ทั่วโลกเดินหน้าแก้วิกฤตโรคอุบัติใหม่ “เชื้อดื้อยา-ไวรัสซิก้า”

127
Background image created by Kjpargeter - Freepik.com

ได้ยินกันมามากกับคำว่า “ดื้อยา” บ้างก็ว่ามาจากการกินยาปฏิชีวนะมากเกินไป หรือ รับประทานไม่ครบจำนวนที่แพทย์สั่งยามาให้ จริงๆแล้วมันคืออะไร เกิดจากสาเหตุใด เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวหรือไม่ เพราะการดื้อยาสำหรับคนทั่วไป อาจจะไม่ใช่เรื่องน่ากังวลอะไร แต่ในสถานการณ์โลกเป็นประเด็นที่ถูกจับตามองและหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจจะลุกลามจนคร่าชีวิตและสร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ

เชื้อดื้อยา หรือ “เชื้อดื้อยาจุลชีพ” อธิบายได้ง่ายๆ ว่า ประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะที่เคยยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้ กลับทำไม่ได้เหมือนเดิม เพราะเชื้อแบคทีเรียเกิดการกลายพันธุ์ ทำให้การรักษาผู้ป่วยเป็นไปได้ยากขึ้น หรือต้องใช้ยาร่วมกันหลายชนิด จึงต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น พร้อมพิษและผลข้างเคียงอีกมาก

องค์การอนามัยโลก ระบุว่า การดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะที่ มีอยู่ลดลง และไม่มียาปฏิชีวนะชนิดใหม่มาทดแทน ทําให้ทุกประเทศทั่วโลกกําลังเข้าสู่  “ยุคหลังยาปฏิชีวนะ” (postantibiotic era)  ที่การเจ็บป่วยจากการติดเชื้อเพียงเล็กน้อยอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต และที่สําคัญ คือ กําลังเข้าสู่ “การล่มสลายทางการแพทย์แผนปัจจุบัน” (collapse of modern medicine)  เนื่องจากไม่สามารถทําหัตถการทางการแพทย์ที่สําคัญ เช่น การผ่าตัดไส้ติ่ง การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า การผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนหรือเพื่อปลูกถ่ายอวัยวะ และการรักษาด้วยเคมีบําบัด (chemotherapy) ได้อีกต่อไป เพราะหัตถการทางการแพทย์เหล่านี้ล้วนแต่ต้องพึ่งพิงประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะในการป้องกันและรักษาการติดเชื้อทั้งสิ้น

ข้อมูลจากรายงานเรื่อง The Review on Antimicrobial Resistance (AMR) ปี 2557 ชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์การติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ (AMR) ได้คร่าชีวิตประชากรโลกในแต่ละปีสูงถึง 7 แสนคน และหากไม่เร่งแก้ไขปัญหา คาดว่าใน พ.ศ.2593 การเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาอาจจะสูงถึง 10 ล้านคน แถบเอเชียจะมีคนเสียชีวิตมากที่สุด คือ 4.7 ล้านคน คิดเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจสูงถึง 3.5 พันล้านล้านบาท

ในประเทศไทยเอง มีความเคลื่อนไหวเพื่อรองรับปัญหาดังกล่าว ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย พ.ศ. 2560–2564 โดยกระทรวงสาธารณสุข โดยระบุว่า ปัญหาการดื้อยาที่สําคัญในประเทศไทย คือ การดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียแกรมลบในโรงพยาบาล เช่น Acinetobacter spp. และ Pseudomonas spp. ซึ่งเป็นสาเหตุสําคัญของการเสียชีวิตจากการติดเชื้อในโรงพยาบาล

ส่วนเชื้อแบคทีเรียที่เป็นปัญหาในชุมชน เช่น Escherichia coli (E. coli), Klebsiella spp. และ Neisseria gonorrhoeae (N. gonorrhoeae) และเชื้อแบคทีเรียที่เป็นปัญหาในการเลี้ยงสัตว์และในอาหาร คือ E. coli, Campylobacter spp. และSalmonella spp. เชื้อแบคทีเรียดื้อยาทําให้ทางเลือกในการรักษามีจํากัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากดื้อต่อยาปฏิชีวนะกลุ่ม carbapenem และ colistin ซึ่งเป็นยาด่านสุดท้ายในการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา

จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ประเทศไทย มีการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาประมาณปีละ 88,000 ราย โดยเสียชีวิตประมาณปีละ 38,000 ราย คิดเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมสูงถึง 4.2 หมื่นล้านบาท

เมื่อเร็วๆนี้ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และศูนย์ประสานงานการป้องกันและควบคุมการดื้อยาต้านจุลชีพขององค์การอนามัยโลก คณะแพทยศาสตร์ศิริราช-พยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดประชุมย่อยคู่ขนานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ : โรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำและการติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย ในงานประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2561 (Price Mahidol Award Conference 2018) โดยมีผู้แทนหน่วยงานและภาคีที่เกี่ยวข้องกว่า 100 คน ร่วมการประชุม

นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า โรคติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ เป็นโรคอุบัติใหม่กำลังเป็นภัยคุกคามความมั่นคงทางสุขภาพของประชากรทั่วโลก เนื่องจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อดื้อยา  จะไม่มียาต้านจุลชีพที่มีประสิทธิผลดีสำหรับรักษา และเชื้อดื้อยายังสามารถแพร่กระจายจากผู้ป่วยไปยังผู้อื่น และสามารถถ่ายทอดรหัสพันธุกรรมดื้อยาจากเชื้อดื้อยาชนิดหนึ่งไปยังเชื้อชนิดอื่นหรือเชื้อสายพันธุ์อื่นได้ด้วย

สวรส. ตระหนักว่าปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพเป็นปัญหาสุขภาพเชิงระบบที่เกี่ยวข้องกับคน สัตว์ พืช และสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องการการแก้ไขด้วยการวิจัยเชิงระบบตามแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) จึงได้สนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนาการควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย มาตั้งแต่ปี 2556 เพื่อวิเคราะห์ขนาดปัญหา ปัจจัยการเกิดและการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยา ตลอดจนพัฒนาวิธีการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยา และมาตรการป้องกัน ควบคุมเชื้อดื้อยาในประเทศไทยที่สามารถนำมาใช้ลดการป่วย การตาย และความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากโรคติดเชื้อดื้อยา นอกจากนี้ การวิจัยเกี่ยวกับการติดเชื้อไวรัสซิก้าในประเทศไทยก็มีความสำคัญ เนื่องจากพบการแพร่ระบาดของการติดเชื้อไวรัสซิก้าในหลายประเทศ

ด้าน ศ.นพ.วิษณุ ธรรมลิขิตกุล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาการควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย กล่าวว่า การดำเนินโครงการฯ ดังกล่าวตามแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวและแผนปฏิบัติการป้องกันและควบคุมการดื้อยาต้านจุลชีพขององค์การอนามัยโลก โดยการสนับสนุนจาก สวรส. ทำให้ทราบว่าคนไทยติดเชื้อดื้อยาปีละประมาณ 100,000 ราย และผู้ป่วยเสียชีวิตประมาณ 30,000 ราย เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดและการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในชุมชนและในโรงพยาบาล โดยปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เกิดเชื้อดื้อยา คือการใช้ยาต้านจุลชีพมากเกินความจำเป็นทั้งในคนและสัตว์ และการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาในสถานพยาบาลยังด้อยประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ผลงานวิจัยที่พบได้นำมาใช้พัฒนามาตรการเฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย และโครงการฯ ได้นำมาตรการดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในชุมชนนำร่องอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมาตรการดังกล่าวสามารถนำไปขยายผลและขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย พ.ศ.2560-2564 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ได้

ในการประชุมเดียวกัน ยังได้กล่าวถึงประเด็นที่น่าสนใจอีกด้าน นั่นคือ โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ที่มาจากยุงลาย และเป็นที่น่ากังวัลของคนไทยในวันนี้

ศ.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล ประธานคลัสเตอร์สุขภาพและการแพทย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เผยว่า องค์การอนามัยโลกได้รายงานการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ว่ามีการแพร่กระจายเชื้ออย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง ข้อมูลตั้งแต่ปี 2550 ถึงเดือนกรกฎาคม 2559 พบผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อไวรัสซิกาจากยุงลายพาหะใน 67 ประเทศ ในทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ และคงมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ทำให้ไวรัสซิก้าจัดเป็นความเสี่ยงทางสาธารณสุขที่สำคัญของโลก แม้ว่าการติดเชื้อซิก้าจะไม่ทำให้เกิดโรครุนแรงในคนทั่วไป แต่การติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์สามารถทำให้เกิดความพิการทางสมองและภาวะสมองเล็กของทารกในครรภ์ได้

ในประเทศไทย ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิก้าในปี 2555 จนถึงสิ้นปี 2558 มีผู้ป่วยยืนยันเฉลี่ยปีละ 5 ราย ในขณะที่ ปี 2559 รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิก้าตั้งแต่ต้นปี ถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2559 มีรายงานผู้ป่วยรวมทั้งหมด 97 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จึงมีแนวโน้มของการการระบาดของไวรัสซิก้าในประเทศไทยที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ต้องมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง

ศ.นพ.ประเสริฐ กล่าวด้วยว่า แม้ปัจจุบันจะไม่ทราบว่าเหตุใดไวรัสซิก้าในประเทศไทยจึงยังไม่ทำให้เกิดการระบาดใหญ่เหมือนอย่างที่พบในแถบอเมริกา จึงได้มีงานวิจัยที่อยู่ในระหว่างการศึกษา โดยเครือข่ายนักวิจัยของ สวทช. เช่น การวิเคราะห์ภูมิคุ้มกันต่อไวรัสซิก้าในประชากรไทย เพื่อทำความเข้าใจข้อมูลความจำเพาะของแอนติเจนต่อแอนติบอดี้ต่อไวรัสซิก้าในประชากรไทย โดยข้อมูลที่ได้จะตอบคำถามว่าประชากรไทยว่ามีภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อไวรัสซิก้าแล้วหรือไม่ และประชากรที่มีภูมิคุ้มกันแล้วมีจำนวนมากเพียงพอที่จะป้องกันการระบาดของไวรัสซิก้าในประเทศไทยได้หรือไม่ นอกจากนี้ยังมี การศึกษาวิจัยบทบาทของภูมิคุ้มกันข้ามกลุ่มต่อไวรัสไข้เลือดออกในการติดเชื้อไวรัสซิก้า เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างการตรวจพบแอนติบอดี้ต่อไวรัสไข้เลือดออกในเลือดของอาสาสมัครที่สัมผัสโรคกับการติดเชื้อไวรัสซิก้า ซึ่งผลการศึกษาจะบอกได้ว่าการมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสไข้เลือดออก จะมีผลต่อการติดเชื้อซิก้าหรือไม่อย่างไร เป็นต้น

สำหรับเวทีการประชุมย่อยคู่ขนานในงาน PMAC มีการระดมความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางสำคัญในการจัดการความรุนแรงของสถานการณ์โรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ ทั้งในคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการความรู้โรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำกรณีการติดเชื้อไวรัสซิก้าในไทย การตรวจหา การป้องกัน การตอบสนอง และการวิจัยเกี่ยวกับไวรัสซิก้าในอนาคต การติดเชื้อไวรัสซิก้าในหญิงตั้งครรภ์ กับผลต่อการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ การใช้วัคซีนต้านจุลชีพในสุกรของไทย การดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพในผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในสิ่งแวดล้อม เป็นต้น