วิศวะ จุฬาฯ ผุดไอเดีย นำคาร์บอนมาสร้างประโยชน์

43

วิศวะ จุฬาฯ ผุดไอเดีย นำคาร์บอนมาสร้างประโยชน์ จากความร่วมมือของ 8 ธุรกิจระดับประเทศ จัดตั้ง CCUS Technology Development Consortium

ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาโลกร้อน และต้องหาแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์ (CO2) ซี่งเป็นเรื่องสำคัญระดับโลกที่องค์การสหประชาชาติเรียกร้องให้ทุกประเทศเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงเกิน 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ด้านประเทศไทยเอง ก็มีหลายธุรกิจอุตสาหกรรม ที่มีความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) แต่ยังขาดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างชัดเจน รวมถึงขาดการส่งต่อและถ่ายทอดเทคโนโลยีในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพื่อนำมาสร้างประโยชน์ อย่างเป็นรูปธรรม

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ประสานความร่วมมือกับผู้ผลิตและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่สร้าง CO2 ตลอดจนภาครัฐผู้วางนโยบายและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความร่วมมือ ในการลดคาร์บอน และส่งต่อวิธีการกับเก็บหรือนำไปใช้ประโยชน์โดยผ่านกระบวนการและเทคโนโลยี จึงได้เกิดการจัดตั้ง CCUS Technology Development Consortium ขึ้นโดยมีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เป็นหน่วยงานกลางในการประสานงาน รวบรวมข้อมูลตลอดจนร่วมวางแผนและพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) ให้กับประเทศไทย โดยมีหน่วยงานเอกชนระดับแนวหน้าของประเทศ 5 กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรม 8 บริษัท เข้าเป็นสมาชิกร่วมจัดตั้ง

ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า พัฒนาการทางด้านเทคโนโลยี CCUS นับเป็นเรื่องที่สำคัญและเร่งด่วนสำหรับประเทศไทย ซึ่งเทคโนโลยีทางด้าน CCUS นับเป็นเรื่องที่ใหม่มากทั่วโลกและประเทศไทยเองก็มีโอกาสสูงในการสร้างเทคโนโลยีทางด้านนี้ให้เท่าทันต่างประเทศ ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนและร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ นำโดยศูนย์ BCGeTEC ภาควิชาวิศวกรรมเคมีจึงได้ประสานงานกับหน่วยงานชั้นนำในประเทศ ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการก้าวเดินไปสู่การนำเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งเดิมถูกมองเป็นเพียงมลพิษ มาแปรรูปแล้วนำไปใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ กล่าวคือเป็นเทคโนโลยีในการนำของเสียมาสร้างเป็นสิ่งที่มีมูลค่าทางด้านการพาณิชย์ ในขณะเดียวกันยังเป็นการขจัดมลภาวะให้กับสภาพแวดล้อมอีกด้วย

ขณะนี้ภายใต้ CCUS Consortium สมาชิกได้ร่วมกันศึกษาแนวทางการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อดักจับและใช้ประโยชน์จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย และจุฬาฯจะเริ่มต้นโครงการการสาธิตเทคโนโลยีการดักจับและการใช้ประโยชน์คาร์บอนไดออกไซด์ผ่านความร่วมมือกับสมาชิกในลำดับต่อไป

สำหรับ 8 ธุรกิจที่เข้าร่วม โครงการความร่วมมือนี้ ประกอบด้วย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน), บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน), บริษัท เอส ซี จี ซีเมนต์ จำกัด (มหาชน), บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน), บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด และบริษัท สหวิริยาสตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน)

นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานภาครัฐและองค์กรสาธารณะเป็นที่ปรึกษาของ Consortium ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)