โลกซึมเศร้า 350 ล้านชีวิต หรือมากกว่านั้น

111

ผู้ที่ไม่ตกอยู่ในภาวะของโรคซึมเศร้า ย่อมไม่เข้าใจถึงโลกซึมเศร้า  และอาจจะสบประมาทว่า โรคชนิดนี้มันมีอิทธิพลมากขนาดที่หลายคนกล่าวถึงจริงหรือ

โรคซึมเศร้าไม่ได้แสดงออกทางกายภาพ ไม่มีตุ่ม หรือผื่นแดง ไม่ได้มีอาการเหมือนไข้หวัด ไอ ปวดหัว ตัวร้อน เพราะโรคซึมเศร้าเป็นเรื่องของภาวะจิตใจภายใน จิตแพทย์เคยให้ความรู้ว่า โรคนี้อาจจะเกิดมาจากพันธุกรรมเลยก็เป็นได้ และอธิบายให้เข้าใจง่ายๆว่า ในสมองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า จะขาดสารบางอย่างไป จึงมีการรักษาผู้ป่วยด้วยการให้ยาหนึ่งในนั้นคือ “ยาต้านความเครียด” หรือเรียกง่ายๆ ว่า “ยาต้านเศร้า” เพื่อปรับระดับสารนั้นให้สมดุล ซึ่งต้องใช้เวลาและความต่อเนื่อง นอกจากนั้นก็มีการรักษาด้วยจิตแพทย์ที่ไม่ใช่ยา ด้วยการใช้หลักจิตวิทยาเข้ามาบำบัด แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ยาที่ดีของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าก็คือกำลังใจ จากคนใกล้ชิด

กรมสุขภาพจิตให้ความรู้ว่า โรคซึมเศร้า เป็นโรคที่รักษาได้ แต่หากปล่อยไว้จนเป็นมาก หรือได้รับการรักษาที่ไม่ต่อเนื่อง ก็จะนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้สูงถึง 30% แต่หากได้เข้ารับการรักษา อัตรานั้นจะลดลงเหลือ 2%

โรคซึมเศร้าเป็นโรคเรื้อรัง พบได้ทุกเพศวัย สัดส่วนของผู้หญิงจะเป็นมากกกว่าผู้ชาย ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าราว 350 ล้านคนทั่วโลก ในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าราว 1-2 ล้านคน  นี่อาจเป็นเพียงผู้ป่วยที่อยู่ในระบบการรักษา แต่ยังมีผู้ป่วยที่แฝงตัวอยู่ในโลกปกติอีกมากมายนัก

ธนาคารโลกและองค์การอนามัยโลกได้ทำการสำรวจ และรายงานโรคที่จะสร้างปัญหาให้กับประชาชนและประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2563 พบว่า โรคจิตเวช โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า มีแนวโน้มการป่วยของประชากรสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน และคาดว่าจะมีประชากรร้อยละ 10 ของโลกที่มีปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา และก่อให้เกิดปัญหาระโยงระยางทั้งผู้ที่ป่วยเอง ครอบครัว ชุมชน ไปจนถึงประเทศชาติ

ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ชี้วัดได้ว่า โรคซึมเศร้า หรืออาการป่วยทางจิตอื่นๆ จะเข้ามาในชีวิตของผู้คนมากขึ้น นอกเหนือจากพันธุกรรมแล้ว วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของผู้คน สังคมที่โดดเดี่ยวท่ามกลางการเอาตัวรอดในสนามที่มีคู่แข่งมากขึ้น อัตราคนโสดเพิ่มขึ้น พร้อมกับการหย่าร้างที่กลายเป็นเรื่องปกติ  พร้อมกับสังคมผู้สูงอายุที่มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ความสัมพันธ์ของคนก็เช่นกัน  คงนึกภาพออกได้ว่า ในวงสนทนาของสังคมหรือแม้กระทั่งความสัมพันธ์ของคนสนิทเครื่องมือสื่อสารกลับมีบทบาทมากกว่าผู้ที่อยู่ตรงหน้าไปเสียแล้ว หลายคนมีความสุขกับโลกเสมือนจริงในอินเตอร์เน็ต แต่หน่ายแหนงกับคนรอบข้างในชีวิตประจำวันโดยสิ้นเชิง

เรื่องน่ารู้ของคนที่พบว่าตัวเองกำลังตกอยู่ในภาวะของโรคซึมเศร้าและกำลังสร้างความกระทบกระเทือนให้กับชีวิต เช่น นอนไม่หลับ ร้องไห้บ่อย ท้อแท้หรือฉุนเฉียวผิดปกติ ปฏิเสธการสื่อสารกับคนใกล้ชิด ฯลฯ สามารถเข้ารับการปรึกษากับจิตแพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆได้ คนไข้ในระบบประกันสังคมทุกวันนี้สามารถใช้บริการรักษาโรคซึมเศร้าในโรงพยาบาลที่เลือกรับสิทธิ์ได้ แต่แพทย์เฉพาะทางอาจจะไม่ได้มาประจำที่โรงพยาบาล บางแห่งก็มีจิตแพทย์สำหรับคนไข้เพียงสัปดาห์ละครั้งเท่านั้น

ส่วนผู้ที่เข้ารับการรักษากับจิตแพทย์ที่บำบัดด้วยการไม่ใช้ยาโดยตรง อาจจะมีค่ารักษาประมาณ 4000-5000 บาทต่อครั้ง ผู้ที่เคยเข้ารับการรักษาวิธีนี้ระบุว่า มันเป็นช่วงเวลาพูดคุยอันยาวนานแต่ก็โล่งใจอย่างบอกไม่ถูก  อย่างไรก็ตาม ทุกรูปแบบของการรักษาต้องการความต่อเนื่องของการเข้าพบจิตแพทย์ ซึ่งอาจจะใช้เวลาอันยาวนาน

อย่างไรก็ตาม ยาที่ที่ดีที่สุดของมนุษย์คือ “สติ”ปัจจุบันผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคอะไรเลย แต่ขาดสติ ก็นำมาซึ่งความสูญเสียยิ่งกว่าโรคซึมเศร้ามากมายหลายเท่าตัวนัก

โลกซึมเศร้า เพราะคนไร้สติ จึงน่ากลัว และควรได้รับการเยียวยาอย่างเร่งด่วนเช่นกัน

 

อาการของโรคซึมเศร้าที่ต้องช่วยกันสังเกตุคนข้างๆ

  • รู้สึกสิ้นหวัง มองโลกในแง่ร้าย คิดลบ หงุดหงิดฉุนเฉียว กังวลตลอดเวลา
  • ตำหนิตัวเอง รู้สึกตัวเองไร้ค่าไม่มีความหมาย
  • ขาดความสนใจทางสังคม เก็บตัว เชื่องช้า
  • ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง นอนไม่หลับหรือนอนมากเกินไป
  • คิดหรือพูดถึงเรื่องความตาย

หากคนข้างๆมีอาการทั้ง 5 นี้ติดต่อกันเป็นเวลานานอย่างน้อย 2 สัปดาห์ สามารถยื่นมือเข้าช่วยและพยายามเปิดใจให้เขาได้ผ่อนคลาย และนำสู่การรักษา ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถค้นคว้าได้ในเว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิต http://www.dmh.go.th