คกก. เดินหน้าขับเคลื่อนโรงพยาบาลเค็มน้อย อร่อย (3) ดี

50

คณะกรรมการนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียม เพื่อลดโรคไม่ติดต่อระดับชาติ ประชุมขับเคลื่อนโรงพยาบาลเค็มน้อย อร่อย (3) ดี ทั่วประเทศ รวม 83 แห่ง พร้อมเดินหน้าเพื่อปรับลดค่าปริมาณโซเดียม จากเดิม 2,400 มิลลิกรัม/วัน เป็น 2,000 มิลลิกรัม/วัน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการประชาพิจารณ์ และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา  ได้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียม เพื่อลดโรคไม่ติดต่อระดับชาติ ครั้งที่ 3 ณ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ซึ่งที่ประชุมได้มีการหารือและร่วมขับเคลื่อนใน 2 เรื่องสำคัญ คือ การดำเนินงานโรงพยาบาลเค็มน้อย อร่อย (3) ดี และการปรับลดค่าปริมาณโซเดียม

จากที่คณะกรรมการนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อระดับชาติ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ได้มีมติให้ดำเนินการโรงพยาบาลเค็มน้อย อร่อย (3) ดี นั้น ได้มีการติดตามผลการดำเนินงาน ซึ่งขณะนี้โครงการโรงพยาบาลเค็มน้อย อร่อย (3) ดี ภายใต้แนวคิด “อาหารโรงพยาบาลเค็มน้อย ดีต่อสุขภาพ ดีลดโรค และอร่อยดี” เพื่อให้โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปของกระทรวงสาธารณสุข เป็นแหล่งของอาหารโซเดียมต่ำ ทั้งอาหารสำหรับผู้ป่วยที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาล และอาหารจากร้านค้าต่างๆ สำหรับญาติและผู้ที่มารับบริการ  โดยกรมควบคุมโรค ได้ขอความร่วมมือจากสำนักงานสาธารณสุข 76 จังหวัด และโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปขนาดใหญ่ รวมจำนวน 83 แห่ง ให้ดำเนินการดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขับเคลื่อนให้เกิดการปรับปรุงประกาศกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยฉลากโภชนาการ เพื่อปรับลดค่าปริมาณโซเดียม ในข้อกำหนดสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคต่อวันสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป (Thai RDI) จากเดิม 2,400 มิลลิกรัม/วัน เป็น 2,000 มิลลิกรัม/วัน เพื่อให้สอดคล้องตามมาตรฐานสารอาหารที่ควรได้รับต่อวัน (GUIDELINES ON NUTRITION LABELLING) ของ CODEX  โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการประชาพิจารณ์ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันความรุนแรงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการได้โซเดียมสูงมากเกินความต้องการ ถือเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งกลุ่มโรคดังกล่าวส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของทั้งผู้ป่วย ครอบครัว และประเทศชาติด้วย จึงจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการใน 2 เรื่องดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้ประชาชนชาวไทยมีสุขภาพที่ดี ต่อไป  ประชาชนสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422