เคาะประตูบ้านครูศิลป์ ชมแหล่งภูมิปัญญาถึงถิ่นอีสานใต้

831

งานศิลปหัตถกรรมถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า ในวันนี้ช่างฝีมือศิลปหัตถกรรมที่ได้รับการสืบทอดวิชามาจากบรรพบุรุษ ยังคงสืบสานและสร้างผลงานออกมาให้ทุกคนได้ชื่นชม และส่วนใหญ่ก็ได้สร้างทายาทงานศิลป์ เพื่อรักษาและต่อยอดให้งานศิลปหัตถกรรมนั้นๆ ยังคงอยู่สืบไป

เรามีโอกาสได้เดินทางไปเยือนจังหวัดบุรีรัมย์และสุรินทร์ เพื่อตามรอยงานศิลปหัตถกรรมไทยถิ่นอีสานใต้ ที่มีฝีมือและชั้นเชิงอันหาที่เปรียบไม่ได้ นับเป็นโอกาสดีที่ได้มาเยือนบ้านครูศิลป์ของแผ่นดินกันถึงถิ่น จากการส่งเสริมและสืบสานของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ซึ่งในทริปนี้ได้รับเกียรติจาก นางอัมพวัน พิชาลัย ผอ. SACICT นำคณะมาเคาะประตูบ้านเหล่าครูศิลป์ด้วยตัวเอง

นางอัมพวัน พิชาลัย ที่บ้านครูรุจาภา

บ้านครูรุจาภา ดูไหม ชมไหม เอกลักษณ์ซิ่นตีนแดง

ปักหลักแรกกันที่บุรีรัมย์ ดินแดนภูเขาไฟ และกำลังไปได้สวยกับการท่องเที่ยวด้านกีฬา วันนี้เรามีโอกาสได้มาเยือนบ้านของครูรุจาภา เนียนไทสง ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2557 ซึ่งเชี่ยวชาญด้านงานผ้ามัดหมี่ ที่นี่เป็นทั้งบ้าน ร้านจำหน่าย พร้อมศูนย์สาธิต ตั้งอยู่ ต.บ้านยาง อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์

ครูรุจาภา เนียนไทสง

จุดเด่นคือการเลี้ยงไหมเองภายในหมู่บ้าน สาวไหมเอง ซึ่งเป็นไหมไทยพื้นบ้าน โดยการสาวลงตะกร้าด้วยมือจนได้รับพระราชทาน ตรานกยูงทองจากกรมหม่อนไหม ลายที่โดดเด่นคือ ลายนกยูง ที่ใช้เทคนิคใหม่การทอผสมผสานกับการเขียนทอง สร้างมิติของลวดลายให้ดูระยิบระยับเป็นที่สะดุดตา

เอกลักษณ์ที่น่าสนใจของที่นี่คือ ผ้าซิ่นตีนแดง ซึ่งเป็นการทอขึ้นทั้งผืน ไม่ใช่การทอแล้วนำมาต่อกันเหมือนที่อื่น นอกจากนั้นยังมีการคิดลายใหม่ๆ รวมทั้งลายที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของทางจังหวัด เช่น ลายปราสาทหินพนมรุ้ง โดยผ้าในลักษณะนี้จะใช้เพื่อการตกแต่งภายในเป็นหลัก

นอกจากความสวยงามบนผืนผ้าทอแล้ว ในชุมชนยังมีความเชื่อว่าผ้าซิ่นตีนแดง ถือเป็นผ้ามงคล หากผู้ใดมีไว้ในครอบครองจะมีบุญวาสนาบารมี โดยมีเรื่องราวความเชื่อต่างๆ ล้วนแต่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน เช่น ใช้สำหรับรับขวัญเด็กแรกเกิด โดยเชื่อว่าหากนำผ้าซิ่นตีนแดงมารองรับขวัญเด็กแรกเกิดแล้ว จะถือเป็นการปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ทั้งภูต ผี ปีศาจ ไม่ให้เข้ามาใกล้ และเพื่อความเป็นสิริมงคลกับเด็กแรกเกิดอีกด้วย อีกทั้งในงานพิธีกรรมทางศาสนา ยังใช้สำหรับใส่ไปงานบุญ งานมงคลต่างๆ เช่น งานทำบุญ งานบวช งานมงคลสมรส งานบายศรีสู่ขวัญ งานขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น

กัลยากร เกรัมย์

วันนี้ยังได้เห็นผ้าซิ่นตีนแดงลายโบราณ มรดกสมัยคุณยาย ที่ตกทอดมาถึงหลาน โดย คุณกัลยากร เกรัมย์ ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับครูรุจาภา และรักการทอผ้าเช่นกัน แถมยังชี้ให้ดูเอกลักษณ์พิเศษของผ้าโบราณที่จะนุ่งในงานสำคัญเท่านั้น นั่นคือ การเก็บตีนดาว ที่อยู่ถัดจากตีนแดงไปอีกชั้น ซึ่งไม่ค่อยมีให้เห็นมากนัก ซึ่งชั้นของตีนดาวที่ว่านี้ ก็แสดงถึงชนชั้นของสตรีในสมัยโบราณด้วย

บ้านครูป่วน ช่างเครื่องเงินสุรินทร์ตัวจริงเสียงจริง

จากบุรีรัมย์มุ่งหน้าสู่จังหวัดใกล้เคียงอย่างจังหวัดสุรินทร์ เพราะเป็นอีกจังหวัดที่มีงานศิลปะหัตถกรรมระดับครูให้เราได้ไปชื่นชมกัน

ครูป่วน เจียวทอง

เริ่มต้นที่ บ้านครูป่วน เจียวทอง ครูศิลป์ของแผ่นดินปี 2552 และ คุณเพชรรัตน์ เจียวทอง ทายาทช่างศิลป์หัตถกรรม ปี 2559 งานช่างโลหะสุรินทร์ ตำบลเขาวารินทร์ อ.เขวาสินรินทร์ จ.สุรินทร์ ที่มีความเชี่ยวชาญในการรังสรรค์ตะเกากับประเกือมเป็นชิ้นงานที่มีชื่อเสียง มีความประณีต

เข็มขัดเส้นนี้มีหลายลวดลายในเส้นเดียวกัน สนนราคาหลักแสนบาท

ไปถึงบ้านครูป่วน ซึ่งมีศูนย์เรียนรู้อยู่ด้านหน้า และร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องเงินและเครื่องโลหะ ครูป่วนเริ่มต้นทักทายและทำการบรรยายด้วยความเป็นกันเอง เล่าคร่าวๆ ให้เราฟังว่า แกได้วิชามาตั้งแต่เด็กๆ ฝึกจนเชี่ยวชาญ และถ่ายทอดให้คนในครอบครัวรวมทั้งเครือญาต และเพื่อนบ้านที่สนใจ แบบที่ไม่หวงวิชา

เอกลักษณ์ของครูป่วน คือ การคิดลวดลายจากธรรมชาติ เรียกว่าไปเห็นดอกไม้ใบหญ้าที่ไหนมา ครูป่วนก็นำมาดัดแปลงและขึ้นแบบ เช่น ลายรังผึ้ง รังแตน รังหอกโปร่ง ดอกปลึก รวมทั้งดอกเขวา ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำถิ่น (อ่านควบกล้ำว่า “เขวา” ไม่ใช่ “เข-วา”)

หลังจากสนทนากับครูป่วนกันพอสมควร ก็มีการสาธิตกระบวนการทำเครื่องเงินให้ชม พร้อมกับวินาทีที่หลายคนรอคอย นั่นคือการช้อปปิ้ง ครูป่วนยังบอกว่า ปัจจุบันอาจจะมีลายที่ถูกลอกเลียนแบบ และกล่าวอ้างว่าเป็นงานของครูป่วนอยู่บ้าง แต่เพื่อให้ทุกคนได้มั่นใจ ขอให้มองที่สัญลักษณ์ชื่อ “ป่วน” ที่ครูตอกไว้ด้านหลังของทุกชิ้นงาน การันตีว่าจะได้ผลงานอันสุดปราณีตของครูป่วนกันจริงๆ

บ้านครูสุรโชติ เจ้าตำรับผ้าโฮลโบราณ

จากบ้านครูป่วน เราเดินทางต่อกันอีกนิด ไปยังบ้านครูสุรโชติ ตามเจริญ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2559 เพื่อชมงานผ้าโฮลโบราณ ต.เขวาสินรินทร์ อ.เขวาสินรินทร์ จ.สุรินทร์

ครูสุรโชติ ตามเจริญ

ที่นี่คือแหล่งงานอนุรักษ์การทอผ้าโฮลแบบโบราณ ด้วยภูมิปัญญาชาวไทยเชื้อสายเขมร ที่มีความชำนาญในการมัดลายและการย้อมสีธรรมชาติ ผสานกับภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ช่วยให้สีติดสวย โดยใช้ครั่งย้อมร้อนใส่ใบเหมือดแอ ใบชงโค ใบมะขาม สีเหลืองย้อมด้วยมะพูดผสมแก่นเข ย้อมครามด้วยวิธีย้อมเย็น ซึ่งวันนี้ครูสุรโชติลงมือย้อมให้ดูด้วยตัวเอง

พร้อมกันนี้เรายังได้ชมกระบวนการอันซับซ้อนของผ้าโฮล ซึ่งเป็นผ้ามัดหมี่ที่มีลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ “โฮล” ในภาษาเขมร เป็นชื่อเรียกกรรมวิธีการผลิตผ้าไหมที่สร้างลวดลายขึ้นมาจากการมัดย้อมเส้นไหมให้เกิดลวดลายต่างๆ ก่อน แล้วจึงนำมาทอเป็นผืนผ้า ซึ่งตรงกับคำว่า “ผ้าปูม” ในภาษาไทย และคำว่า “มัดหมี่” ในภาษาลาว

ครูสุรโชติ เป็นผู้สืบทอดความรู้การทอผ้าโฮลรุ่นที่ 3 จากการได้มาเป็นเขยสุรินทร์และเห็นคุณยายของภรรยา ทอผ้าและมัดหมี่ลายผ้า ด้วยความคุ้นเคยในวัฒนธรรมการทำผ้าโฮลโบราณ จึงเกิดความสนใจที่จะเรียนรู้ และเริ่มฝึกฝนการมัดหมี่ การย้อมสีธรรมชาติจนชำนาญ และได้สืบค้นลายผ้าเก่าจากพิพิธภัณฑ์ หนังสือผ้าโบราณ รังสรรค์เป็นผืนผ้าให้กลับมา สืบสานภูมิปัญญาอันงดงามไม่ให้เลือนหายไปไหน

ที่บ้านครูสุรโชติ ยังมีพิพิธภัณฑ์เล็กๆ จัดแสดงผืนผ้า ทั้งผ้าโฮลทออายุร้อยปีตั้งแต่สมัยคุณยาย และผ้าโฮลที่คิดลวดลายใหม่ๆ ขึ้นมา

ท่ามกลางสายฝนสลับแสงแดดที่แผดจ้า แต่การเดินทางในครั้งนี้ ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขและสนุกสนาน ไม่รู้สึกเลยว่าสภาพอากาศจะเป็นอุปสรรคอะไร ด้วยเพราะยินดีปรีดากับการสืบสานมรดกอันทรงคุณค่า พร้อมทั้งการได้มาเยือนบ้านครูผู้เปี่ยมด้วยฝีมืออันมากล้น ได้ใกล้ชิดแบบติดขอบชานเรือนแบบถึงที่ถึงถิ่นถือเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำยิ่งนัก