5 สิ่งสำคัญในการดูแลผู้ป่วย อัลไซเมอร์

136
ศ.นพ. กัมมันต์ พันธุมจินดา

ปัจจุบันโลกของเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่ก้าวเข้าสู่ลักษณะของสังคมดังกล่าว สังคมผู้สูงอายุจะมาพร้อมปัญหาสุขภาพด้านต่างๆ โดยเฉพาะโรคที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม 

ภาวะสมองเสื่อมเป็นภาวะที่เกิดการเสื่อมของการทำงานของสมอง จะแสดงอาการในภาพรวมออกเป็น 3 ลักษณะ คือ มีความผิดปกติทางด้านความทรงจำและทักษะต่าง ๆ (Cognition) เช่น หลงลืมสิ่งที่ทำไปแล้ว ความสามารถในการประกอบกิจกรรมต่างๆ ลดลง สับสนในเรื่องทิศทาง วันเวลา และสถานที่ เป็นต้น

มีความผิดปกติทางด้านอารมณ์และพฤติกรรม (Behavior) เช่น มีอารมณ์ฉุนเฉียวก้าวร้าวขึ้น ประพฤติตนในสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับ เป็นต้น  และ มีความผิดปกติในการทำกิจวัตรในชีวิตประจำวัน (Activity in Daily Life) เช่น ไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำได้ และในที่สุดอาจจะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เป็นต้น

ศ.นพ. กัมมันต์ พันธุมจินดา นายกสมาคมโรคสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคอัลไซเมอร์นับเป็นโรคหนึ่งในผู้สูงอายุที่โลกให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นโรคที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยที่สุด จากสถิติทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 60 ปี ขึ้นไปพบว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ประมาณร้อยละ 3-6 และมักพบในผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease) เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมถอยของการทำงานของสมองซึ่งเป็นผลจากความผิดปกติของของโครงสร้างของเนื้อเยื่อของสมอง ความผิดปกติดังกล่าวเกิดจากการสะสมของโปรตีนที่ผิดปกติ โปรตีนสำคัญที่ผิดปกติในโรคนี้ คือ เบต้า-อะไมลอยด์ (Beta-amyloid) และทาว (Tau) เมื่อเกิดการสะสมของโปรตีนที่ผิดปกติเหล่านี้ ส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อมฝ่อและเสียการทำงาน ทำให้เกิดกลุ่มอาการสมองเสื่อม

สำหรับผู้ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ จำเป็นจะต้องมีผู้ดูแล ดังนั้นบุคคลกรเหล่านี้จะเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจ เพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม ดังนั้นเพื่อให้ผู้ดูแลและผู้ป่วยนั้นมีความสุขไปด้วยกัน ผู้ดูแลควรมีแนวทางการปรับตัวและรับมือกับสถานการณ์ที่เหมาะสมเบื้องต้น 5 ข้อ คือ

1. เข้าใจโรคอัลไซเมอร์: ควรหาความรู้และทำความเข้าใจกับโรคอัลไซเมอร์ให้ดี เพื่อจะได้มีความรู้ความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะอาการ ระยะเวลาการดำเนินโรคที่เป็นมากขึ้น วิธีการดูแลรักษาและแนวทางการรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อผู้ดูแลจะได้สามารถจัดการวางแผนการดูแลและแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม

2. คอยให้กำลังใจผู้ป่วย: ในระยะแรกที่ผู้ป่วยมีอาการน้อยควรให้ผู้ป่วยเข้าใจเกี่ยวกับอาการป่วยของตนเอง มีกิจวัตรประจำวันต่างๆ เท่าที่ผู้ป่วยสามารถทำเองได้ เพื่อให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกด้อยค่าหรือเป็นภาระ จะทำให้ผู้ป่วยเกิดความภาคภูมิใจ รู้สึกมีคุณค่า และมีความมั่นใจมากขึ้น

3. ทำกิจกรรมที่เหมาะสม: จดรายการกิจวัตรประจำวันหรือประจำสัปดาห์ เพื่อเตือนความจำและให้ผู้ป่วยสามารถทบทวนได้ด้วยตนเอง ส่งเสริมให้ผู้ป่วยได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สุขภาพกายดี และผู้ป่วยได้ผ่อนคลายไปในตัว ให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว พาออกไปเที่ยวนอกบ้านเป็นครั้งคราวหรือร่วมกิจกรรมกับเพื่อนฝูงหรือเข้าสังคม เท่าที่ผู้ป่วยจะทำได้

4. เข้าใจผู้ป่วย: บางครั้งผู้ป่วยอาจแสดงอารมณ์และพฤติกรรมที่ผิดปกติที่ทำให้ผู้ดูแลรู้สึกผิดหวัง เครียด วิตกกังวลหรือซึมเศร้า ผู้ดูแลต้องเข้าใจว่าอาการแสดงดังกล่าวของผู้ป่วยเป็นผลมาจากอาการของโรค ไม่ควรโกรธหรือโต้ตอบผู้ป่วยด้วยอารมณ์ เมื่อผู้ป่วยเกิดปัญหาทางอารมณ์และพฤติกรรม ดังกล่าว ซึ่งมักเป็นปัญหาที่ยากที่สุดปัญหาหนึ่งในการดูแลผู้ป่วยโรคนี้ ผู้ดูแลพึงสังเกตปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านั้นและพยายามแก้ไขปัจจัยที่แก้ไขได้ โดยมุ่งเน้นการแก้ปัญหาที่เกิดจากสภาวะแวดล้อมและบุคคลรอบข้างผู้ป่วยที่อาจทำให้เกิดปัญหาเหล่านั้นเป็นหลัก การที่จะแก้ปัญหาโดยให้ผู้ป่วยพยายามปรับตัวมักทำได้ยากเนื่องจากผู้ป่วยเป็นเป็นโรคนี้จึงไม่สามารถปรับตัวได้เหมือนคนปกติ

5. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยกับแพทย์ผู้รักษา: การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดจะทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ผู้ดูแลซึ่งเป็นบุคคลากรที่อยู่กับผู้ป่วยเกือบตลอดเวลาควรสังเกตอาการที่ผิดปกติของผู้ป่วยทั้งความผิดปกติของโรคทางกาย และความผิดปกติของอารมณ์ และพฤติกรรมรวมทั้งบันทึกความผิดปกติเหล่านี้และแจ้งให้แพทย์ทราบเมื่อถึงเวลานัดตรวจโรค ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่ช่วยแพทย์ญาติและผู้ดูแลร่วมกันในการปรับการดูแลรักษาผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี