แซ่บถึงถิ่น ฟินจนว้าว เซอร์ไพรส์-อั๊ยยะ ณ สกลนคร

733

ปกติแล้วเวลาไปไหนมาไหน สิ่งที่เรามักจะทำคือการค้นหาอาหารมีชื่อของแต่ละพื้นที่ หรือบางทีก็วางแผนล่วงหน้ากันมาแล้วว่า เมื่อมาถึงที่นั่นที่นี่ ต้องไปกินร้านนี้ให้ได้ แต่น้อยครั้งนักที่เราจะได้รู้จักและลิ้มลองอาหารท้องถิ่น จากคนในท้องถิ่นจริงๆ อย่างที่หลายคนชอบบอกว่า “ขอร้านบ้านๆ เลยนะ” เพราะเชื่อมั่นว่า จะได้สัมผัสรสชาติที่แท้จริงของอาหารในพื้นถิ่นนั้นๆ

แต่หากอยากจะกินอาหารท้องถิ่นจากคนในท้องถิ่นจริงๆ ก็ต้องเข้าไปเยือนกันให้ถึงถิ่น เหมือนดังเส้นทางที่เราเก็บมาฝากในวันนี้

วันนี้เราเดินทางไปกับเส้นทางอาหารบอกเล่าเรื่องราวชาวอีสาน ภายใต้โครงการส่งเสริมนักท่องเที่ยวกลุ่มศักยภาพ โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  โดยครั้งนี้เราออกเดินทางโดยเครื่องบิน ไปยังจังหวัดสกลนคร-บึงกาฬ โดยก่อนที่จะมุ่งหน้าเข้าสู่บึงกาฬ เราแวะชมวิถีความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนในจังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในของดีที่ไม่ควรพลาดกันก่อน

เลิศรสไข่กระทะ

แน่นอนว่ามาถึงสกลนครในยามเช้า ก็ต้องปรี่เข้าไปรับรสชาติของคนเมืองสกล โดยมีร้านอาหารเช้าที่ได้รับความนิยมอยู่หลายร้าน รวมทั้ง “ร้านเลิศรสไข่กระทะ” ซึ่งเป็นร้านอาหารเช้าที่อยู่คู่สกลนครมานาน เอกลักษณ์ของ “ไข่กระทะ” ก็มีความแตกต่างจากที่อื่น เพราะจะผสมผสานหมูสับกับเครื่องปรุงโปะมาบนไข่ กินแกล้มกับแตงกวา แทนที่จะเป็นหมูยอกับกุนเชียงเหมือนที่อื่น ส่วน “ข้าวเปียกเส้น” ก็มาแบบจัดเต็มด้วยเครื่อง น้ำซุปหอมหวานเป็นเอกลักษณ์ ขณะที่ “ขนมปังญวน” ก็ชวนอร่อย นุ่มหอม ไม่เหนียวเหมือนหลายๆ ร้านที่เคยกิน ร้านนี้ยังมีชาร้อนบริการ ส่วนใครอยากจะลองกาแฟเวียดนามอารมณ์ดริปก็สั่งได้

ชุมชนท่องเที่ยวบ้านหนองส่าน

อิ่มแล้วก็พร้อมออกเดินทางกันต่อ ใช้เวลาราวชั่วโมงมุ่งหน้าไปยัง ชุมชนท่องเที่ยวบ้านหนองส่าน เป็นชุมชนเล็กๆ บนเทือกเขาภูพาน ลักษณะภูเขาของอีสาน จะต่างจากทางภาคเหนือ เพราะทางอีสานจะเป็นพื้นที่ราบบนภูเขา ซึ่งเป็นลักษณะเนินที่ค่อยๆ ไต่ขึ้นไปแบบไม่รู้สึก มองจากด้านล่าง เราจึงไม่เห็นตัวภู

ชาวบ้านที่นี่มีอาชีพเกษตรกรรม ทำนาทำสวน แต่เมื่อว่างจากอาชีพหลัก พวกเขาก็ใช้เวลาว่างไปกับการทอผ้าและย้อมผ้า ซึ่งมีเอกลักษณ์จากผ้าย้อมคราม ซึ่งเป็นภูมิปัญญาประจำถิ่น เดิมทีทำไว้เพื่อสวมใส่ แต่ก็ได้รับความสนใจจากคนภายนอก จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมคราม ซึ่งมาจาก “ต้นคราม” ที่ เกิดขึ้นตามธรรมชาติในหมู่บ้าน หนองส่าน อ.โคกภู จ.สกลนคร

ดอกฝ้าย
ฝ้าย
ต้นคราม

ปัจจุบันมีทายาทคนรุ่นใหม่เข้ามาสืบสาน พัฒนางานฝีมือออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ นักท่องเที่ยวสามารถแวะชมกระบวนการทำผ้าฝ้าย และการย้อมคราม ซึ่งมีวิธีการมัดย้อมหลากหลายรูปแบบ

ฝีมือของผู้มาเยือน

ใครอยากจะลองลงมือทำด้วยตัวเองก็ได้ ลวดลายต่างๆ ได้ไม่ยาก เพราะการมัดย้อมไม่ใช่งานฝีมือที่ต้องตรงตามแบบเป๊ะๆ อยากมัดแบบไหนก็มัด ออกมาไม่ซ้ำ และไม่อาจะคาดเดาได้ และคงเป็นลวดลายที่มีผืนเดียวในโลก ต้องกระซิบว่า ชุมชนแห่งนี้มีความเข้มแข็งเป็นเลิศ ทอผ้า ย้อมคราม กันแบบพอเพีย

ใครอยากได้ ก็ต้องมาซื้อ มาชมกันถึงที่ ให้สินค้าเป็นตัวนำนักท่องเที่ยวเข้ามา เพื่อได้เห็นถึงคุณค่าและความยากลำบากของผ้าแต่ละผืนกันจริงๆ

สวนเกษตรโสมมนัสฟาร์ม

แดดหน้าฝนก็ร้อนแบบไม่มีเย็นปนเลยนะ…

แดดเปรี้ยงๆ ในช่วงก่อนเที่ยงที่จะมาถึง เป็นสัญญานแห่งสนุกสดใส เพราะเรากำลังจะออกไปทำกิจกรรมกันในท้องทุ่ง รถอีแต๊ก หรือ รถไถนา เทียบชานชลาหน้าบ้าน เราปีนป่ายกันขึ้นไปอยู่ตรงกระบะที่ลากไป รับลมโชยๆ แบบโอเพนแอร์ แต่ไม่ต้องกลัวแดดเผา เพราะเขามีร่มให้บริการ

ต๊อกๆ แต๊กๆ ผ่านถนนลาดยางเข้าทางลูกรัง ลัดเลาะทุ่งนาและแนวสวนป่าเข้าไปยัง “สวนเกษตรโสมมนัสฟาร์ม” ซึ่งเป็นไร่น่าสวนผสม แหล่งเรียนรู้วิถีเกษตรที่แสนน่ารัก จาก “ป้าอ้อย” ผู้เป็นเจ้าของ พื้นที่ราว 20 ไร่ ถูกออกแบบให้มีทั้งส่วนของนาข้าว สระเลี้ยงปลา ไม้ผล และไม้ยืนต้น  พร้อมผักสวนครัวที่อาศัยร่มเงาอีกนานาชนิด โดยมีกระท่อมขนาดกำลังดี เป็นที่ต้อนรับนักท่องเที่ยว และใช้ทำกิจกรรมต่างๆ

ที่นี่มีการรวมตัวของคนในชุมชน เป็นกลุ่มแม่บ้านที่ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามา ก็จะจัดแจงวัตถุดิบต่างๆ มาปรุงเป็นอาหาร โดยเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมลงมือทำเมนูพื้นบ้านต่างๆ วันนี้เรามีเมนู “แกงหน่อไม้” อันเป็นเมนูหลักของชาวอีสาน ทำจากหน่อไม้บงหวานในพื้นที่ ซึ่งจะออกรสชาติหวานกำลังกินในช่วงหน้าฝน แถมได้เรียนรู้เคล็ดลับการทำ “ข้าวเบือ” ที่ใช้ข้าวเหนียวมาตำกับใบย่านาง เป็นเครื่องปรุงรสให้กับอาหารต่างๆ เพิ่มความนัวและเหนียวข้น คล้ายๆ หน้าที่ของกะทิ นอกจากนั้นยังมีเมนู “ต้มไก่ดำภูพาน” ซึ่งเป็นไก่บ้านที่เลี้ยงไว้ในท้องถิ่น

ต้มไก่ดำภูพาน

และทีเด็ด คือ “แจ่วเขียว” ที่พี่ๆ เขาเรียกว่า “แจ่วฟ้าผ่า” ด้วยรสชาติของน้ำพริกที่ทำจากผักและพริก ปรุงรสเค็มๆ อย่างง่าย แต่รสชาติบาดใจ กินกับหน่อไม้ต้มและข้าวเหนียวร้อนๆ โอ๊ย… อยากส่งเสริมให้เมนูนี้เป็นที่รู้จักทั้งประเทศเหมือนส้มตำเลย

แจ่วฟ้าผ่า
เก็บมะละกอในสวนมาตำกันสดๆ
ส่วนใบ กินไม่ได้
ป้าอ้อย เดินเก็บคอนแคนริมทุ่งนา

และที่ร้องว้าว เซอร์ไพร้ส์ อั๊ยยะ นี่เอาต้นไม้ประดับมากินได้ด้วยหรือ เพราะกิ่งไม้ที่ป้าอ้อยเก็บมา หน้าตาเหมือนต้นไม้ประดับชนิดหนึ่ง นำมาเด็ดๆ วางไว้

คอนแคน ส่วนที่กินได้
นำมาผัดกับหน่อไม้ต้ม อร่อยเหาะ

ไอ้เราก็นึกว่าจะใช้ใบมาปรุงอาหาร ที่ไหนได้ ลอกไปออกเหลือแต่ก้านอ่อนๆ จากกิ่งกองโตก็เหลือผัดได้แค่เกือบจานจนป้าอ้อยบอกว่า สงสัยต้องผัดรวมกับหน่อไม้ จนได้รู้จักว่านี่คือเจ้า “คอนแคน” ผักพื้นบ้านที่เด็ดมาผัดกินหรือจะลวกกินกับน้ำพริกก็ได้ รสชาติมันๆ คล้ายหน่อไม้ฝรั่ง แต่มีความต่างอยู่หน่อยนึง วิธีการกินต้องต้มน้ำลวกความขมออกไปรอบหนึ่งก่อน แต่บอกเลย อร่อยจริง

ช่วงรออาหาร ใครที่สนใจงานฝีมือก็มาประลองความละเอียดลออกันได้กับพี่ลูกเต๋าคนงาม เธอจะสอนให้เราได้รู้จักกับการทำ “ขันหมากเบ็ง” ซึ่งหมายถึงพานพุ่มที่พับกลับลวดลายจากใบตองและดอกไม้ให้เป็นรูปแบบต่างๆ ใช้ในงานมงคลหรือบูชาพระ ซึ่งจะพบเห็นได้มากในภาคอีสาน นับเป็นการทำงานฝีมือที่ไม่ต้องพับเพียบเรียบร้อย ไม่ต้องห่มสไบให้เคอะเขิน แถมยังเพลินและฮามาก

ทริปที่ว่ามานี้ ต้องนัดหมายล่วงหน้ากันก่อน เพราะปกติแล้วชาวบ้านเขาก็ทำสวนทำไร่ ใครจะไปจะมาก็รวมตัวกันมาต้อนรับเป็นทีๆ ส่วนการทำผ้าย้อมคราม แม้จะเป็นกิจวัตรประจำวันที่ทำกันอยู่ใต้ถุนบ้าน ก็ควรจะติดต่อเข้าไปก่อน เพราะหากอยากเข้าถึงและเข้าใจจริงๆ ก็ต้องใช้เวลา

บอกได้เลยว่าเป็นอีกเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนที่คุ้มค่า แถมยังสนุกและอร่อยมาก

ผู้ที่สนใจท่องเที่ยวบ้านหนองส่าน ติดต่อได้ที่ ชุมชนท่องเที่ยวบ้านหนองส่าน โทร. 098 476 3184 เว็บไซต์: WWW.FACEBOOK.COM/BANNONGSAN