รพ.สวนปรุง พัฒนาระบบการตรวจรักษาผู้ป่วยจิตเวชทางไกล

37
โรงพยาบาลสวนปรุงพัฒนาระบบการตรวจรักษาผู้ป่วยจิตเวชทางไกลผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เพิ่มช่องทางการเข้าถึงของผู้ป่วยจิตเวชให้ได้รับยาอย่างต่อเนื่อง  ลดอาการกำเริบจากการขาดยา  ครอบครัวและชุมชนสุขใจ  เริ่มแล้วตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 ในพื้นที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่  และ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก และเล็งขยายผลในพื้นที่อีก
นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์    อธิบดีกรมสุขภาพจิต และคณะ    ลงพื้นที่ตรวจราชการโรงพยาบาลสวนปรุง จังหวัดเชียงใหม่ ติดตามโครงการพัฒนาระบบบริการการตรวจรักษาผู้ป่วย     จิตเวช และให้สัมภาษณ์ว่าโรงพยาบาลสวนปรุงเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางที่รับผิดชอบดูแลสุขภาพจิตของประชาชนในเขตพื้นที่ 13 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ในเขตสุขภาพที่ 1 และ 2 มีประชากรรวมประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งมีลักษณะพื้นที่  ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงเช่นในจังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่เป็นภูเขามากถึง 80%การเดินทางลำบาก ใช้เวลานาน และ        มีค่าใช้จ่ายสูง ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกลขาดโอกาสในการได้รับบริการทางสุขภาพที่พึงได้จากโรงพยาบาลชุมชนที่มีเพียงแห่งเดียวในแต่ละอำเภอ  โดยเฉพาะผู้ป่วยทางจิตเวชซึ่งเป็นโรคเรื้อรัง ต้องรับประทานยาเพื่อควบคุมอาการอย่างต่อเนื่อง  จึงมีความเสี่ยงในการขาดยาสูงทำให้อาการทางจิตกำเริบส่งผลกระทบต่อครอบครัวและชุมชน จึงได้ให้โรงพยาบาลสวนปรุงเร่งพัฒนาการบริการประชาชนที่อยู่บนพื้นที่สูงหรือพื้นที่ห่างไกล โดยนำเทคโนโลยีการสื่อสารมาใช้  ให้เกิดประโยชน์ในภาคบริการจิตเวชให้ประชาชนเข้าถึงระบบการดูแลรักษาได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
นายแพทย์ธรณินทร์  กองสุข  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง กล่าวว่า  การพัฒนาดังกล่าวโรงพยาบาลสวนปรุงได้ร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านใหม่ ตำบลแม่ตื่น ตำบลม่อนจอง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่อุสุ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก พัฒนาระบบการตรวจรักษาทางไกลผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต บริการประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นต้นไป  โดยที่ตำบลแม่ตื่น ห่างไกลจากตัวอำเภออมก๋อยประมาณ 90 กิโลเมตร  ใช้เวลาเดินทางโดยสารรถประจำทางนานกว่า 3 ชั่วโมง มีประชากรรวมหนึ่งหมื่นกว่าคน มีผู้ป่วยจิตเวชในความดูแล  50 คน  และร้อยละ 60 ของผู้ป่วยเหล่านี้ไม่ได้รับการรักษา ที่ต่อเนื่อง เพราะยากจน เดินทางลำบาก  แต่ระบบริการทางอินเตอร์เน็ตนี้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมารับการรักษาถึงโรงพยาบาลสวนปรุง
นายแพทย์ธรณินทร์ กล่าวอีกว่า ในการรับบริการตรวจรักษาทางอินเตอร์เน็ต ผู้ป่วยจิตเวชทั้งรายเก่าและรายใหม่และญาติจะเดินทางไปรอตรวจที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านใหม่ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลตำบล  แม่อุสุ เพื่อเข้าสู่ระบบการตรวจรักษาทางไกล โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะเป็นผู้ดำเนินการตรวจคัดกรองอาการเบื้องต้น  จากนั้นจะให้จิตแพทย์ที่อยู่ที่โรงพยาบาลสวนปรุงตรวจ โดยจิตแพทย์จะสามารถมองเห็นตัวผู้ป่วยและประเมินอาการทางจิตของผู้ป่วยจากการพูดคุยเหมือนนั่งอยู่ในห้องเดียวกันผ่านทางจอคอมพิวเตอร์  จากการทดลองใช้ระบบพบว่าได้ผลดี  สามารถลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยในการเดินทางไปโรงพยาบาลสวนปรุงซึ่งเคยใช้ครั้งละประมาณ 500-1,000 บาท  ลดการเสียเวลาในการทำงานได้อย่างมาก และได้รับยารักษาชนิดเดียวกันกับที่โรงพยาบาลสวนปรุงใช้  ลดการขาดยา ครอบครัวผู้ป่วยสุขใจขึ้น ชุมชนมีความปลอดภัย โดยโรงพยาบาลสวนปรุงจะขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ อีก ซึ่งจะประชุมวางแผนร่วมกับเขตสุขภาพในเดือนมีนาคมนี้