ลำปางโมเดล ต้นแบบการแก้ไขปัญหาท้องในวัยรุ่น

37

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมติดตามหนุนเสริมการทำงานในพื้นที่ จังหวัดลำปาง โดยผู้ทรงคุณวุฒิสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ (สำนัก 2) สสส. เพื่อศึกษาและติดตามความก้าวหน้าโครงการที่ สสส. สนับสนุนให้จังหวัดลำปาง ดำเนินงานเพื่อเป็นต้นแบบในการทำงานแบบบูรณาการทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับจังหวัด

ศ.ดร.ศิริพร จิรวัฒน์กุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสุขภาวะทางเพศ สสส. กล่าวว่า ภายหลังจาก สสส. เข้ามาสนับสนุนให้จังหวัดลำปางดำเนินภารกิจ 9 ด้านเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาตั้งครรภ์วัยรุ่น พบว่าจังหวัดมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินงานจากเดิมที่ต่างหน่วยงานต่างแยกกันทำ มาเป็นการทำงานแบบบูรณาการกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน กับภาคประชาสังคม โดยมีการประสานงานที่เข้มแข็ง ร่วมกับการพัฒนาศักยภาพของหน่วยบริการต่าง ๆ และให้วัยรุ่นเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของจังหวัดมีแนวโน้มดีขึ้น โดยก่อนเริ่มโครงการ ปี 2557 มีอัตราการคลอด 28 ต่อประชากรวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน ต่อมาในปี 2560 มีอัตราการคลอด 19.7 ต่อประชากรวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน ส่วนอัตราการตั้งครรภ์ซ้ำของหญิงอายุ 15-19 ปี ก่อนเริ่มโครงการ ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 11.23 และปี 2560 เหลือร้อยละ 9.52 ต่อมาได้ต่อยอดการดำเนินงานให้มีการบูรณาการประเด็นการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเข้ากับการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการใช้สารเสพติด ผ่านองค์กรสาธารณประโยชน์ ในชื่อ “กลุ่มเพื่อนเพื่อเด็กและเยาวชนจังหวัดลำปาง” ซึ่งจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2546

นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ประธานอนุกรรมการที่ปรึกษาอิสระด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น กล่าวว่า จังหวัดลำปางเป็น 1 ใน 20 จังหวัดนำร่อง ขับเคลื่อน 9 ภารกิจแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่ง สสส. สนับสนุนให้ดำเนินการก่อนมี พ.ร.บ. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ประกอบไปด้วย 1)มีกลไกประสานการทำงานในระดับจังหวัดที่เข้มแข็ง 2)พัฒนาผู้ปกครองให้มีทักษะคุยเรื่องเพศกับลูก 3)มีกลไกสนับสนุนให้สถานศึกษาสอนเรื่องทักษะชีวิตและเพศวิถีศึกษารอบด้าน 4)ทำงานเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงตั้งครรภ์เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา 5)รณรงค์สื่อสารเพื่อสร้างความตระหนัก 6)มีหน่วยบริการสุขภาพที่เป็นมิตรกับวัยรุ่น 7)ระบบการบริการและสวัสดิการ ที่เชื่อมโยงระหว่างสุขภาพ การศึกษา และพัฒนาสังคม 8)การจัดให้มีพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กเยาวชน และ 9)มีระบบข้อมูลเพื่อติดตามความก้าวหน้าและยกระดับการทำงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันลำปางได้ดำเนินงานต่อยอดและขยายผล จาก 9 ภารกิจ ไปสู่การขับเคลื่อนตามยุทธศาตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2560-2569 ได้อย่างสอดคล้อง และเตรียมขยายผลครอบคลุมทุกพื้นที่

ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า บทบาทของ สสส. ในการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในจังหวัดลำปาง  คือการหนุนเสริมและพัฒนาจุดแข็งในด้าน เครือข่ายการทำงานดังกล่าวในระยะที่ผ่านมา  ซึ่งลำปางมีรูปแบบการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานรัฐและภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งด้านเนื้องาน ตัวคนทำงาน และการประสานการใช้งบประมาณ เพื่อการบรรลุเป้าหมายการทำงานโดยมีวัยรุ่นเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจุดแข็งของลำปางคือมีองค์กรภาคประชาสังคม (NGOs) “กลุ่มเพื่อนเพื่อเด็กและเยาวชนจังหวัดลำปาง” เป็นกลไกเชื่อมประสาน ซึ่งในโครงการที่เริ่มดำเนินงานใน 6 เดือนที่ผ่านมา  ภาคส่วนต่าง ๆ ในจังหวัดลำปางได้นำงานป้องกันเอชไอวี/ เอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และยาเสพติดในวัยรุ่น เข้ามาบูรณาการการทำงานไปกับงานป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นด้วย เพราะเป็นงานที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่นเช่นกัน  “การลงพื้นที่ครั้งนี้ ช่วยให้เรารับทราบสถานการณ์และความก้าวหน้า รวมถึงอุปสรรคที่มีในพื้นที่ ทีมงาน สสส.และผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมลงพื้นที่ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาการทำงานในจุดติดขัดต่าง ๆ รวมถึงเป็นโอกาสที่จะนำประเด็นปัญหาเชิงระบบต่าง ๆ ที่ได้รับทราบ นำกลับไปหารือในส่วนกลางเพื่อหาแนวทางแก้ไขและสนับสนุนต่อไป  ทั้งนี้ พื้นที่ลำปางจะเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อขยายผลไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายลดอัตราการคลอดของวัยรุ่นทั่วประเทศให้เหลือต่ำกว่า 25 ต่อ 1,000 ภายในปี 2569 ตามเป้าหมายในยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ระดับประเทศ

นางสาวเบญญา เอมาวัฒน์ ประธานกลุ่มเพื่อนเพื่อเด็กและเยาวชน กล่าวว่า กลุ่มเพื่อนเพื่อเด็กและเยาวชน มีภารกิจในการบูรณาการเชื่อมประสานหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในจังหวัด ทั้งเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นการป้องกันเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และเรื่องยาเสพติด ซึ่งมีหลายหน่วยงาน ได้แก่ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ศึกษาธิการจังหวัดและสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด และ ปปส.จังหวัด ซึ่งที่ผ่านมา ผลงานสำคัญที่เกิดจากความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ  อาทิ การสอนเพศวิถีศึกษาในโรงเรียน การจัดพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็กและวัยรุ่นทำกิจกรรม การจัดสถานบริการที่เป็นมิตรกับเยาวชน การส่งเสริมบทบาทครอบครัวและสื่อสารด้านสุขภาวะทางเพศของวัยรุ่น การพัฒนาวิทยากรนำร่องเรื่องพัฒนาทักษะการสื่อสารให้กับผู้ปกครองใน 3 อำเภอ การสนับสนุนข้อมูลเรื่องเพศในสถานประกอบการ และล่าสุด สสส. ได้สนับสนุนให้เกิดบริการอนามัยเจริญพันธุ์ใน รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้มากที่สุด โดยในอนาคตวางแผนขับเคลื่อนกิจกรรมทั้งหมดให้ครอบคลุมทั้ง 13 อำเภอในจังหวัดลำปาง