เที่ยวไป คิดไป เอาใจช่วย “เชียงใหม่” พ้นวิกฤตโควิด-19

87

พิษโควิด-19 ส่งผลกระทบจังหวัดเชียงใหม่เต็มๆ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหาย สถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งแทบจะเป็นเมืองร้าง คนท้องถิ่นกำลังเดือดร้อนหนัก ถึงเวลาแล้วที่คนไทยต้องเก็บกระเป๋าไปเที่ยวเชียงใหม่กัน คืนชีวิตให้เมืองแห่งล้านนา

คอลัมน์ท่องเที่ยวของ The Balance ครั้งนี้ ดูเหมือนจะต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา พวกเราโบยบินไปสู่จังหวัดเชียงใหม่ ดินแดนแห่งล้านนา แทนที่จะพาผู้อ่านไปท่องเที่ยว ไปไหว้พระ ตามรอยวัฒนธรรม เลาะหาของกินจากร้านอร่อยในถิ่นเมืองเหนือ หรือไม่ก็เสาะหาบาร์บนดาดฟ้า นั่งจิบเบียร์ชิวๆดูทิวทัศน์ของเมืองในยามเย็น แต่พวกเรากลับไปพิชิตภารกิจคือ พูดคุยกับแม่ค้า พนักงานรักษาความปลอดภัย พนักงานทำความสะอาด คนขับรถแดง คนขายโจ๊ก คนขายสับปะรด คนขับแกร็บไบค์ คนขับแกร็บคาร์ และคนท้องถิ่นๆอีกหลายๆ ท่าน

เพราะอะไรนะหรือ เพราะเชียงใหม่นั้น “เงียบ” เหลือเกิน เพราะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ไปแบบเต็มๆ ไปคราวนี้ เราได้เห็นภาพเชียงใหม่ที่เราไม่เคยเห็น จังหวัดท่องเที่ยวอันดับต้นๆของประเทศมีนักท่องเที่ยวบางตาจนเห็นได้ชัด พิษของโควิด-19 ได้ทำให้แหล่งท่องเที่ยวอย่าง “เชียงใหม่ไนท์พลาซ่า” แทบจะเป็น “เมืองร้าง”  ตลาดวโรรส หรือ กาดหลวงที่พวกเรารู้จัก ก่อนหน้าโควิดจะมา พวกเราจะเห็นภาพนักท่องเที่ยวมะรุมมะตุ้มซื้อไส้อั่วที่ร้านชื่อดังอย่างร้านดำรงค์ แต่ ณ วันนี้นักท่องเที่ยวหายไปจนเห็นได้ชัด ภาพเหล่านี้ ได้กระตุ้นต่อมอยากรู้ของเราขึ้นมาว่า สุขภาพเศรษฐกิจท้องถิ่นของเมืองเชียงใหม่จะเป็นอย่างไรหนอ ข้อมูลที่เราพบจริงจะเป็นปรอทวัดเศรษฐกิจท้องถิ่นได้ชัดเจนมากกว่าตัวเลขเศรษฐกิจใดๆจากองค์กรภาครัฐ

ตลาดวโรรส

หลายคนอาจค้านอยู่ในใจว่า นี่คือ การเที่ยวหรือ สำหรับในสายตาของเรา เราว่าเป็นการเที่ยวนะ สนุกสุดๆเลยละ นิยามการเที่ยวของเราคือ การได้ปลดแอกจากชีวิตประจำวันเดิมๆ ได้ออกไปสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ เจอโลกใบใหม่ เจอผู้คนใหม่ๆ ได้พูดคุยเติมพลังทางความคิด และการพูดคุยกับคนท้องถิ่น ช่วยให้เราเข้าใจว่า พวกเขากำลัง “ดิ้นรน” อย่างหนัก เพื่อความอยู่รอด รอวันนักท่องเที่ยวกลับมา

ทริปของเรานะหรือ ง่ายมาก ไร้ซึ่งการวางแผนใดๆ แค่จองโรงแรมผ่านอาโกด้าภายใต้โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ได้ส่วนลดค่าห้อง 40% จากนั้นก็หาตั๋วเครื่องบิน เราจองได้ที่ไทยไลอ้อนแอร์ ได้ราคาที่น่าพอใจ เวลาบินก็แสนสะดวก ไม่นับรวมได้โหลดสัมภาระส่วนหนึ่งได้ฟรีอีกต่างหาก นอกจากนี้ โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ยังสนับสนุนออกค่าตั๋วให้อีก 40% แต่เราต้องสำรองจ่ายไปก่อนและสามารถเคลมกลับได้หลังจากทริปของเราสิ้นสุดลง ซึ่งก็ช่วยเราประหยัดค่าใช้จ่ายไปเยอะ

บรรยากาศยามค่ำคืนที่เงียบเหงา ณ เชียงใหม่ไนท์พลาซ่า

อย่างที่เกริ่นไว้ ทริปเรานั้นไร้ซึ่งการวางแผน ดังนั้น หลายคืนในเชียงใหม่ เราจึงปล่อยดำเนินไปอย่างที่มันควรจะเป็น ตามแรงกายและความคึกที่มี วันแรกของเรา เราตั้งใจ (อย่างมาก) ว่าต้องไปไปจิบเบียร์ที่ร้าน Parallel Universe of Lunar 2 on The Hidden Moon คราฟท์เบียร์บาร์ บนดาดฟ้าโครงการ One Nimman ให้ได้ เพราะดูจากรูปของร้านแล้ว น่านั่งเหลือเกินและเป็นที่เหมาะสำหรับนั่งชิวๆคนเดียวโดยไม่เคอะเขิน จิบเบียร์เย็นๆพร้อมกับดูพระอาทิตย์ตกดิน ดูจะมีความสุขไม่น้อย แต่โชคไม่ดีเลย ร้านนี้ปิดไปเสียแล้ว เพราะทนกับพิษโควิดไม่ไหว

การอยู่เชียงใหม่ครั้งนี้ เหมือนเราได้เหมือนย้อนกับไปเป็นเด็กอีกครั้ง โบกรถแดงไป One Nimman จากนั้นไปกาดหน้ามอ (หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่) เหนื่อยนัก เราก็เรียกรถแกร็บคาร์ไปส่ง The Riverside Bar & Restaurant ริมแม่น้ำปิง จิบเบียร์เย็นๆ เคลิ้มไปกับเสียงดนตรีสด รุ่งเช้าอีกวัน เรียกแกร็บไบค์ ไปกินกาแฟที่ “สภากาแฟ 786” ริมถนนช้างคลาน เป็นร้านอาหารของชาวมุสลิม ราคาไม่แพง แต่สำหรับรสชาติ เรารู้สึกธรรมดา ย้อนแย้งกับแรงเชียร์จากรีวิวต่างๆที่เคยได้อ่านมา จากนั้น มื้อเที่ยงก็ฝากท้องไว้ที่ร้าน “ต๋องเต็มโต๊ะ” ร้านอาหารเหนือบนถนนนิมมานฯ รสชาติอร่อยดีนะ เชียร์เลย ราคาเข้าถึง โดยเฉพาะไส้อั่วและผัดผักหวานใส่ไข่ เมื่อท้องอิ่ม เราเรียกแกร็บไบค์อีกครั้ง มุ่งสู่ซอยวัดอุโมงค์ ไปร้านหนังสือ “Being in The Book” หาอาหารสมอง ก่อนจะจบลงที่แช่น้ำร้อน คลายความเหนื่อยล้า ที่ Hokka-An ออนเซนแถวถนนช้างเผือก

ร้านค้าที่ One Nimman กับการค้าที่ซบเซา

ณ Being in The Book เราได้พบกับน้องสองคน (ลืมถามชื่อ) เจ้าของร้าน ทั้งคู่เป็นแฟนกันจบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้หญิงจบเอกปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์ ขณะที่ผู้ชายจบสาขามานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ และกำลังเรียนต่อปริญญาโทที่สาขาเดียวกันในมหาวิทยาลัยเดิม ทั้งสองคนรักการอ่านหนังสือ รักเมืองเชียงใหม่ จึงปักหลักเปิดร้านหนังสือเล็กๆขึ้นมาตามความฝัน แม้แนวโน้มการอ่านหนังสือจากกระดาษจะน้อยลงทุกวัน ประกอบกับโควิด 19 ระบาด ที่ส่งกระทบกับการท่องเที่ยวเชียงใหม่อย่างหนัก จนทำลูกค้ากลุ่มนักอ่านหายไป ทั้งคู่ก็ไม่รู้ว่า สิ่งที่คิด สิ่งที่ฝันจะเป็นจริงได้มากเพียงไร แต่กระนั้น เราก็เอาใจช่วย ให้กำลังใจกับทั้งคู่ให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้

ที่นี่ เรายังได้นวนิยายภาษาอังกฤษน่าอ่านมา 3 เล่มไว้อ่านฆ่าเวลา เล่มแรกเรื่อง The Grapes of Wrath ของ John Steinbeck เล่มนี้ตั้งใจอ่านมากเพราะเคยอ่านครั้งหนึ่งสมัยเรียนในมหาวิทยาลัย ตอนนั้นวัยกระเตาะเรายังไม่รู้จักคำว่า the Great Recession ดีพอ ด้วยสภาพเศรษฐกิจโลกและการดิ้นรนของสังคมอเมริกันปัจจุบัน จึงชวนให้เราอยากอ่านขึ้นมาอีกครั้ง ดูสิว่าจะคิดอะไรได้มากกว่าเดิมไหม เล่มที่ 2 Silence ของ Endō Shūsaku นักเขียนชาวญี่ปุ่นที่เราชื่นชอบจากเรื่อง Deep River ในฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ ส่วนเรื่องที่ 3 น้องผู้ชายเจ้าของร้านเลือกให้คือ The Kite Runner ของ Khaled Hosseini ที่เคยสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้ว

ถนนคนเดินท่าแพ

เรียกได้ว่าเป็นทริปเชียงใหม่แบบ Let’s it be จริงๆ สนุกในหลากหลายอารมณ์ จริงๆแล้ว การไปโน่นไปนี่ การเดินออกนอกเส้นทาง เจอคนนั้น เจอคนนี้ ทำให้เราได้รู้จักเชียงใหม่ไปอีกแบบ และแน่นอนว่า นอกเหนือความสนุกและความสุขที่เราได้ เรายังได้มุมมองชีวิตใหม่ๆ รวมถึงได้รับรู้ถึงความเป็นไปของคนท้องถิ่นอีกด้าน การพูดคุยกับแม่ค้า พนักงานรักษาความปลอดภัย พนักงานทำความสะอาด คนขับรถแดง คนขายโจ๊ก คนขายสับปะรด คนขับแกร็บไบค์และคนขับแกร็บคาร์ เราจับความรู้ชีวิตพวกเขาได้แบบเต็มๆคือ พวกเขาเหนื่อยมาก ณ เวลานี้

ณ ตลาดวโรรส คนขายสับปะรดบอกกับเราว่า ปกติแล้วปอกไว้ แล้วใส่เป็นถุงๆ ไม่นานก็ขายหมด แต่เดี๋ยวนี้ รอแล้วรออีกกว่าจะขายได้ เช่นเดียวกับร้านขายกระเป๋าเดินทาง บนชั้น 2 ของตลาด บางวันขายไม่ได้เลยเพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป แต่ก็ต้องเปิดร้านขายปกติเพราะจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะไปแล้วตั้งแต่ต้นปี ด้านหนุ่มแกร็บไบค์บอกว่า ก่อนหน้าโควิด-19 จะมา มีรายได้คืนละหลายพัน แต่ตอนนี้พันหนึ่งนะยากมาก หากจะได้ จำเป็นต้องยืดเวลาทำงานช่วงกลางคืนออกไปอีก ขณะที่คนขับรถแดง ก็บอกว่าหากินยากมาก นักท่องเที่ยวหายหมด เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ห้าง Maya เขาบอกว่า หลังจากนักท่องเที่ยวชาวจีนหายไป บางวันแทบไม่ค่อยมีคนมาเดินห้าง โดยเฉพาะวันจันทร์ ขณะที่ ร้านขายอาหารในฟู้ดคอร์ทชั้นใต้ดิน คนขายบอกว่า บางร้านทนสภาพไม่ไหว ก็ต้องเลิกขายไป คนขายที่อยู่ก็ต้องกัดฟันกันไป

ไนท์พลาซ่า

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เราจึงหาข้อมูลด้วยตัวเอง เราแวะไป One Nimman อีกครั้งในช่วงบ่ายวันอาทิตย์ว่าจริงเท็จขนาดไหน เราคิดในใจว่า วันหยุดมันน่าจะคึกคัก แต่มันตรงกันข้าม ภาพข้างหน้าที่เราเห็นคือ มันเงียบมาก มีคนอยู่ก็จริง แต่บางตาเหลือเกิน จากนั้น เราก็โบกรถแดงต่อไปถนนคนเดินท่าแพ ภาพที่เห็นก็พอได้ มีคนจำนวนไม่น้อย แต่บรรยากาศก็ไม่คึกคักเท่าที่ควร และต่อด้วยเดินทางไปเชียงใหม่ไนท์พลาซ่า ภาพที่เราเจอคือ “เงียบสนิท” แทบไม่มีร้านค้าเปิด โดยเฉพาะแผงขายของบนริมฟุตบาท ที่เป็นเสน่ห์ของนักช็อปยามค่ำคืน ก็หายเกลี้ยง เห็นเพียงฟุตบาทเปลือยเปล่าที่ทอดยาวไปสุดถนน ไร้ซึ่งสิ่งกีดขวาง ตอกย้ำถึง ความอ้างว้างของพื้นที่ ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่

เราไม่รู้ว่า เชียงใหม่จะฟื้นตัวได้เมื่อไร หากดูตามรูปการณ์แล้ว คงอีกนาน ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่การค้นพบวัคซีนโควิด แต่เมื่อถึงตอนนั้น ไม่รู้ว่าร้านค้าจะปิดตัวไปอีกมากเท่าไร เศรษฐกิจจะทรุดลึกลงมากขนาดไหน ขณะที่อีกความหวังคือ ภูเก็ตโมเดล ที่ภาครัฐพยายามผลักดันให้เกิด ต้อนรับนักท่องต่างชาติเข้าภูเก็ตผ่านมาตรการคุมเข้มโรคโควิด-19 ถ้าโครงการนำร่องนี้ประสบความสำเร็จ ก็สามารถนำมาปรับใช้กับเมืองเชียงใหม่ได้ พอที่จะมีน้ำเลี้ยงเข้าไปหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจท้องถิ่นให้มีชีวิตต่อไปได้

One Nimman

ก่อนจะไปถึงตอนนั้น ระหว่างทางยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนอีกมาก ณ ขณะนี้ พวกเราคนไทยก็คงต้องช่วยกันเองแล้ว ดังนั้น หากใครพอมีกำลังซื้อพอ ก็เก็บกระเป๋าเที่ยวเชียงใหม่กันเลย ใครงบน้อย อยู่แบบถูกๆก็มี ทั้งอาหารและที่พักอย่างโฮสเทลเก๋ๆ ไม่เที่ยวตอนนี้ ก็ไม่รู้จะเที่ยวตอนไหน แต่อยากจะแนะนำว่า ถ้าเข้าร่วมโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ช่วยประหยัดได้เยอะจริงๆ

ไปเที่ยวเชียงใหม่กันเถอะ ช่วยเชียงใหม่ให้พ้นจากวิกฤต