หมอชัยโรจน์ เผยเหตุ รพ. ขาดทุน

52

นพ.ชัยโรจน์ ซึงสนธิพร  (สกส.) กล่าวถึงปัญหาขาดทุนของโรงพยาบาล ว่า การจ่ายในระบบ DRG จะมี 2 ส่วน คือค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ (Relative weight: RW) ของแต่ละกลุ่มโรคคูณด้วยอัตราฐาน (Base rate) โดยในส่วนของค่าน้ำหนักสัมพัทธ์นี้ ทั้ง 3 กองทุนสุขภาพคือประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ และ สปสช. ใช้เหมือนกันหมด เช่น ผ่าตัดไส้ติ่ง RW 1.2 แต่ถ้าผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจก็จะมี RW 50 ขึ้นไป เป็นต้นนอกจากนี้ยังมีการปรับน้ำหนักตามจุดตัดการนอนเกินเกณฑ์เช่น โรคหนึ่ง ผู้ป่วย 90% ใช้เวลานอนรักษา 6 วัน แต่ถ้ามีเคสที่นอนน้อยกว่า 1 ใน 3 ของ 6 วันก็จะปรับลด RW ลง หรือหากนอนมากกว่า 6 วันก็ปรับ RW ขึ้นอีก เป็นต้น

ขณะที่ในส่วนของอัตราฐาน แต่ละปี สปสช.จะได้รับการจัดสรรงบประมาณมาก้อนหนึ่ง แบ่งเป็นผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก ดังนั้นก็จะมีเงินก้อนหนึ่งสำหรับจ่ายให้ผู้ป่วยใน ซึ่งเรียกว่าGlobal budget การคำนวณอัตราฐานคร่าวๆ ก็คือเอาน้ำหนักสัมพัทธ์รวมของทั้งประเทศมาหารด้วยงบประมาณที่ได้มา ก็จะได้เป็น Base rate นอกจากนี้ในรายละเอียดก็จะมีความซับซ้อนอีก เช่น แต่ละเขตอาจมีหลักเกณฑ์การแจกจ่ายแตกต่างกันไป หรือบางเขตที่มีจำนวนคนป่วยมากกว่าก็น่าจะจัดสรรให้มากกว่าตามความเสี่ยง เป็นต้น

“แต่โดยหลักการคือเงินที่ได้จากรัฐบาลมีเท่านี้และต้องจ่ายให้ทุกคนให้ได้ตาม RW ของเคสส่วนที่ว่า Base rate จะพอหรือไม่พอก็ต้องขึ้นอยู่กับงบประมาณที่ได้ด้วย ถ้าได้งบเยอะมันก็พอ ทีนี้การไปเรียกร้องกับ สปสช.โดยที่เขาได้เงินมาเท่านี้มันก็อาจจะไม่ตรงประเด็น ถ้าจะเรียกร้องก็ต้องเรียกร้องว่าทำอย่างไรถึงจะให้ สปสช.ได้งบประมาณที่เพียงพอ” นพ.ชัยโรจน์ กล่าว

นพ.ชัยโรจน์ กล่าวอีกว่า หากดูการจ่ายเป็นรายเคส ก็จะมีเคสที่รักษาแล้วโรงพยาบาลได้กำไร และเคสที่รักษาแล้วโรงพยาบาลขาดทุน ดังนั้นเวลาจะดูก็ต้องดูในภาพรวม รวมทั้งต้องดูเรื่องประสิทธิภาพของแต่ละโรงพยาบาลประกอบกัน เพราะต้องยอมรับว่าแต่ละโรงพยาบาลบริหารไม่เหมือนกัน บางโรงพยาบาลบริหารการรักษาในกลุ่มโรคเดียวกันแต่ใช้จ่ายมากกว่าโรงพยาบาลอื่นก็มี

“เพราะฉะนั้นความเห็นผมคือถ้าอยากรู้จริงๆ ว่าโรงพยาบาลขาดทุนเพราะอะไรก็ต้องดูในหลายๆ ปัจจัย ทั้งปัจจัยจากงบประมาณ ปัจจัยจากการกระจายเงินของแต่ละเขต ปัจจัยจากเครื่องมือ DRG ว่าให้น้ำหนักสัมพัทธ์ที่เพี้ยนหรือไม่ และที่สำคัญคือประสิทธิภาพการบริหารต้นทุนของโรงพยาบาล เช่นใช้ยาแพงๆ แทนที่จะซื้อยาชนิดเดียวกันที่ได้ผลเหมือนกันแต่ผลิตในประเทศหรือใช้วัสดุที่เปลืองมากหรือไม่ ปัจจัยทั้งหลายนี้มันประกอบกัน เวลาพูดว่าขาดทุนก็ต้องไปดูในรายละเอียดของต้นทุน แต่ถ้าไปเหมารวมว่าเป็นเพราะ สปสช.อย่างเดียว มันก็ไม่เป็นธรรม” นพ.ชัยโรจน์ กล่าว