“เบาหวาน” เป็นโรคใกล้ตัวที่มีสถิติคนไทยป่วยเป็นโรคนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดจากการที่ฮอร์โมนอินซูลินซึ่งสร้างจากตับอ่อนมีระดับต่ำหรือน้อยกว่าปกติ ทำให้ร่างกายนำน้ำตาลไปใช้ไม่ได้ ส่งผลให้มีน้ำตาลอยู่ในกระแสเลือดสูงขึ้น จึงทำให้เป็นเบาหวานในที่สุด
สาเหตุของการเกิดโรคเบาหวาน
กรรมพันธุ์ เป็นปัจจัยสำคัญของการเป็นโรคเบาหวาน นอกจากนี้ อาหารยังมีส่วนที่ทำให้เกิดเบาหวานได้ มีงานวิจัยพบว่า ผู้ที่รับประทานของหวานที่ประกอบไปด้วยน้ำตาล หรืออาหารที่มีแคลอรี่สูง เช่น ไขมัน ของมัน หรืออาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูป เช่น ไส้กรอก กุนเชียง เบคอน ตลอดจนเครื่องดื่มยอดฮิตต่างๆ เช่น ชานมไข่มุก เมื่อรับประทานเข้าไปมากๆ จะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดโรคอ้วนและโอกาสที่เป็นเบาหวานก็เพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ
นอกจากนี้ รูปแบบของการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ ทำให้คนในยุคปัจจุบันหันไปรับประทานอาหารจานด่วน หรือฟาสต์ฟูดมากขึ้น โดยพฤติกรรมดังกล่าวล้วนเสี่ยงทำให้เป็นเบาหวานเช่นกัน ซึ่งทีมแพทย์จากกลุ่มโรงพยาบาลพริ้นซ์ กลุ่มโรงพยาบาลพิษณุเวช และโรงพยาบาลอื่นๆ ในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด จะมาแนะนำวิธีสังเกตตัวเองเบื้องต้นว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานหรือไม่ รวมไปถึงวิธีปฏิบัติตนเพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ดังนี้
สำรวจตนเองก่อนเข้าเกณฑ์กลุ่มเสี่ยง
ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน ได้แก่ 1. ผู้ที่มีบิดาหรือมารดาหรือพี่น้องมีประวัติเป็นเบาหวาน เรียกว่าเป็นความเสี่ยงตามพันธุกรรม 2. ผู้ที่มีภาวะโรคอ้วน และ 3.ผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย ทั้งสามปัจจัยนี้เป็นความเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดเบาหวาน หากไม่ระมัดระวังในการรับประทานอาหาร ก็จะมีโอกาสเป็นเบาหวานได้ง่าย อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีรูปร่างปกติ ผอม หรือมีรูปร่างสมส่วน ก็สามารถอยู่ในกลุ่มเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวานได้เช่นกัน
การรับประทานอาหารกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน
สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ ซึ่งจะมีการให้ยาเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยผู้ป่วยต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สิ่งที่เรามีในร่างกายคือ น้ำตาลที่สูงเกินไป ดังนั้น สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือ อาหารที่จะรับประทานเข้าไปนั้น จะไปเพิ่มน้ำตาลในกระแสเลือดให้สูงขึ้นหรือไม่ โดยอาหารจำพวกแป้ง โปรตีน ผักและผลไม้ต่างๆ นับว่าจำเป็นต่อร่างกายอยู่แล้ว แต่ควรรับประทานให้พอประมาณ ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป ขณะเดียวกันควรหมั่นออกกำลังกาย เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง
ทุเรียน กับ ผู้ป่วยเบาหวาน
ทุเรียน ราชาแห่งผลไม้ที่ใครหลายคนชื่นชอบ สำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และตรวจเลือดแล้วว่าไม่เป็นเบาหวาน สามารถรับประทานได้ แต่สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรระมัดระวัง หากรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน โอกาสความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานก็จะเพิ่มสูงขึ้น สำหรับผู้ป่วยเป็นเบาหวาน ส่วนใหญ่แพทย์จะแนะนำให้รักษาระดับน้ำตาลให้ได้ตามเป้าหมายก่อน ก็จะสามารถรับประทานได้ แต่อาจจะหันไปลดปริมาณอาหารอย่างอื่นแทน ซึ่งแนะนำว่าผู้ที่เป็นเบาหวานควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวด้วยจะเป็นผลดีที่สุดต่อตนเอง
เป็นเบาหวานแล้ว โรคไตจะถามหาหรือไม่
มีรายงานว่า ผู้ที่เป็นเบาหวานที่วินิจฉัยครั้งแรกจะมีค่าไตเสื่อมประมาณ 20-30% สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานมานาน 5-10 ปี จะมีความเสื่อมของไตเกิดขึ้นแล้วประมาณ 50% ยิ่งหากรับประทานอาหารรสเค็ม จะส่งผลให้ความดันสูงขึ้นตามไปด้วย
ไขข้อข้องใจเป็นเบาหวานแล้วมีโอกาสหายหรือไม่
ผู้ที่เป็นเบาหวานในระยะเริ่มต้น หากสามารถคุมอาหารได้ รักษาระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี ไม่ว่าจะทานยาหรือไม่ทานยาก็ตาม หมั่นออกกำลังกาย ระดับน้ำตาลอาจจะกลับมาในภาวะก่อนเป็นโรคเบาหวานได้ แต่ไม่สามารถใช้คำว่าหายขาดได้ หากไม่ดูแลตนเองให้ดีก็สามารถกลับมาเป็นได้อีก ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ ต้องพึงระลึกและบอกตนเองเสมอว่า ทำอย่างไรให้การรับประทานอาหารกับการใช้ยามีความสมดุลกัน ต้องกระจายมื้ออาหารอย่างไรที่ไม่ให้ระดับน้ำตาลสูง ควรออกกำลังกายในช่วงไหนบ้างที่จะให้น้ำตาลที่เรารับประทานเข้าไปนั้นอยู่ในภาวะที่สมดุลกัน หากรับประทานน้อยเกินไป เกิดภาวะน้ำตาลต่ำก็เป็นอันตราย หากรับประทานมากเกินไปน้ำตาลสูงก็เกิดโรคแทรกซ้อน ดังนั้น การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และการใช้ยา ต้องสมดุลกัน