จับสัญญาน FAST โรคหลอดเลือดสมอง อึ้ง! ชั่วโมงทองแค่ 4.5 ชม. หลังพบอาการ

211

เราเคยได้ยินเรื่องอันตรายของโรคหลอดเลือดสมองตีบ-ตัน มามาก และมองว่าเป็นโรคหนึ่งที่น่ากลัว แต่ท้ายสุดหลายคนก็ยังเพิกเฉย ไม่ดูแลตัวเอง ด้วยความที่คิดว่ายังไกลตัว เพราะโรคนี้ ไม่ได้มีอาการส่อแสดงภายนอกให้เห็น บทจะเป็นก็ล้มครืนเหมือนตึกถล่ม ร่างกายไร้เรี่ยวแรงไปเสียง่ายๆ ดังที่เราเห็นตัวอย่างกันมามากแล้ว

ในอดีตโรคนี้มักเกิดในผู้สูงอายุ แต่ในปัจจุบันกลับพบในคนวัยทำงานยุคใหม่เพิ่มขึ้น เพราะโรคหลอดเลือดสมองอุดตันไม่ใช่เรื่องไกลตัว…ไม่เลือกเพศหรือเลือกวัย ทุกคนมีความเสี่ยง การมาโรงพยาบาลอย่างรวดเร็วก็ช่วยท่านลดความเสี่ยงหรือเพิ่มความรอดและกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

นพ.ชาญพงค์ ตังคณะกุล

นพ.ชาญพงค์ ตังคณะกุล ผู้อำนวยการศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวถึง สถานการณ์โรคหลอดเลือดสมองอุดตันในประเทศไทย โดยข้อมูลจากสถิติที่สำคัญของกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข ประจำปี พ.ศ. 2560  โรคหลอดเลือดสมอง คือ โรคร้ายที่คร่าชีวิตประชากรไทยเป็นอันดับสองรองจากโรคมะเร็ง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะประชากรที่อายุต่ำกว่า 60 ปีเยอะขึ้น เพราะฉะนั้นโรคนี้จึงไม่ใช่โรคของคนแก่ แต่เป็นโรคที่คนวัยทำงาน วัยเสาหลักของครอบครัวสามารถเป็นได้

หลอดเลือดตีบ
หลอดเลือดตีบ

โรคหลอดเลือดสมองเกิดได้จาก  3 สาเหตุหลักๆ โดย 80% เกิดจาก

1.หลอดเลือดในสมองตีบ (Atherosclerosis)  เกิดจากลิ่มเลือดก่อตัวขึ้นจากผนังหลอดเลือดสมองสมองที่มีคราบไขมันเกาะจนแข็ง ทำให้หลอดเลือดสมองตีบแคบลงจนอุดตัน ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ อายุ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในโลหิตสูง สูบบุหรี่ แอลกอฮอล์ หรือโรคที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภายในหลอดเลือด โรคอ้วน เพราะคนอ้วนจะสัมพันธ์กับการนอนกรนหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้มีโอกาสเกิดภาวะหลอดเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ

2.หลอดเลือดในสมองอุดตัน (embolic) เกิดจากลิ่มเลือดที่ก่อตัวในเส้นเลือดนอกสมอง เช่น ที่หัวใจ ลอยตามกระแสเลือดไปอุดตันที่หลอดเลือดเล็กๆ ในสมอง ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคของลิ้นหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือภาวะหัวใจโต สาเหตุอื่นๆ ที่พบในวัยรุ่น เช่น  กีฬาหรืออุบัติเหตุที่มีการบิดหรือสะบัดคอแรงๆ อาจทำให้หลอดเลือดที่คอฉีกขาดได้ อาทิ บันจี้จั๊มพ์ หรือกีฬาเอ็กซ์ตรีม ซึ่งพบได้มากขึ้นในคนไข้กลุ่มวัยรุ่น มักมีอาการปวดคอมาก อ่อนแรงครึ่งซีก หรือช่วงน้ำท่วมมีอาสาสมัครช่วยแบกกระสอบที่คอแล้วอ่อนแรงไปซีกหนึ่ง เป็นต้น  นอกจากนี้อาการของหลอดเลือดสมองยังมีหลอดเลือดดำอุดตันด้วย เช่น กลุ่มที่รับประทานยาคุมกำเนิดหลังคลอด ซึ่งจะมาด้วยอาการชักคล้ายหลอดเลือดแดงอุดตัน ส่วนอีก 20 %ที่เหลือ มาจาก

3.เลือดออกในสมอง (Hemorrhagic) เกิดจากเลือดออกภายในสมอง ซึ่งเลือดที่ไหลออกมาทำให้เกิดแรงกดเบียดต่อเนื้อสมอง และทำลายเนื้อสมอง  ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง

วิธีการสังเกตตัวเองว่ามีความเสี่ยง คือ อาการ FAST ของตนเองหรือคนใกล้ชิด

F คือ Face Dropping ปากเบี้ยว หน้าเบี้ยว มุมปากตก

A คือ Arm Weakness ยกมือแล้วกำไม่ได้หรือแขนขาอ่อนแรง

S คือ Speech Difficulty พูดไม่ชัด พูดลำบาก

T คือ Time To Call โทร.แจ้งนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

นอกจากนี้ควรเพิ่มสิ่งที่ต้องสังเกต เช่น การเดินเซ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะอย่างรุนแรงกะทันหันเข้าไปด้วย ทุกคนควรให้ความใส่ใจอาการเหล่านี้และรีบมาโรงพยาบาล เพราะถ้ารักษาเร็วช่วยลดความเสียหายของเนื้อสมอง เพราะทุกๆ 1 นาที จะมีเซลล์สมองตายประมาณ 1 ล้านเซลล์ ดังนั้น ทุกวินาทีที่ผ่านไป เซลล์สมองจะเสียหายมากขึ้น หากได้รับการรักษาที่รวดเร็ว จะช่วยลดความเสียหายของเนื้อสมอง

มาตรฐานเวลา หรือ Magic number  คือ ตัวเลขสำคัญในการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง Stoke Golden Hour ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดและลดเสี่ยงอัมพาตได้นั้นอยู่ที่ไม่เกิน 4.5 ชั่วโมงหลังจากพบอาการ ถ้าผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลภายในช่วงเวลานี้นับตั้งแต่สังเกตเห็นอาการ เบื้องต้นแพทย์จะทำ MRI เอกซเรย์สนามแม่เหล็กตรวจดูความเสียหายของเนื้อสมองและหลอดเลือดที่อุดตันว่ามีขนาดเล็กหรือขนานใหญ่ แพทย์จะให้ยาละลายลิ่มเลือดหรือ rtPA ทางหลอดเลือดดำ ในคนไข้รายที่มีภาวะสมองขาดเลือดและไม่พบภาวะเลือดออกในสมอง จะช่วยให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ทัน แต่สำหรับรายที่มาช้าเกิน 4.5 ชม. แต่ไม่เกิน 24 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ และวินิจฉัยว่าเซลล์สมองยังไม่ตายจากการอุดตันของลิ่มเลือดขนาดใหญ่ การให้ยา rtPA อาจไม่ทำให้อาการดีขึ้น ต้องอาศัยการใส่สายสวนหลอดเลือดสมอง แพทย์รังสีร่วมรักษาจะเข้ามาช่วยดูแลเพื่อพิจารณาว่าคนไข้เหมาะสมที่จะรักษาด้วยการลากลิ่มเลือดออกจากหลอดเลือดสมองหรือไม่

เพื่อให้เห็นภาพรวมของการรักษาโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน แพทย์จะเลือกใช้ MRI สแกนเนื้อสมอง เพราะสามารถเห็นได้ชัดเจนและเห็นความเสียหายดีกว่าการทำ CT Scan ที่จะทำให้ได้ข้อสรุปการรักษาที่ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ โดยมีเครื่อง Bi-plane DSA เป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญในการดึงลิ่มเลือดอุดตัน การเปิดหลอดเลือดมีความเสี่ยงแต่ทีมแพทย์จะใช้วิธีการผ่าตัดแบบแผลเล็ก (Minimal Invasive) ซึ่งจะเจ็บปวดน้อยกว่าเพราะไม่ได้เปิดกะโหลกศีรษะ แต่จะใช้วิธีการใส่สายสวนไปเปิดหลอดเลือดสมองอุดตันที่บริเวณขาหนีบ การทำงานคือเมื่อใส่สายสวนเข้าไป สายสวนจะทำหน้าที่ในการฉีดสีซึ่งเป็นสารทึบรังสีเพื่อที่จะแสดงให้เห็นแนวของหลอดเลือด การที่สีวิ่งไปถึงบริเวณใดแสดงว่ายังมีการไหลของเลือดไปได้ตามทางเหมือนแม่น้ำ แต่ถ้าเกิดการอุดตันจะมองไม่เห็น แสดงว่ามีการอุดตันและสมองขาดเลือดบริเวณนั้น

แพทย์จะพิจารณาว่าจะใช้วิธีดูดหรือนำลวดหรือตะแกรงเข้าไปเกี่ยวลิ่มเลือดที่อุดตัน โดยจะอธิบายกับคนไข้ง่ายๆ ว่า เหมือนเราล้างท่อน้ำ แต่นี่คือท่อน้ำในสมองที่ไม่ได้มีความแข็งแรงเหมือนท่อเหล็กหรือพลาสติก มีความบอบบางกว่าหลอดเลือดหัวใจด้วยซ้ำ ฉะนั้นจึงมีความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ การผ่าตัดต้องทำด้วยความระมัดระวังโดยแพทย์ที่มีประสบการณ์

อีกอย่างที่สำคัญ คือ การฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตั้งแต่อยู่ใน ICU หรือระยะเฉียบพลัน (Early Rehabilitation) จะช่วยให้การฟื้นตัวทางด้านสมองและกำลังกล้ามเนื้อเร็วขึ้น และยังสามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ อาทิ ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากการนอนบนเตียงนานๆ เสมหะอุดกั้นทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อทางปอด โรคลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดดำ เป็นต้น การฟื้นตัวที่ดีจำเป็นต้องทำงานร่วมกันเป็นทีมระหว่างคนไข้ ญาติหรือผู้ดูแล ทีมแพทย์ และทีม Stroke Coordinator เพื่อให้ผู้ป่วยฝึกและเรียนรู้ทักษะบางอย่างใหม่ เพื่อให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด

1) กายภาพบำบัด Physical Therapy ฝึกกำลังแขนขา การทรงตัว การเคลื่อนไหว การเดิน

2) กิจกรรมบำบัด Occupational Therapy ฟื้นฟูกำลังกล้ามเนื้อการใช้งานของแขนและมือ ฝึกกลืน ฝึกการขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระ ฝึกทำกิจวัตรประจำวัน

3) อรรถบำบัด Speech Therapy ฝึกการพูด การหายใจ

 4) Cognitive Function ฟื้นฟูกระบวนการรับรู้ ความคิด และความจำ

5) Depression and Psychosocial ฟื้นฟูภาวะซึมเศร้าและปัญหาด้านสภาพจิตใจ

ทั้งนี้ ผู้ป่วยแต่ละรายจะความเสี่ยงแตกต่างกันออกไป บางคนเป็นผู้ป่วยสูงอายุ หรืออาจมีโรคประจำตัวที่ไม่เหมือนกัน แพทย์จะพิจารณาการรักษาในคนไข้แต่ละรายไป

โรคหลอดเลือดสมองไม่ใช่โรคไกลตัวอีกต่อไป ทั้งนี้ โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่คนทุกวัยควรระวัง แม้อายุยังน้อยแต่ก็มีความเสี่ยงได้เช่นกัน ที่สำคัญสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ หากมีอาการเวียนศีรษะซ้ำๆ การดูแลรักษาสุขภาพและตรวจหาความเสี่ยงแต่เนิ่นๆ ยังเป็นสิ่งที่คนไทยควรให้ความสำคัญ การตรวจร่างกายประจำปี รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินมาตรฐาน คนที่มีปัจจัยเสี่ยงหรือมีอาการน่าสงสัย สามารถทำอัลตราซาวนด์หลอดเลือดที่คอ เพื่อตรวจดูว่ามีคราบไขมันเกาะอยู่ หรือมีหลอดเลือดตีบหรือไม่ รวมถึง ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงหรือมีคนในครอบครัวเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ควรตรวจหาปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อป้องกันก่อนสายเกินแก้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพ Call Center โทร.1719