Cross Cultural Crafts 2018 จากวิถีชาวบ้าน สู่จักสานร่วมสมัย 

1821

จักสาน เป็นงานหัตถศิลป์พื้นบ้านที่อยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทยมาอย่างยาวนานทั่วทุกภาคของไทย มีการประยุกต์ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ นำมาทำการสานเป็นของใช้นานาชนิด เกิดเป็นภูมิปัญญาที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น แม้ว่าที่ผ่านมา งานจักสานของแต่ละพื้นที่ จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ต้องยอมรับว่า อาจจะยังไม่เข้าถึงความสนใจของคนยุคใหม่มากนัก โดยเฉพาะวันนี้ ที่มีวัสดุทดแทนหลากรูปแบบ เข้ามาเป็นข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน

โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยในวัฒนธรรมร่วม (Cross Cultural Crafts 2018) จึงเกิดขึ้น ด้วยความตั้งใจของ SACICT หรือ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนารูปแบบของงานหัตถศิลป์ท้องถิ่นที่อยู่คู่ชุมชนมานานอย่างงานจักสาน ให้มีรูปแบบที่หลากหลาย ทันสมัย รองรับตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปได้ 

ล่าสุด SACICT  ได้จัดแสดงผลงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยในวัฒนธรรมร่วม (Cross Cultural Crafts 2018) ผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกลุ่มครูช่างฯ ทายาทฯ และผู้ผลิตงานหัตถศิลป์ เพื่อร่วมพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีเอกลักษณ์ และมีความร่วมสมัย เริ่มตั้งแต่ 17 – 23 กันยายนนี้ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ  กล่าวว่า SACICT ในฐานะหน่วยงานสำคัญที่ทำหน้าที่ ได้เล็งเห็นความสำคัญของกลุ่มงานหัตถกรรมใกล้สูญหาย (Forgotten Heritage) ซึ่งเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตามท้องถิ่นหรือชุมชนในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน และได้รับผลกระทบจากกระแสวัฒนธรรมสมัยใหม่ จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยในวัฒนธรรมร่วม (Cross Cultural Crafts 2018) ติดต่อกันมาเป็นปีที่ 4 แล้ว

ซึ่งในปีนี้ SACICT มุ่งเน้นการดำเนินงานเชิงบูรณาการ ร่วมกับเครือข่ายองค์กรที่สนับสนุนและพัฒนางานศิลปหัตถกรรมในภูมิภาคเอเซีย โดยนำการพัฒนางานหัตถกรรมประเภทเครื่องจักสาน มาเป็นแนวคิดการทำงานหลัก หรือ Flagship Project ประจำปี 2561 ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนจาก 2 ประเทศในภูมิภาค ได้แก่ National Taiwan Craft Research and Development Institute (NTCRI) หน่วยงานพัฒนางานวิจัยและการออกแบบงานหัตถกรรมจากสาธารณรัฐไต้หวัน และ Hacienda Crafts องค์กรที่สนับสนุนและพัฒนางานหัตถกรรมท้องถิ่นจากสาธารณรัฐฟิลิปปินส์

การร่วมมือผ่านโครงการในครั้งนี้ก่อให้เกิดการสืบสานภูมิปัญญาและพัฒนางานหัตถกรรมจักสานให้เกิดมีมูลค่าเพิ่มจนสามารถพัฒนาสู่ตลาดสากลได้

SACICT ได้แบ่งผู้เข้าร่วมโครงการออกเป็น 2 กลุ่ม ในแต่ละกลุ่มจะประกอบด้วยครูช่างศิลปหัตถกรรมและทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ที่ผ่านการคัดสรรจากคณะกรรมการว่ามีคุณวุฒิและคุณสมบัติที่เหมาะสมทั้งสิ้นกลุ่มละ 5 ราย เดินทางไปพบปะและศึกษาวิธีการผลิตชิ้นงานจักสาน เช่น เทคนิคการสาน การย้อมสี การขึ้นรูปและการประกอบรูปทรงที่แตกต่างกับงานหัตถกรรมจักสาน ตลอดจนได้ลงมือผลิตชิ้นงานตามแนวทางของศิลปินท้องถิ่นที่ได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ

หลังจากนั้นผู้เข้าร่วมโครงการได้นำองค์ความรู้ที่ได้กลับมาพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์จักสานของตนเองสู่เชิงพาณิชย์ จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมในวัฒนธรรมร่วม ประจำปี 2561 กว่า 20 ชิ้นงาน จาก 10 ครูช่างศิลปหัตถกรรมและทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ได้แก่

ครูเรืองยศ หนานพิวงศ์ ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2554 งานจักสานเส้นกก จังหวัดอุดรธานี

ครูมณฑา กังวานก้อง ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2554 งานจักสานย่านลิเภา จังหวัดนครศรีธรรมราช

ครูเสริญสิริ หนูเพชร ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2554 งานสานใยตาล จังหวัดสงขลา

ครูพะเยาว์ ศรีอำพร ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2557 งานจักสานไม้ไผ่ จังหวัดนครสวรรค์

คุณคมกฤช บริบูรณ์  ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม 2558 งานจักสานไม้ไผ่ จังหวัดชลบุรี

คุณมนัสพงษ์ เซ่งฮวด ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2557 งานสานกระจูด จังหวัดพัทลุง

คุณศิริวรรณ สุขี ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2556 งานสานเถาวัลย์ จังหวัดราชบุรี

คุณณัฐระวี เดื่อมขันธ์มณี ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2560 งานจักสานป่านศรนารายณ์ จังหวัดเพชรบุรี 

คุณนภารัตน์ ทองเสภี ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2557 งานจักสานย่านลิเภา จังหวัด นครศรีธรรมราช

 รศ.วาสนา สายมา นักสร้างสรรค์จากโครงการ Innovative Craft Award ปี 2555 เจ้าของแบรนด์ Vassana

นิทรรศการโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมในวัฒนธรรมร่วม (Cross Cultural Crafts 2018 ) เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 17-23 กันยายน 2561 ณ บริเวณชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Call Center 1289 หรือ www.facebook.com/sacict