสินใจเลือกลงสมัครงานวิ่ง คือ เรื่องความปลอดภัย ความยุติธรรม-ความเท่าเทียม และความสนุกสาน โดยสามารถศึกษาข้อมูลจากคู่มือฯ เพื่อเป็นแนวทางให้แก่ผู้จัดงานวิ่งอย่างได้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงเป็นแนวให้ตัวนักวิ่งเองได้ศึกษาเพื่อพิจารณางานวิ่งแต่ละงานที่ต้องการจะเข้าร่วมว่ามีการดำเนินการเป็นไปตามมาตรฐานการจัดงาน เพื่อให้การเข้าร่วมงานได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ คือ ได้ทั้งความสนุกและสุขภาพที่ดี

สำหรับคู่มือการจัดกิจกรรมงานวิ่งเพื่อสุขภาพ ได้เปิดตัวไปในงานแถลงข่าว “ไทยเฮลท์ เดย์ รัน 2018” (Thaihealth Day Run 2018) ครั้งที่ 7 ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดได้ที่ ”www.thaihealth.or.th หรือ https://bit.ly/RunningBooksTH  โดยได้ถูกใช้เป็นแนวทางสำคัญในการจัดกิจกรรมวิ่งเพื่อสุขภาพของ สสส. และภาคีเครือข่าย ที่ผ่านมา อาทิ งานวิ่งจอมบึงมาราธอนที่จัดขึ้นกว่า 30 ปี ได้รับการยอมรับจากนักวิ่งทั่วประเทศ