จริงหรือไม่ตั้งครรภ์ห้ามเก็บอุจจาระแมว ท้องแล้วต้องทิ้งแมวใช่ไหม

48

ช่วงที่ยังไม่มีลูก อยู่ด้วยกันสองคนสามี-ภรรยา บางครั้งอาจจะรู้สึกเหงา หลายคนก็เลยหาสัตว์เลี้ยงมาอยู่เป็นเพื่อน ซึ่งหนึ่งในสัตว์เลี้ยงยอดนิยมก็เห็นจะเป็นเจ้าแมวเหมียวที่ทั้งขี้อ้อนและขี้เล่น แต่พอเลี้ยงไปสักพัก หลายคนตั้งครรภ์สมใจ แล้วคราวนี้จะทำยังไง บางคนพูดว่าตั้งครรภ์แล้วไม่ควรเลี้ยงแมว เดี๋ยวจะติดโรค แต่บางคนก็สนับสนุนให้เลี้ยง เพราะแมวทำให้ผ่อนคลาย ไม่เครียด เมื่อแม่มีความสุข ลูกในท้องก็มีความสุขไปด้วย ยิ่งฟังก็ยิ่งสับสน เพื่อไขข้อข้องใจในเรื่องนี้ การสอบถามจากสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญน่าจะดีกว่า

สพ ญ ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์

สพ.ญ.ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์ จากคลินิกแมว โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า คุณแม่ตั้งครรภ์กับแมวสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและปลอดภัย คุณแม่ไม่จำเป็นต้องทิ้งแมว ความจริงแล้วการเลี้ยงแมวในช่วงตั้งครรภ์มีนั้นข้อดี เพราะช่วยผ่อนคลายและลดความวิตกกังวลได้ ส่วนข้อเสียนั้นมีน้อยมาก อาจจะมีในแง่ที่ว่าแมวมีโรคติดต่อบางโรคที่ติดสู่คนได้ แต่ไม่ได้เฉพาะกับคนที่ตั้งครรภ์เท่านั้น คนที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ก็อาจได้รับเชื้อได้หากเลี้ยงแมวไม่ถูกสุขลักษณะ

อย่างไรก็ตาม เราสามารถป้องกันและทำความเข้าใจกับลักษณะการเกิดโรคนั้นๆ ได้ เพียงปฎิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และสัตวแพทย์ รวมทั้งทำความเข้าใจกับโรคต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อลดความเสี่ยง ลดความวิตกกังวล และลดความเข้าใจผิดในการเกิดโรค

สำหรับ โรคที่ถูกกล่าวถึงมากว่ามีโอกาสที่คนจะติดจากแมว ก็คือ โรคท็อกโซพลาสโสซิส หรือ โรคขี้แมว (Toxoplasmosis) ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัวที่ชื่อว่า Toxoplasma gondii เชื้อนี้มีวงจรชีวิตที่สามารถเจริญเติบโตได้ในสัตว์เลือดอุ่นทุกชนิดไม่เพียงเฉพาะแต่ในคนและแมว แต่แมวจัดเป็นโฮสต์แท้ของเชื้อชนิดนี้ โดยเชื้อจะอาศัยทางเดินอาหารของแมวในการเจริญเติบโตจนสมบูรณ์และปล่อยไข่ (oocyst) ปนออกมากับอุจจาระของแมว แต่อุจจาระที่ปล่อยออกมาแล้วมีไข่โปรโตซัวชนิดนี้อยู่นั้นไม่สามารถติดต่อได้ทันที เนื่องจากตัวอ่อนต้องใช้เวลาในการฟักตัว 2-5 วัน และยังขึ้นอยู่กับปัจจัยสภาพแวดล้อมภายนอกที่ต้องเหมาะสมต่อการพัฒนาด้วย

สำหรับแมวกลุ่มที่เสี่ยงต่อการมีเชื้อนี้ คือ แมวที่เลี้ยงระบบเปิด และไปกินสัตว์อื่น เช่น หนู นก หรือแมวกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก แต่หากเป็นแมวที่เลี้ยงระบบปิด และไม่กินเนื้อดิบหรือกินหนู นก โอกาสพบเชื้อค่อนข้างน้อยมากหรือไม่มีเลย ซึ่งการติดต่อสู่คนของเชื้อนี้มีได้ 3 ทาง คือ

  1. การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีไข่ที่เจริญเต็มที่แล้วปนเปื้อนอยู่
  2. การรับประทานถุงซีสต์ของพยาธิที่อยู่ในเนื้อสัตว์ดิบหรือปรุงไม่สุกที่มีเชื้อโรคขี้แมวอยู่
  3. ผ่านทางรกไปยังทารกหากแม่ติดเชื้อขณะตั้งครรภ์

อย่างไรก็ตาม คนเลี้ยงแมวที่ติดโรคขี้แมวจากแมวโดยตรงนั้นมีน้อย การติดต่อทางหลักของโรคนี้ในแมวมักเกิดจากการที่กินเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว ที่มีเชื้อปนเปื้อนและปรุงไม่สุกหรือปรุงสุกๆ ดิบๆ มากกว่า ข้อควรเข้าใจคือโรคนี้ไม่ได้เกิดกับคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคน สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโรคขี้แมว เชื้อโรคจะผ่านรกไปยังทารกและทำให้เกิดโรคขี้แมวแต่กำเนิดได้ แต่ถ้าได้รับเชื้อโรคขี้แมวมาก่อนการตั้งครรภ์และร่างกายมีแอนติบอดีต่อเชื้อโรคขี้แมวแล้ว และร่างกายแข็งแรงดีถือว่าเป็นกลุ่มที่ไม่เสี่ยง ส่วนกลุ่มแม่ที่เสี่ยง ได้แก่ คนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องจากโรคเอดส์ หรือติดเชื้อขี้แมวก่อนตั้งครรภ์เพียงเล็กน้อย หรือแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นมะเร็งและเคยได้รับการทำเคมีบำบัด หรือเคยมีการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ เป็นต้น

หลายคนมีคำถามอีกว่า จริงหรือไม่ที่คุณแม่ตั้งครรภ์ห้ามเก็บอุจจาระแมวโดยเด็ดขาด ซึ่ง สพ.ญ.ปิยวรรณ บอกว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสอุจจาระแมวโดยตรง ถ้าเป็นไปได้ควรให้สมาชิกในบ้านเก็บแทน แต่ถ้าไม่มีใครทำแทน ให้ใส่ถุงมือเพื่อลดการสัมผัสเชื้อโรค และล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังเสร็จภารกิจเสมอ

นอกจากวิธีปฏิบัติในการเก็บอุจจาระแมวแล้ว สพ.ญ.ปิยวรรณ ยังได้แนะนำเกี่ยวกับ การเตรียมตัวและวิธีปฏิบัติอื่นๆ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เลี้ยงแมวด้วย โดยในส่วนของแมวนั้นมีวิธีปฏิบัติคือ

  1. ควรเลี้ยงแมวในระบบปิด เลี้ยงในบ้าน งดการให้แมวสัมผัสกับพื้นดินภายนอกเพื่อลดการปนเปื้อนติดเชื้อ
  2. ไม่ให้แมวกินเนื้อดิบ หรือเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก
  3. หลีกเลี่ยงการให้แมวสัมผัสหรือล่าเหยื่อตามธรรมชาติ เช่น การจับนก หนู เป็นต้น
  4. ควรนำแมวไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจแอนตีบอดีต่อเชื้อโรคขี้แมวได้ในกลุ่มแมวที่มีความเสี่ยง เพื่อเป็นการตรวจคัดกรองโรคเบื้องต้น

ในส่วนของคุณแม่ตั้งครรภ์มีวิธีปฏิบัติ คือ

  1. หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำไม่สะอาด
  2. ใส่ถุงมือทุกครั้งที่สัมผัสดินหรือทราย เพราะอาจมีเชื้อโรคขี้แมวปนอยู่ในสิ่งแวดล้อม
  3. ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร
  4. ปิดกระบะทรายแมวที่ทิ้งไว้นอกบ้านเสมอ
  5. เปลี่ยนกระบะทรายแมวทุกวัน
  6. ไม่รับแมวจรจัดหรือแมวใหม่มาเลี้ยงขณะตั้งครรภ์
  7. กำหนดพื้นที่เลี้ยงแมวให้ชัดเจน อาจจะงดการนำแมวมานอนด้วยเพื่อลดการปนเปื้อนเชื้อ
  8. ทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมที่อยู่ของแมว กรง และชามอาหาร โดยใช้ความร้อนซึ่งสามารถทำลายไข่ของโปรโตซัวได้
  9. ปรึกษาแพทย์ที่ดูแลเพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมเพิ่มเติมในช่วงที่ตั้งครรภ์

ฟังคำอธิบายจากคุณหมอแล้วว่าโรคขี้แมวไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด คุณแม่ตั้งครรภ์คงสบายใจขึ้น และเพียงทำตามวิธีง่ายๆ ที่คุณหมอแนะนำ ก็ทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถอยู่ร่วมกับแมวได้อย่างมีความสุข อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณแม่คลอดลูกแล้ว ก็ควรปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้นต่อเนื่องด้วย เพื่อลดโอกาสที่ลูกน้อยจะติดเชื้อ และถ้าลูกโตขึ้นก็ควรสอนให้เขาเห็นถึงความสำคัญของการล้างมือ เพื่อป้องกันการติดโรค รวมทั้งสอนให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสอุจจาระแมวโดยตรง และหลี่กเลี่ยงการสัมผัสแมวจรจัดด้วย

สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เลี้ยงแมว สามารถนำแมวไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจเช็คร่างกายได้ที่โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อทุกสาขา รายละเอียดเพิ่มเติม www.facebook.com/ThonglorPet หรือ Line: @jaothonglor