หนุน “เรือนจำสุขภาวะ” เสริมพลังบวกให้ผู้ต้องขัง

39

เรือนจำไม่ใช่แค่สถานที่คุมขังผู้กระทำความผิด แต่หมายถึงโอกาสในการสร้างชีวิตใหม่ ให้พวกเขาได้กลับตัวกลับใจ เพื่อกลับมาใช้ชีวิตที่ดีในสังคมได้ ดังนั้นสภาวะของเรือนจำ จึงต้องมีการดูและจัดการที่ดี ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ รวมทั้งการเพิ่มทักษะในการดำเนินชีวิต

ล่าสุด สสส. ประกาศหนุนงานวิจัยเชิงนโยบายสร้างความเปลี่ยนแปลง ขยายผล “เรือนจำสุขภาวะ” เสริมพลังบวกให้ผู้ต้องขังฟื้นฟูวิถีชีวิต 24 ชม. สร้าง “สภาวะปกติ” ในเรือนจำ เน้นพัฒนาสาธารณสุขมูลฐาน ระบบสุขภาพบูรณาการ ยกระดับคุณภาพชีวิต กลับมายืนในสังคมได้

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวในงานประชุมวิชาการเชิงนโยบายเรื่อง “การเดินทางของเรือนจำสุขภาวะ” ว่า สสส.ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนให้เกิด “เรือนจำสุขภาวะ” ในสังคมไทย ได้สนับสนุนให้มีการวิจัยเชิงนโยบายและการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ต่อเนื่องหลายโครงการ ตั้งแต่ปี 2555 โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม

แนวคิดเรือนจำสุขภาวะมาจากการหลอมรวมความรู้ที่ได้จากการวิจัยเชิงนโยบายและการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม กิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้น คือนวัตกรรมที่ก่อให้เกิด “ความรู้ที่มาจากการปฏิบัติ” ผลการดำเนินงานตลอด 7 ปี แสดงให้เห็นแนวทางในการปรับเปลี่ยนเรือนจำให้เป็นพื้นที่ซึ่งผู้ต้องขังสามารถมีประสบการณ์ในทางบวก ทั้งในส่วนของการดูแลสภาวะแวดล้อมและดูแลตนเองให้มีสุขภาพดีทั้งกายและใจ การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยและเรียนรู้การอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ เกิดเป็นนวัตกรรมแนวคิดการพัฒนาเรือนจำสุขภาวะ ภายใต้องค์ประกอบ 7 ด้าน ได้แก่  1. เพิ่มความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ต้องขัง 2. ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคที่พบบ่อยในเรือนจำ 3. เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการบริการสุขภาพ 4. ผู้ต้องขังมีพลังชีวิตคิดบวกและมีกำลังใจ 5. ดำรงชีวิตอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรและเอื้ออาทร 6. สามารถธำรงบทบาทของการเป็นแม่ เป็นลูก หรือเป็นสมาชิกในครอบครัว และ 7. มีโอกาสสร้างที่ยืนในสังคม

“หลักการสำคัญของเรือนจำสุขภาวะคือ กระบวนการฟื้นฟูผู้ต้องขัง ควรบูรณาการเข้าไปในวิถีการดำรงชีวิตตลอดทั้ง 24 ชั่วโมงในเรือนจำ โดยสร้าง “สภาวะปกติ” ให้กับเรือนจำ หมายความว่าสภาวะแวดล้อมทั้งทางกายภาพ วิถีการดำรงชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ต้องขัง ความสัมพันธ์กับโลกภายนอก โดยให้ความสำคัญกับการทำให้ชีวิตในเรือนจำแตกต่างจากชีวิตในสังคมทั่วไปให้น้อยที่สุด ทำให้ผู้พ้นโทษไม่จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการคืนกลับสู่สังคมอีก”นางภรณีกล่าว

ด้าน รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล นายกสมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม กล่าวว่า จากการศึกษาเรื่อง “สาธารณสุขมูลฐาน(สมฐ.) พื้นฐานสุขภาวะผู้ต้องขังหญิง” ในเรือนจำทั่วประเทศ พบว่า เรือนจำส่วนใหญ่สามารถปฏิบัติสาธารณสุขมูลฐานได้ค่อนข้างดีทั้ง 13 ด้าน โดยเฉพาะการให้ความรู้เรื่องสุขภาพโภชนาการ สุขาภิบาล การกำจัดขยะและสิ่งปฏิกูล อย่างไรก็ตามควรพัฒนาระบบสาธารณสุขมูลฐาน เพราะฐานคิดของ สมฐ. คือการปฏิรูประบบสุขภาพเพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในระดับ การพัฒนาระบบสมฐ.ในเรือนจำซึ่งเป็นชุมชนปิด จึงเป็นทั้งจุดเริ่มต้น และแนวคิดพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการขับเคลื่อนไปสู่สุขภาวะของผู้ต้องขัง ที่เหมาะสมกับการทำงานเชิงชุมชนแบบองค์รวม เน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยเฉพาะการประสานงานข้ามหน่วยงาน การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และการส่งเสริมสุขภาพดีไม่ใช่ซ่อมสุขภาพ ซึ่งทั้งหมดเป็นรากฐานสำคัญของการขับเคลื่อนสู่เรือนจำสุขภาวะ ที่ต้องผลักดันให้เกิดนโยบายและมาตรการในระดับต่าง ๆ ที่ปฏิบัติให้เป็นจริงได้ ทั้งโภชนการ การเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลของผู้ต้องขัง

นางสาวกุลภา วจนสาระ นักวิจัย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สถานการณ์การเจ็บป่วยของผู้ต้องขังในเรือนจำ 143 แห่ง ทั่วประเทศ พบว่าในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตราว  1,000 คน จากอาการเจ็บป่วยต่างๆ เช่น วัณโรค เอดส์ และโรคหลอดเลือดหัวใจ สอดคล้องกับจากการดำเนินโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบบริการและส่งเสริมสุขภาพในเรือนจำ เรื่อง การให้บริการสุขภาพผู้ต้องขัง: สถานการณ์ปัญหาและอุปสรรค ในเรือนจำพื้นที่ศึกษา 8 แห่ง เพื่อสำรวจสถานะสุขภาพและปัญหาอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ต้องขังอันเนื่องมาจากการใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ และการศึกษาสถานการณ์การให้บริการสุขภาพผู้ต้องขังในเรือนจำทัณฑสถาน พบว่า  ผู้ต้องขังส่วนใหญ่เป็นคนด้อยโอกาส 2 ใน 3 หรือ ร้อยละ 35 จบการศึกษาภาคบังคับหรือระดับประถม 3 ใน 4 อยู่ในวัยแรงงาน มีอายุเฉลี่ย 35 ปี

สำหรับพฤติกรรมสุขภาพพบว่า ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ ร้อยละ 58 สูบบุหรี่เป็นประจำ นิยมซื้อกาแฟ นมเปรี้ยว และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกินเป็นประจำ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้กินผักผลไม้ ด้านการออกกำลังกายพบว่า 1 ใน 3 ออกกำลังกายเป็นประจำ 1-2 วัน ต่อสัปดาห์ ใช้เวลา 10-20 นาทีต่อครั้ง และอีกที่ 1 ใน 3 ไม่ค่อยออกกำลังกาย ด้านปัญหาสุขภาพพบว่า ในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมาผู้ต้องขังร้อยละ 82 เคยเจ็บป่วยไม่สบายและได้รับยาจากแพทย์หรือสถานพยาบาล ผู้ต้องขัง 3 ใน 4 มีปัญหาปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เนื่องจากสภาพแวดล้อมการอยู่อย่างแออัดในพื้นที่คับแคบ กว่าครึ่งยังเป็นโรคผิวหนัง หิด ผื่นคัน ร้อยละ 44 มีอาการปวดหัวบ่อยๆ เครียด คิดมาก ผู้หญิงเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากกว่าผู้ชาย นอกจากนี้พบภาวะความเจ็บป่วยซึ่งสัมพันธ์กัยการใช้ชีวิตในเรือนจำที่เห็นได้ชัด คือ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือผู้ต้องขังป่วยเป็นโรคแขนขาอ่อนแรงค่อนข้างสูง เนื่องจากภาวะทุพโภชนาการ ขาดวิตามิน B1 และโปตัสเซียม